“ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11” สำหรับชาวพุทธโดยทั่วไปแล้วมีความสำคัญเพราะเป็น “วันออกพรรษา” หรือวันสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือน ในเทศกาลเข้าพรรษาที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำวัดประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ก่อนที่เช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะสามารถเดินทางไปจำวัดที่วัดอื่นๆ ได้ โดยในเช้าวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 นั้น พุทธศาสนิกชนจะทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เรียกว่า “ตักบาตรเทโว” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
แต่สำหรับ “ผู้คนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโขง” แล้ววันออกพรรษา หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ยังมีความสำคัญทั้งในแง่ความเชื่อ นั่นคือปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ซึ่งเชื่อมโยงกับธรรมเนียมการเรียกชายผู้เตรียมตัวบวชเป็นพระสงฆ์ว่า “บวชนาค” ที่มีตำนานมาจาก “ชาวนาค” ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบาดาล เกิดเลื่อมใสพระพุทธเจ้าและปลอมตัวมาบวชเป็นพระสงฆ์ทั้งที่ในพระวินัยไม่อนุญาตให้บวชเพราะนาคไม่ใช่มนุษย์ แต่สุดท้ายเมื่อความแตก และไม่อาจอยู่เป็นพระสงฆ์ต่อไป ก็ได้ทูลขอพระพุทธเจ้าว่าอย่างน้อยให้เรียกชายที่เตรียมตัวบวชว่านาค ก็ยังดี
โดยตำนานบั้งไฟพญานาคนั้น ผู้คนริมแม่น้ำโขงเชื่อกันว่า“ในช่วงค่ำของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันออกพรรษาและพระพุทธเจ้าเตรียมเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ ชาวนาคในเมืองบาดาลจะทำลูกไฟพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา” แม้ในเวลาต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าขึ้น จะมีทฤษฎีอื่นๆ มาอธิบายว่าเป็นฝีมือมนุษย์บ้าง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบ้างก็ตาม
อนึ่ง “เมื่อประเทศไทยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บั้งไฟพญานาคก็กลายเป็นเทศกาลสำคัญที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้คนริมแม่น้ำโขงทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ” รวมถึงที่ “หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่” ชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ซึ่งมีศิลปินนำพญานาคมาบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชนผ่านภาพวาด
อาทิ “พญานาคขายลอดช่อง” จากบ้านที่เจ้าของมีอาชีพทำลอดช่องขาย หรือ “พญานาคตัดผม” จากบ้านที่เจ้าของเป็นช่างตัดผม แม้กระทั่งสวนเกษตรในชุมชน ก็ยังมีภาพวาดพญานาคพ่นน้ำรดพืชผัก เป็นต้น อีกทั้งยังมี “ประติมากรรมพญานาค 2 ฝั่งโขง” เป็นสัญลักษณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวลาว ที่แม้จะมีแม่น้ำโขงขวางกั้นแต่ก็มีความเชื่อในพญานาคเหมือนกัน
ประติมากรรมพญานาค 3 ฝั่งโขงนี้ นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนมักนิยมขึ้นไปยืนบนแท่นแล้วนำศีรษะประชิดกับจมูกหรือลิ้นของพญานาค อธิษฐานขอให้มีความมั่งคั่งร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง และเดินลอดส่วนใต้ท้องลำตัวและหางพญานาคอธิษฐาน ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว รวมถึงยังมี “ประติมากรรมพญานาค 3 เศียร” ลักษณะเป็นพญานาคขดลำตัวแล้วชูคอขึ้นมา 3 เศียร ตั้งตระหง่านสูงกว่า 5 เมตรมีสีเขียวมรกต นักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต
การที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่แห่งนี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชีวิตชีวาได้นั้นเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน พัฒนาหมู่บ้านเล็กๆ โดยใช้พญานาคปลุกชุมชนให้มีชีวิต ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า ในวันที่ 2 ต.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาประจำปี 2563 นั้น จะยังคงมีผู้คนเดินทางไปเยือน จ.บึงกาฬ และรอชมบั้งไฟพญานาคอย่างเคยเฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มากเท่าปีก่อนๆ ก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
สำหรับหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” อยู่ห่างจากแม่น้ำโขง 30 กม. กิจกรรมช่วงปกติ ในช่วงเช้าจนถึงบ่าย สามารถมาสัมผัสงานศิลปะภาพวาดกราฟิตี้พญานาค และชมประติมากรรมพญานาค 2 ฝั่งโขงในชุมชน อีกทั้งได้กราบไหว้พญานาคราช 3 เศียร เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตอีกด้วย และในวันออกพรรษา ยังจะมีกิจกรรมดนตรี ชมงานศิลปะ และเดินตลาดชุมชนที่มีเสน่ห์
จึงขอเชิญให้แวะมาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านพญานาค ที่นำศิลปะมาออกแบบชุมชนในแนวทาง “จาก LOCAL(โลคอล) สู่เลอค่า” สร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามเส้นทางและกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี