วันพฤหัสบดี ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘ทหาร’กับการเมืองไทย  ยุคใหม่ไฉนแยกไม่ขาด?

‘ทหาร’กับการเมืองไทย ยุคใหม่ไฉนแยกไม่ขาด?

วันพุธ ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
Tag :
  •  

“ทำไมกองทัพต้องแทรกแซงการเมือง” เป็นคำถามหนึ่งพูดถึงบ่อยครั้งสำหรับ “การเมืองไทย” จากการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่ในโลกยุคใหม่อย่างศตวรรษที่ 21 ก็ยังดำรงอยู่และยังไม่มีใครกล้าตอบว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่าด้วยทหารและพัฒนาการของประชาธิปไตย?” จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “The Military and DemocraticBacksliding in Thailand” ณ Universityof Leeds สหราชอาณาจักร ทำการศึกษาบทบาทในศตวรรษที่ 21 ของกองทัพกับการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 รวมถึงการกลับมามีบทบาททางการเมืองไทยของกองทัพ และบทบาทของกองทัพต่อประชาธิปไตยไทย


“ทำความเข้าใจทหารไทย..ประเด็นนี้ในฐานะที่เราเป็นคนนอก ผมก็ไม่สามารถเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวได้ จึงวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อและจากผู้ให้สัมภาษณ์ให้ข้อมูลต่างๆ ประเด็นแรก..เครือข่ายอำนาจและระบบอุปถัมภ์ภายในกองทัพ มันจะปรากฏชัดเจน เช่น ในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งก็จะมีทั้งการโยกย้ายในและนอกฤดูกาล ประเด็นนี้ถ้าเรายึดมั่นในหลักการ (Concept) อันหนึ่งคือทหารอาชีพ (Professional Military) คำว่า ทหารอาชีพจะหมายถึงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารแต่ละครั้งต้องยึดหลักการให้รางวัลแก่คนที่สมควรได้(Meritocracy)

คนที่มีผลงานดี คนที่โชว์ศักยภาพดีเด่น ควรจะได้รับการส่งเสริม(Promote) ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ นั่นคือหลักการที่เป็นอุดมคติของทหารอาชีพ สิ่งที่ปรากฏในกองทัพไทยซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัว ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่ามีการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักProfessional Military และ Meritocracyดังกล่าว เช่น การเล่นพวกพ้อง การเอื้อต่อเครือญาติหรือคนสนิท ผู้ให้ข้อมูลบางท่านกล่าวอย่างน่าสนใจว่าให้พยายามมองว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่มันทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้

แทนที่จะยึดหลัก Meritocracy บางทีเราแต่งตั้งคนที่ไม่สนิทแต่เป็นคนที่โชว์ความสามารถ ตรงกันข้าม หลักการแต่งตั้งคนใกล้ชิดก็มีข้อดีเหมือนกันคือ ทำให้เกิดความไว้วางใจกันในการทำงาน แต่ถ้าเกิดเรามองคำกล่าวอันนี้ มันก็สะท้อนหรือเปล่าว่าระบบหรือกฎเกณฑ์ที่มีมันไม่เข้มแข็งพอมันไม่ทำให้เกิดความไว้วางใจกันได้ คือแทนที่จะไว้วางใจกฎระเบียบกลับต้องเป็นการไว้วางใจคนใกล้ชิด มันก็สะท้อนถึงลักษณะที่ว่ามันไม่ใช่ความเป็นสมัยใหม่ มันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นในระบบราชการ” อาจารย์ภาณุวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง ด้วยความที่บรรดานายทหารมักรู้จักกันมานาน เช่น ตั้งแต่สมัยเรียน จึงทำให้รู้กันเองว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง ใครสมควรหรือไม่สมควรจะได้เป็นผู้นำ แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้ทหารไม่ไว้ใจคนจากฝ่ายการเมืองด้วย “เหตุที่ทหารไม่พอใจหากนักการเมืองจะมายุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะทหารคิดว่านักการเมืองเป็นคนนอกไม่เข้าใจธรรมชาติของทหาร” นักการเมืองไม่มีทางรู้ว่าใครควรได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพเท่าทหาร

อาจารย์ภาณุวัฒน์ เล่าต่อไปว่า “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิรูปกองทัพ” เพราะกองทัพถูกมองในแง่ลบอย่างหนักจากประชาชน ถึงขั้นมีทหารบางนายไม่กล้าแต่งเครื่องแบบเดินในที่สาธารณะเพราะกลัวถูกประชาชนต่อว่า “แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรจริงจังเพื่อปฏิรูปกองทัพ มากเท่ากับที่มีการปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540” และคนสมัยนั้นมองว่าทหารคงไม่กลับมายุ่งกับการเมืองอีกแล้ว

“แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่มองอีกมุมหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแฝงด้วยเจตนารมณ์ของชนชั้นนำอยู่มาก เช่น ความต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และความต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมืองดีต่อชนชั้นนำอย่างไร มันจะช่วยให้ประชาชนไม่ทำการประท้วงอันนำมาสู่ความวุ่นวายในประเทศ

ชนชั้นนำมองว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะช่วยปกป้องสถานภาพ (Status Quo) หรือสถานะอันสุขสบายของชนชั้นนำอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนจะไม่ประท้วง ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็ต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจกับองค์กรอิสระซึ่งเป็นกลไกใหม่” อาจารย์ภาณุวัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม “เมื่อรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่ได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาดทำให้ฝ่ายค้านต้องไปหาวิธีต่อสู้ทางอื่น” ประกอบกับ “ทักษิณพยายามแทรกแซงกองทัพ” เช่น ผลักดันให้ญาติผู้พี่ของตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งค่อนข้างจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในกองทัพเอง รวมถึงผลักดันให้นายทหารที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 อันเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพจึงทำให้ทหารกลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปโดยปริยาย

กับคำถามที่ว่า “รัฐประหาร 2549 เป็นไปตามแผนของชนชั้นนำหรือไม่หากเชื่อว่าชนชั้นนำมีแผนในการรัฐประหารครั้งนี้” คำตอบคือ “ไม่เป็นไปตามแผนทั้งหมด” ถึงขั้นที่มีบางคนบอกว่า “เสียของ” ด้วยซ้ำไปเพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะเพิ่มอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การยุบพรรคไทยรักไทย การเปลี่ยนแปลงระบบแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพเพื่อจำกัดอำนาจรัฐบาลในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แต่อีกด้านหนึ่ง การรัฐประหารนำไปสู่การต่อสู้ของฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งอย่างหนักแน่นขึ้นกว่าเดิม

เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง เรียกร้องให้จำกัดอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการอ้างความชอบธรรมแบบไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การปฏิรูปประเทศ อนึ่ง มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น 1.การเงียบของคนเสื้อแดง ทั้งที่เชื่อกันว่าต้องออกมาต่อต้าน คสช.2.มีผู้สนับสนุนรัฐประหาร 2557 ทั้งที่ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารครั้งก่อนๆ

ด้าน รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคิดใน 3 ประเด็น 1.ในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทหารถอยห่างจากการเมืองจริงหรือไม่เพราะยังมีกลไกการทำงาน เช่น การจัดตั้งมวลชน การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ของกองทัพ การจัดอบรมซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์และยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน

เนื้อหาเน้นชี้ปัญหาของนักการเมืองและประชาธิปไตยแบบตะวันตก รวมถึงโครงการพัฒนาที่กองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ การปลูกป่า ฯลฯ เป็นช่องทางที่ทำให้กองทัพสร้างความนิยมได้2.ทหารควรถูกจำกัดอำนาจหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเท่านั้น ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลพลเรือน แต่ปัญหาคือ “นิยามคำว่าความมั่นคงของไทยนั้นกว้างมาก” สิ่งต่างๆ ที่ทหารทำอยู่จึงไม่ได้เกินขอบเขตไปจากที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ

“ปัจจุบันถ้าคุณไปดูยุทธศาสตร์ของกองทัพ ยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคงภายในของชาติมันรวมถึงความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติด้วย การเมืองเหลือง-แดงมันถูกรวมเข้าไปด้วย การปลูกฝังความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคง ความยากจนถือว่าเป็นภัยคุกคามด้วย ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม คนบุกป่า คนเข้าเมืองผิดกฎหมายผู้อพยพ สารพัดปัญหาถูกรวมเข้าไปอยู่ในนิยามความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น” อาจารย์พวงทอง กล่าว

และ 3.สังคมไทยยังมีความ 2 มาตรฐานในการมองนักการเมืองกับกลุ่มคนอื่น เช่น ในขณะที่การบริหารของบางรัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายกังวลกับระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลเลือกตั้งเสียงข้างมากจะนำไปสู่การแทรกแซงกลไกอื่นๆ เช่น กองทัพหรือระบบราชการ แต่ถึงกระนั้น ระบบราชการไทยเมื่อมีการแต่งตั้งโยกย้ายก็มีปัญหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกกันมาช้านาน แต่สังคมไทยกลับจะมาเอาเป็นเอาตายกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเป็นพิเศษ

“เราเคยชินกับวาทกรรมนักการเมืองรังแกข้าราชการ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าข้าราชการนั้นสมควรถูกลงโทษจริงหรือไม่ หรือว่าจริงๆ มันเป็นอำนาจของนักการเมืองที่จะโยกย้ายได้ ปลดได้ เราเคยชินกับการโกงกินของข้าราชการ และเราก็เคยชินกับการขุดคุ้ยเปิดโปงการโกงกินของข้าราชการ แต่เราแทบเห็นสื่อที่กล้าเปิดโปงการโกงกินในกองทัพ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นปัญหา ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ ก็พูดๆ กันแต่ไม่สามารถประเภทตามขุดไม่เลิก เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้จากสื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักหรือสื่อรายใหญ่ๆ

มันมีความกลัวรัฐบาลที่มาจากกองทัพ ซึ่งสื่อบ้านเราไม่ยอมรับว่าเรามีความกลัว แต่สื่อรู้ดีว่าถ้าวิจารณ์กองทัพมากๆ จะเกิดอะไรขึ้นสื่อยังจำได้ดี ในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช แค่วิจารณ์ผู้นำทหารก็มีทหารหลายร้อยคนไปบุกที่บ้านจนประตูรั้วเกือบพัง เวลาเราพูดถึง 2 มาตรฐานของสังคมไทยมันมีมากกว่าเรื่องของระบบตุลาการ มันรวมถึงทัศนคติ บรรทัดฐาน กฎกติกาต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการมีต่อนักการเมือง” อาจารย์พวงทอง ระบุ

อาจารย์พวงทอง กล่าวทิ้งท้ายว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนประชาธิปไตย แต่ต้องออกไปจากการเมือง ทำงานเป็นทหารอาชีพ ดูแลงานด้านความมั่นคง ปกป้องประเทศซึ่งปัจจุบันมีภัยก่อการร้ายข้ามชาติ ปัญหาพื้นที่ชายแดน การปักปันเส้นเขตแดน พร้อมกับยกตัวอย่าง ประเทศอินโดนีเซีย ในอดีตทหารเคยมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมาก เช่น เป็นผู้พิพากษา เป็นผู้ว่าการจังหวัด แต่ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยจำกัดบทบาทให้แคบลง

ก็หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีการปฏิรูปกองทัพเช่นนั้นบ้าง!!!

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ​จับมือแก้ปัญหา ‘สารปนเปื้อน’ แม่น้ำกก เร่งสื่อสารข้อมูลทางวิทย์ จัดการความเสี่ยง ​จับมือแก้ปัญหา ‘สารปนเปื้อน’ แม่น้ำกก เร่งสื่อสารข้อมูลทางวิทย์ จัดการความเสี่ยง
  • เปิดเส้นทางสีเทา‘ก๊ก อาน’ คนใกล้ชิด‘ฮุน เซน’ เศรษฐีเขมร-เจ้าพ่อแก๊งคอลฯ-กาสิโนปอยเปต เปิดเส้นทางสีเทา‘ก๊ก อาน’ คนใกล้ชิด‘ฮุน เซน’ เศรษฐีเขมร-เจ้าพ่อแก๊งคอลฯ-กาสิโนปอยเปต
  • รายงานพิเศษ : เปิด ‘Acceleration Program’ 5 กลุ่ม ปั้น ‘สตาร์ตอัปฯ’ เชื่อมไทยสู่ตลาดโลก รายงานพิเศษ : เปิด ‘Acceleration Program’ 5 กลุ่ม ปั้น ‘สตาร์ตอัปฯ’ เชื่อมไทยสู่ตลาดโลก
  • สกู๊ปพิเศษ : สสส.จับมือเครือข่ายเนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา ชวนคนไทย‘วางแก้วเหล้า ตั้งสติ คิดดี สร้างชีวิตที่ดี’ สกู๊ปพิเศษ : สสส.จับมือเครือข่ายเนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา ชวนคนไทย‘วางแก้วเหล้า ตั้งสติ คิดดี สร้างชีวิตที่ดี’
  • รายงานพิเศษ : สัมพันธ์แน่นแฟ้น‘เสฉวน-สงขลา’ รายงานพิเศษ : สัมพันธ์แน่นแฟ้น‘เสฉวน-สงขลา’
  • \'รางจืด\' พืชมหัศจรรย์! ล้างพิษโลหะหนัก แก้พิษยาบ้า-สุรา-แมงดาทะเล \'อภัยภูเบศร\' ยกผลวิจัยหนุนชัด 'รางจืด' พืชมหัศจรรย์! ล้างพิษโลหะหนัก แก้พิษยาบ้า-สุรา-แมงดาทะเล 'อภัยภูเบศร' ยกผลวิจัยหนุนชัด
  •  

Breaking News

'กอบศักดิ์' ฟันธง 'ภาษีทรัมป์' รอบนี้ของจริง! เตือนไทยจับตาโครงสร้างการค้าโลกใหม่

รัฐบาลย้ำต้องขุดรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังออกหมายจับแก๊ง 'ก๊ก อาน'

ยิปซีพยากรณ์'ดวงรายวัน'ประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2568

'มทภ.2' นำสิ่งของพระราชทาน จาก'ในหลวง-กรมสมเด็จพระเทพฯ' มอบให้ทหารชายแดนไทย-กัมพูชา

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved