เปิดให้ นทท.เข้าชม‘พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี’ สักการะ'พระเจ้าตากสิน'เป็นกรณีพิเศษ14-28ธ.ค.นี้
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ร่วมกับ กองทัพเรือ เปิดพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเนื่อง พร้อมทั้ง เยี่ยมชมโบราณสถานภายใน พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เป็นกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 14 – 28 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งมีการจำหน่ายวัตถุมงคล อาทิ หนังสือพระราชประวัติ /เหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสื้อ ฯลฯ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 พระยาตาก ได้ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า " พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชา ธิบดนทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ์ มกุฎประเทศคตามหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัฐ ราชธานีบรีรมย์อุดม พระราชนิเวศมหาสถาน” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "พระเจ้าตากสิน"
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์และกษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราช สมภพ ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง เดินทางจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย แล้วได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นางนกเอี้ยง มีหลักฐาน บันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนืองๆ เนื่องจากได้ทำ ความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา
ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าในวันที่ 8 เมษายน 2310) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป
จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถ ตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ๆพากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียง ไว้ในอำนาจ หลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายสุดจินดาซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่หนึ่ง
หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ การที่ทรงเลือก กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พล ที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ อยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุม เส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี และตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยง พล้ำ ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวกหลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง(พระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อ เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชย ประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง
ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในด้านกฎหมายและศาล การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน โปรตุเกส อังกฤษ และฮอลันดารวมถึงทรงขยายราชอาณาเขตราชอาณาจักรสมัยกรุงธนบุรี โดยทิศเหนือ ตลอดอาณาจักรล้านนา ทิศใต้ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู ทิศตะวันอกตลอดกัมพูชาจรดญวณใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเมืองพุทไธมาศ จรดเมืองมะริดและตะนาวศรี ส่วนทิศตะวันตก จรดเมืองมะริดและตะนาวศรีไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม ได้โปรดให้มีการ สร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต ในวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศกก่อนเที่ยงวัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 จากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
สำหรับโบราณสถานในพระราชวังเดิม ดำเนินการโดย มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม มี พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช เป็น ประธานมูลนิธิ และ แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช ศิริเดช เป็นรองประธานมูลนิธิ ได้ริเริ่มโครงการขึ้นในปี พุทธศักราช 2538 ในสมัยที่ พลเรือเอก ประเจตน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการทหารเรือ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นที่สำหรับประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้จากแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติและรักษาสิ่งที่เป็นอนุสรณ์อันเป็นมรดกวัฒนธรมของชาติไว้ โดยก่อนเริ่มการบูรณะได้มีการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและโบราณคดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงและคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
พระราชวังเดิม หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า พระราชวังกรุงธนบุรี เป็นพระราชวังหลวงเพียงแห่งเดียวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ ป้อมวิไชยเยนทร์ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้สร้างพระราชวังเดิมขึ้นภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทยเมื่อปี พุทธศักราช 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการเมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีพร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญ
อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม โดยรวมวัดอรุณฯ กับ วัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) เข้าไว้ในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรี จึงได้มีชื่อว่า พระราชวังเดิม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิมโดยให้วัดทั้งสองแห่งอยู่ภายนอกพระราชวัง พระราชวังเดิมจึงเหลืออาณาเขตเพียงทิศเหนือจรดวัดอรุณฯ ทิศใต้ จรดคลองบางกอกใหญ่ ทิศตะวันออก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา และทิศตะวันตก จรด วัดท้ายตลาด ดังเช่นปัจจุบัน
เนื่องจากพระราชวังกรุงธนบุรี มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับสำหรับพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้มาประทับที่พระราชวังเดิม มีดังนี้
เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
นอกจากนั้นแล้ว พระราชวังเดิม ยังเคยเป็นสถานที่พระราชสมภพของ ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2443 โดยทรงมีพระราชกระแสให้กองทัพเรือ รักษา ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิมอันได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งกองทัพเรือ หรือ กรมทหารเรือในขณะนั้น ได้ซ่อมแซมโบราณสถานดั้งเดิม อาคารและเรือนพัก เป็นกองบังคับการโรงเรียนนายเรือ อาคารเรียนและอาคารนอนนักเรียน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมา ทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนพุทธศักราช 2449 (ปัจจุบันกองทัพเรือ ได้ถือเอาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ )
ภายหลังจากที่โรงเรียนนายเรือ ได้ย้ายออกไปนอกพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ได้ดัดแปลงแก้ไขอาคารเดิมโรงเรียนนายเรือ เป็นแบบทรงไทย ใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน และกองทัพเรือ ก็ได้ดำเนินการซ่อมแซมโบราณสถานต่าง ๆ ภายในพระราชวังเดิมเรื่อยมา จวบจนในปี พุทธศักราช 2538 จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดูแลรักษา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลของโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม สำหรับโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ประกอบไปด้วย
1.อาคารท้องพระโรง เป็นอาคารประธานของพระราชวังเดิม มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ตรีมุข วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาสีส้มชนิดหางเหลี่ยมไม่เคลือบสี ด้านจั่วประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง สร้างขึ้นในราวปี พุทธศักราช 2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารท้องพระโรงประกอบไปด้วย พระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน คือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะเสด็จออกว่าราชการ ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ที่อยู่ติดกับพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่าพระที่นั่งขวางเป็นส่วนราชมณเฑียร หรือพระราชฐานชั้นกลางอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
2.อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปี พุทธศักราช 2367 – 2394 โดยคงจะมีพระดำริให้สร้างขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กที่มีมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ไทยกับจีน หลังคาทรงจั่วแบบจีน ภายในอาคารมีพระทวารและพระแกลแบบไทย ส่วนหลังคามีการเขียนลวดลายจีนแบบปูนเปียก บริเวณหน้าจั่วและคอสองโดยรอบอาคาร สำหรับบริเวณกรอบเช็ดหน้า มีการจำหลักลวดลายเป็นรูปฐานสิงห์ อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานานุศักดิ์ของอาคารที่ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายเท่านั้น
3.อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 - 2 เนื่องจากรากฐานของอาคารอยู่ในระดับชั้นดินของยุคดังกล่าว รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศในสมัยหลัง
4.อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ราวปี พุทธศักราช 2367 – 2394 ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่าตึกแบบอเมริกัน และหากพิจารณาทางด้านประวีติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็นตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจเป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก 2 ด้าน ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคารที่เป็นไม้ ทาด้วยสีเขียวแก่ทั้งหมด อันเป็นสีที่นิยมใช้สำหรับตำหนักหรืออาคารในสมัยนั้น
5.ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมราวปี พุทธศักราช 2424 – 2443 ได้มีพระดำริให้สร้างแทนศาลหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม
6.ศาลศีรษะปลาวาฬ ในระหว่างการขุดพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระตำหนักเก๋งคู่ ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งจากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี คาดว่าน่าจะเป็นอาคารศาลศีรษะปลาวาฬหลังเดิม ที่ภายในมีประดูกปลาวาฬ โดยศาลหลังนี้ได้พังทลายในวันเดียวกับที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ แล้วไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ จึงได้มีการสร้างขึ้นทดแทนมาในภายหลัง
โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม เปิดให้ผู้สนใจ เข้ามาเยี่ยมชมได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งการเดินทางหากใช้บริการขนส่งสาธารณะ แนะนำให้ลงเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นท่าวัดอรุณ หากขับรถมาเองจากพาต้า เลี้ยวขวามาทางศิริราช เข้าถนนอรุณอมรินทร์ ตรงมาเรื่อยๆ ผ่านวัดระฆัง อู่ทหารเรือธนบุรี เลี้ยวซ้ายตรงซอยข้างหอประชุมกองทัพเรือ ตรงมาเรื่อยๆถัดจากวัดอรุณ สังเกตป้ายกองบัญชาการกองทัพเรือ เลี้ยวเข้ามาแลกบัตรที่กองรักษาการณ์ เข้ามาได้เลย ช่วงนี้เข้ามาเยี่ยมชมได้เลย แต่หากมาหลังจากนี้จะต้องเข้าเที่ยวชมเป็นหมู่คณะ และทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า 1 -2 สัปดาห์ มีค่าธรรมเนียมบำรุงโบราณสถานภายพระราชวังเดิม ผู้ใหญ่ 100 เด็ก 60 บาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี