นักวิชาการชี้'สนามหลวง'ไม่ควรถูกผูกขาดโดยรัฐ เพราะเป็นพื้นที่มีความหมายกับหลายชีวิต
15 ก.ย. 2563 ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Chainarong Setthachua" ว่าด้วยความทรงจำของผู้คนหลากหลายต่อสนามหลวง และไม่เห็นด้วยที่สนามหลวงจะเป็นสถานที่ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐอย่างเดียว ดังนี้
สนามหลวง นอกจากเป็นพื้นที่สำหรับสามัญชนที่เลือกใช้พื้นที่นี้สำหรับพักผ่อน เดินเล่น ให้อาหารนก เล่นกีฬาว่าวท่ามกลางความทันสมัยที่ถาโถมเข้ามายังมหานครแห่งนี้ ที่นี่ยังเป็นบ้านของคนไร้บ้าน บ้านของคนบ้านนอกที่เข้ามาหางานทำ ฯลฯ สนามหลวงยังเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองด้วย
ภาพที่สะเทือนใจคนในสังคมมากที่สุดในเหตุการณ์มหาวิปโยค 6 ตุลาฯภาพการสังหารนักศึกษาใต้ต้นมะขามที่สนามหลวง
หลัง 6 ตุลา 19 เมื่อประเทศเริ่มมีประชาธิปไตยอีกครั้ง มีการแข่งขันสมัครรับเลือกตั้ง เวทีสุดท้ายที่เป็นการปิดการหาเสียงของพรรคการเมืองตามที่ทำกันมาตลอดก็คือการจัดเวทีที่สนามหลวงที่จำนวนคนจะวัดคะแนนความนิยมไปในตัว
ขณะที่ชนชั้นแรงงาน เมื่อถึงวันแรงงานแห่งชาติก็จะจัดงานเฉลิมฉลองที่ท้องสนามหลวง และนายกฯ ต้องมาพบแรงงานที่นี่
สำหรับการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มีการฟื้นฟูหลังยุค 6 ตุลาฯ สนามหลวงก็คือพื้นที่สาธารณะในการแสดงออก การเคลื่อนไหวสำคัญ ถ้าจะให้เป็นประเด็นใหญ่หรือต้องการให้สังคมรับรู้ก็คือต้อง "ลงสนามหลวง"
การ "ลงสนามหลวง" มีหลายรูปแบบ เช่น การตั้งเวทีเล็กๆ หรืออาจใช้รถเป็นเวที มีเครื่องเสียงแบบขนย้ายง่ายหรือโทรโข่ง ไฮปาร์คกันง่ายๆ มีรูปภาพอธิบายให้สังคมได้รับรู้ และแจกใบปลิวให้กลับไปอ่านที่บ้าน การเดินขบวนพร้อมป้ายผ้ารอบสนามหลวงและชุมชนใกล้สนามหลวง เช่น บางลำภู การชุมนุมประท้วงและกรีดเลือดของนิสิตนักศึกษาหรือแรงงาน ไปจนถึงการตั้งเวทีใหญ่มีประชาชนนับพันคนมาร่วมชุมนุมและฟังอภิปราย ในกรณีหลัง ถ้าคนมาน้อยก็เสียฟอร์ม การจะจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงจึงต้องมั่นใจว่ามีมวลชนมาร่วมมากพอการ "ลงสนามหลวง" จึงมีทั้งง่ายและยาก
การชุมนุมใหญ่ล่าสุดที่ท้องสนามหลวงก็คือการประท้วงขับไล่เผด็จการ รสช.ที่มีสุจินดาเป็นผู้นำ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนไปที่ราชดำเนิน และวีรชนจำนวนมากถูกทหารสังหาร
สำหรับชาวบ้านที่มาจากบ้านนอก ซึ่งเดือดร้อนจากนโยบายหรือโครงการของรัฐ พวกเขาจะมีโอกาสได้ใช้ห้องของ ม.ธรรมศาสตร์ในการบอกเล่าความทุกข์และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และหากมีโอกาสที่จะทำให้สังคมได้รับรู้ก็คือการ "ลงสนาม" พร้อมป้ายผ้า
การให้ความหมายและการจัดการสนามหลวงจึงไม่ควรที่จะผูกขาดโดยรัฐ แต่คือพื้นที่ที่มีความหมายสำหรับทุกคน เพราะสนามหลวงยึดโยงกับชีวิตของผู้คนในสังคมทุกระดับตั้งแต่คนไร้บ้าน คนบ้านนอก ผู้ค้าเล็กๆ น้อยๆ คนกรุงตัวเล็กตัวน้อย ไปจนถึงพรรคการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและประชาชน
ภาพ การประท้วงของชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลที่สนามหลวงหลังจากการจัดอภิปรายใน ม.ธรรมศาสตร์ ผมถ่ายราวปี 2534-35
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/chainarong.stc.3/posts/792889041513486
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี