10 ส.ค. 2563 นายเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความ “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Decharut Sukkumnoed” เมื่อค่ำวันที่ 9 ส.ค. 2563 ว่าด้วยความพยายามของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เคยถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ตัดสินใจรวมตัวกันก่อตั้งโรงงานของตนเองซึ่งตอนแรกกิจการค่อนข้างไปได้ดีกระทั่งมาเจอกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้
“ผมได้ยินชื่อโรงงานสมานฉันท์มานานแล้ว วันนี้เพิ่งได้มีโอกาสพบกับคุณมานพ แก้วผกา ผู้ประสานงานกลุ่มโรงงานสมานฉันท์ แล้วประทับใจมากครับ
กลุ่มโรงงานสมานฉันท์คือ กลุ่มของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ถูกเลิกจ้างเมื่อหลายปีก่อน และหลังจากต่อสู้กับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พี่น้องคนงานกลุ่มนี้ก็มารวมตัวกัน และจัดตั้งกิจการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของตนเองขึ้นมา ภายใต้ชื่อ โรงงานสมานฉันท์ อยู่แถวบางบอน
หลังจากผ่านการต่อสู้มามากมาย โรงงานสมานฉันท์ก็ดูเหมือนจะตั้งหลักได้แล้ว โดยมีฐานธุรกิจหลักอยู่ที่การรับตัดชุดให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน (หรือ แบบ B2B) สถานการณ์ดีขึ้นจนจำนวนคนงานที่มาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น จนแตะ 30 คน
แต่แล้วก็เกิดสถานการณ์โควิด19 เกิดขึ้น และทำให้ยอดสั่งซื้อขององค์กรต่างๆ ลดลง คุณมานพเล่าว่าในสถานการณ์โควิด อุตสาหกรรมเสื้อผ้าไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก จนทำให้โรงงานทั้งใหญ่และเล็กต่างก็ต้องหยุดผลิต เพราะไม่มีคำสั่งซื้อทั้งจากองค์กร จากตลาดขายส่ง (เช่น โบ๊เบ๊) ที่ถูกปิดในช่วงนั้น และยอดขายของผู้บริโภคทั่วไปก็ลดลงมาก ตามอำนาจซื้อที่ลดลงจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงล็อคดาวน์
ในกรณีโรงงานสมานฉันท์เอง คุณมานพเล่าว่า โรงงานสมานฉันท์ต้องปิดไม่มีการผลิตไปในช่วง 3 เดือนนั้น จนถึงประมาณเดือนมิถุนายน จึงเริ่มกลับมาทำการผลิตอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังมีคำสั่งซื้อประมาณ 60% ของกำลังการผลิตเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 โรงงานสมานฉันท์ได้เข้าร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง ปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้าหลังคาตึก พอเป็นแหล่งอาหารได้ระดับหนึ่ง รวมถึงโรงงานสมานฉันท์ได้เข้ามาเป็นแกนกลางในการแบ่งปันอาหารให้กับชุมชนในย่านนั้น
วันนี้ คุณมานพเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ ทางโรงงานสมานฉันท์กำลังวางแผนสร้างการตลาดในแบรนด์ของตนเอง ชื่อแบรนด์ solidarity เพื่อเปิดตลาดสำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยเล็งตลาดเสื้อผ้าที่มีราคาระดับกลาง คนทั่วไปซื้อหาได้ และเน้นตลาดออนไลน์มากขึ้น
เสื้อที่ผมใส่ในรูปแรกคือตัวอย่างผลงานของ solidarity เป็นเสื้อที่ทำจากผ้าที่ใช้ขวดพลาสติกมารีไซเคิล เนื้อผ้าใส่สบายครับ ด้านหน้าสกรีนด้วยระบบ heat transfer สวยงามมากครับ ดูแล้วผมมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ของ solidarity น่าจะไปได้ดีแน่นอน
แต่ผมจะนัดกับคุณมานพใหม่อีกครั้ง เพื่อช่วงวางแผนรายละเอียดและช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ solidarity ต่อไป
ขอบคุณมากครับ สำหรับความฝันที่เป็นจริงและกำลังจะมั่นคง”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี