"อานาปานุสสติ" หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เทศน์ ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
ได้แสดงถึงเรื่อง กายคตานุสสติ เมื่อวันพระที่แล้ว วันนี้จะแสดงเรื่อง อานาปานุสสติ สืบต่อไป ที่จริงอานาปานุสสติก็ดี มรณานุสสติก็ดี มันก็เป็นกายคตานุสสติ นั่นเอง คือเกี่ยวเนื่องถึงร่างกาย แต่ท่านอธิบายแยกออกไป พวกเราพากันหลงต่างหากจึงได้ว่าหลงของเก่า รวบรวมเอาคำสอนของท่านไม่ได้ เอาเถิด ถึงอย่างไรก็ดีเมื่อแสดง อนุสสติ ๑๐ แล้ว ก็จะแสดงโดยลำดับไปเพื่อมิให้ขาดตอนกัน
อานาปานุสสติ เป็นอนุสสติที่ ๙ ที่ท่านได้แสดงไว้ในตำราว่า ให้พิจารณาหายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับเป็นสองอยู่อย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจิตจะรวมสงบลงได้ เรียกว่า อานาปานุสสติ ถ้าจิตยังไม่สงบลงก็ให้พิจารณาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป
เมื่อจิตสงบสู่ภวังค์แล้ว จะวางคำบริกรรมที่ว่าลมหายใจเข้าหนึ่งลมหายใจออกนับเป็นสองอย่างนั้นเสีย จะคงเหลือแต่ความสงบสุขนั้นอย่างเดียว แท้ที่จริงลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นแต่เพียงคำบริกรรม เพื่อให้จิตรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเท่านั้น เปรียบเหมือนกับเหยื่อล่อปลาให้มากินเบ็ดเท่านั้นเอง เมื่อปลากินเบ็ดแล้วเหยื่อนั้นเขาไม่ต้องการอีก เขาต้องการเอาปลาต่างหาก อันนี้ก็ฉันนั้น เราต้องการให้จิตสงบนิ่งต่างหาก เมื่อจิตสงบไม่แส่ส่ายแล้วก็ไม่ต้องบริกรรมต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่าบางคนภาวนาอานาปานุสสติจนจิตมันอยากจะสงบนิ่งอยู่แล้ว แต่อาจารย์สอนไม่ให้วางคำบริกรรม เมื่อจิตรวมลงไปสู่ภวังค์ ลืมคำบริกรรมหมด อาจารย์กลับบอกว่าผิดใช้ไม่ได้ นั่นเป็นความเข้าใจผิดของอาจารย์ต่างหาก การภาวนาต้องการให้จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เมื่อรวมเป็นหนึ่งแล้ว สิ่งอื่นๆที่เป็นอารมณ์ของจิตมันก็วางหมด อย่าไปว่าแต่คำบริกรรมเลย ที่สุดแม้แต่ลมหายใจก็ไม่ปรากฏที่นั่นและตัวของเราเองก็ไม่ปรากฏ นี่คือ จิต เป็นสมาธิ อย่างนี้จึงชื่อว่าภาวนาเป็นไปได้
คำที่ใช้สำหรับบริกรรมมีมาก เช่น อสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น แต่ในที่นี้จะแสดงอนุสสติ ๑๐ เท่านั้น เพราะคำบริกรรมเป็นแต่เพียงเครื่องที่นำจิตหรือผูกจิตไว้ไม่ให้ส่งส่าย เมื่อจิตรวมลงเข้ามาเป็นสมาธิแล้ว ก็วางอารมณ์อื่นหมด ถึงเราไม่วางก็จำเป็นต้องวางเองตามครรลองของจิต เมื่อถึงตรงนั้นแล้วตั้งสติมากำหนดเอาแต่จิตคือ ผู้รู้ อย่างเดียว เช่นนี้แหละเรียกว่า สมาธิ จึงน่าเสียดายที่ไม่ได้ตามสมาธิลงไปว่า ใครเป็นผู้รู้ว่าสมาธิ คือ ความสงบ หรือ ใครสงบอยู่ ณ ที่ใด ใครเป็นผู้พูดว่าสงบ และ ผู้ว่านั้นอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทำไมจึงมีผู้พูดอยู่ตรงนี้แหละจะเห็นของจริงของแท้ในการที่เรามาหัดภาวนาสมาธิ
บางคนยังเอาแสงสว่าง หรือรูปภาพอะไรต่างๆ เป็นต้นว่า รูปพระพุทธรูปหรือรูปกสิณต่างๆ มาเป็นอารมณ์ จิตปล่อยวางไม่ได้ จะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ปรากฏอยู่อย่างนั้น ไม่ลืม นั่นเป็นมโนภาพ จิตเพ่งอย่างนั้นเมื่อจิตรวมลงไปก็เกิดภาพเช่นนั้น จิตถึงไม่พ้นจากภาพนั้น ถ้าหากกำหนดเอาผู้เห็นภาพนั้นคือ จิต แล้วปล่อยวางภาพนั้นเสีย ก็จะเห็นจิตของตนแล้ว สมาธิก็จะสูงขึ้นกว่าเก่า
มีเรื่องท่านเล่าไว้ว่า พระรูปหนึ่งไปนั่งภาวนาทำสมาธิอยู่ริมสระแห่งหนึ่งเห็นนกยางโฉบกินปลา เลยเอามาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานว่า นกยางกินปลาๆ อยู่ดังนี้ จนจิตรวมเป็นสมาธิ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นจึงว่าการหัดสมาธินี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้เอาคำบริกรรมแต่ในขอบเขตที่ท่านว่าไว้ ๔๐ อย่างเท่านั้น จะเอาอะไรๆ ก็ได้ ขอแต่อย่าให้ออกนอกไปจากกายของตัวเราก็ใช้ได้เหมือนกัน
กายของเรานี้มีธรรมอยู่พร้อมเบ็ดเสร็จทุกอย่าง จะพิจารณาให้เห็นอสุภก็ได้ ให้เป็นกัมมัฏฐานอะไรๆ ได้หมด และเป็นที่ตั้งทั้งสมถะ และวิปัสสนาด้วยจะพิจารณาให้เห็นโทษเห็นทุกข์เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ได้ อย่าไปทิ้งกายอันนี้ก็แล้วกัน จะทิ้งไม่ได้เพราะเราเกิดขึ้นมาได้ตัวตนมาแล้วจะไปทิ้งให้ใคร จะทิ้งไว้ที่ไหน ไปฝากใครไว้ จะขายให้ใคร ถึงขายตัวของเราไปมันก็อยู่ที่นี่แหละจะฝากคนอื่นไว้ก็ยังเป็นตัวตนของเรา อย่างเดิมนี่แหละ ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อตัวของเราเองอยู่ทุกประการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณา ผู้ต้องการเห็นทุกข์โทษในวัฏฏสงสาร ต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณาเพราะเป็นของมีอยู่กัมมัฏฐานทั้งปวงหมดล้วนมีอยู่ในกายนี้ทั้งนั้น เลือกยกเอามาพิจารณา ไม่ใช่ไปเอาของไม่มีมาพิจารณา
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจธรรม ก็ทรงรู้ของมีอยู่ทั้งนั้น ถ้าเป็นของไม่มี ไม่จริง พระพุทธองค์ก็จะไม่ได้ตรัสรู้ มันเป็นอยู่อย่างไรก็ให้รู้ตามเป็นจริงของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนตรงนี้ ทรงสอนให้เห็นจริงทั้งด้วยตาและด้วยใจ เช่น ตัวของเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครก็เห็นเป็นทุกข์ทั้งนั้น ถามใครใครก็รู้ เจ้าของเราก็รู้ ใจก็รู้ ตาก็เห็น นั้นเรียกว่าของจริง
ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ชาติ ชรา มรณา เป็นทุกข์ทั้งนั้น
เมื่อเห็นเป็นโทษเป็นทุกข์เราจะไปทิ้งให้ใคร ทิ้งก็ไม่ได้ จึงเอามาพิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ นั่นเป็นของจริงของพระอริยเจ้า เรากลับไปเบื่อหน่ายไปรังเกียจเสีย เห็นทุกข์แล้วเลยอยากทิ้งไปเสีย อันนั้นผิด หรือเกิดทุกข์โทมนัสคับแค้นในใจนั้นก็ผิดเหมือนกัน ธรรมทั้งหลายมันอยู่ตรงนี้เอง จึงพิจารณาให้เห็นทุกข์ รู้จักทุกข์
ทุกข์อันนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ทุกข์อันอื่นมันจะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปอีก มันเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปมาเรื่อยๆ เช่น ทุกข์ในอิริยาบทต่างๆ การอยู่ การกิน การทำมาหาเลี้ยงชีพ มีกินแล้วก็สบายไปได้ระยะหนึ่ง ประเดี๋ยวก็หิวโหยมาอีก รู้จักรสชาติเอร็ดอร่อย รสชาตินั้นซึมซาบทั่วสรรพางค์กาย มีความสบายเบิกบานไปพักหนึ่ง ประเดี๋ยวก็ต้องไปถ่ายทุกข์ เขาเรียกว่า ถ่ายทุกข์ เพราะถ้าไม่ถ่ายมันเป็นทุกข์จริงๆ ทุกข์มากยิ่งกว่าเก่า กำลังถ่ายอยู่นั้นมันเหม็นแสนเหม็นก็จำเป็นต้องทน กว่าจะเสร็จธุรกิจจึงจะไปได้ เวลากินล้วนแล้วแต่เป็นของดิบๆ ดีๆ มีราคามาก เรียกร้องพวกเพื่อนมารับประทานด้วยกัน ด้วยความหรรษาร่าเริง เวลาถ่ายเงียบฉี่ไม่มีใครเห็นด้วย
จึงว่ามีสุขแล้วก็เป็นทุกข์ เป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยง เพราะเป็นของไม่เที่ยงนั่นแหละมันจึงเป็นทุกข์ การเป็นทุกข์มันเป็นของใครเล่า คราวนี้ สุขก็ไม่ใช่ของใคร มันเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วมันก็หายไป เดี๋ยวทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วมันก็หายไป มันไม่ใช่ของใครทั้งหมด มันเป็นของประจำกายอยู่อย่างนั้นจึงว่าเป็น อนัตตา อนัตตา ไม่ใช่ของไม่มีตัว อนัตตา เป็นของมีอยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ แต่เป็นของไม่มีสาระ
อานาปานสติ นั้น เมื่ออธิบายแล้วจะเห็นว่ามันลงที่ กายคตาสติ นั่นเอง กายคตานุสสติ ก็รวมลง มรณานุสสติ เลยเป็นอันเดียวกัน ถ้าไม่มีกายจะพิจารณาลมหายใจได้อย่างไร แล้วพิจารณากายได้อย่างไร เมื่อจะพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว มันเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมดทั้ง ๓ อย่าง ผู้ที่หลงทางกัมมัฏฐาน เลยจับอะไรก็ไม่ถูก
มีเรื่องน่าขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง มีพระมหาองค์หนึ่งทางเจ้าคณะเขาสั่งไปให้เที่ยวอบรมสั่งสอนศีลธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ ที่เรียกว่า พระธรรมทูต นั่นเอง เมื่อไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเขาปฏิบัติกับพระนักปฏิบัติอยู่แล้ว พอค่ำมาเขาก็ตีกลองให้คนมาฟังเทศน์ เมื่อเขามารวมกันแล้ว พระมหาองค์นั้นก็ขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ เทศน์ไปแกก็ติเตียนพระนักปฏิบัติไป หมายถึงพระกัมมัฏฐานองค์ที่ชาวบ้านเขาปฏิบัติท่านอยู่นั่นเอง หัวเราะเฮฮาเย้ยหยันไปในตัว อันแสดงถึงเรื่องชาวบ้านปฏิบัติตามพระเหล่านั้น เห็นเป็นหลงงมงาย มีผู้หญิงคนหนึ่งวัยกลางคนนั่งอยู่ในที่ปะชุมนั้นด้วย แกแสนที่จะอดกลั้นต่อไปได้ สงสัยว่าทำไมพระจึงมาใส่โทษกันในที่ประชุมเช่นนี้ พระองค์ที่ท่านพูดถึงนั้น ก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยอะไร แล้วท่านก็ไม่ได้อยู่ในที่นั้นอีกด้วย
แกจึงย้อนถามทั้งๆ ที่พระมหาองค์นั้นยังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์นั้นเองว่า "ดิฉันขอถามท่านมหาหน่อย ท่านมหามิใช่พระกัมมัฏฐานหรอกหรือ"
ท่านมหาตอบอย่างไม่มีอายว่า "อาตมามิใช่พระกัมมัฏฐาน"
หญิงคนนั้นจึงย้อนถามอีกว่า "เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ของท่านมหามีไหม"
ท่านตอบเสียงอ่อยๆ ว่า "มี"
หญิงคนนั้นจึงบอกว่า "นั่นแหละพระกัมมัฏฐานที่ท่านใส่โทษอยู่ประเดี๋ยวนี้ อุปัชฌาย์ของท่านมหาสอนแล้ว แต่เมื่อบวชครั้งแรกโน้นมิใช่หรือ"
ท่านมหาลงจากธรรมาสน์แล้วเปิดหนีแต่เช้ามืด ทีหลังมาได้ข่าวว่าสึกแล้ว มิน่าล่ะถึงเป็นพระมหาแล้วยังต้องให้ผู้หญิงบอกสอนกัมมัฏฐาน สึกเสียก็ดี อยู่ไปก็เลอะเทอะ ทำพระศาสนาให้เสื่อมเปล่าๆ
ใครจะพิจารณา อานาปานุสสติ หรืออะไรก็แล้วแต่อุปนิสัย ขอให้จิตรวมลงเป็นหนึ่งได้แล้วก็เป็นอันดีด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจิตไม่รวมจะใช้วิธีอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น กัมมัฏฐานที่ท่านว่าไว้มากมาย หรือธรรมทั้งหลายที่ท่านเทศนากว้างขวางนั้น ก็เพื่อสำรวจจิตนี้เท่านั้นเอง... เทศนามาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ฯ
......................................
คัดลอกจากลานธรรมจักร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี