นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานแผนงานโรคไม่ติดต่อ WHO CCS-NCDกล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “ปกป้องสุขภาพเด็กไทยจากโรคอ้วน จากโฆษณาและการตลาดอาหารออนไลน์” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD) มีความสำคัญมากต่องานสาธารณสุขประเทศไทย ซึ่งพบว่า นักเรียนไทยร้อยละ 19 มีภาวะน้ำหนักเกิน และร้อยละ 6.8 มีภาวะอ้วน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“โรคอ้วนจัดเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ได้แก่ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง นักเรียนไทยร้อยละ 39 รายงานว่ากินอาหารจานด่วนมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์และร้อยละ 35 ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์” นพ.กฤษฎา กล่าว
ขณะที่ พเยาว์ ผ่อนสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลวิจัยจากการวิเคราะห์สื่อโฆษณาและกิจกรรมการตลาดของอาหาร 6 ประเภท ในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 พบมีสื่อโฆษณาอาหารประเภทอาหารจานด่วน (Fast Food)มากที่สุด (เฉลี่ยกว่า 349 โพสต์ต่อเดือน) ตามด้วย ขนมขบเคี้ยวและของหวานเครื่องดื่มชง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและน้ำอัดลม
“มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลาย ทั้งการลดราคา การแลกซื้อราคาพิเศษ การกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็น Presenter และที่สำคัญพบว่ามีการโฆษณาที่มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเด็กจำนวนไม่น้อย โดยการใช้รูปการ์ตูนและเด็กเล็กในสื่อหรือการแถมของเล่นเมื่อซื้ออาหาร”พเยาว์ ระบุ
ด้าน พญ.หทัยรัตน์ โกษียาภรณ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เผยงานวิจัยจากการวิเคราะห์ข้อมูลการบันทึกหน้าจอมือถือของวัยรุ่น อายุ 13-17 ปี จำนวน 139 คน พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง มีการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายและซับซ้อน เช่น กลยุทธ์การแชร์ต่อโดยผู้บริโภค (user-generated content) จูงใจด้วยความทันสมัย รสชาติ และคุณค่าโภชนาการ
“มีการตลาดแบบเฉพาะบุคคลหรือการตลาดแบบรู้ใจ (Personalized marketing) โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เนตของผู้บริโภค เหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในออกมาตรการเพื่อการควบคุมกิจกรรมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิเด็กจากการหาผลประโยชน์ทางการค้าและสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี” พญ.หทัยรัตน์ กล่าว
นพ.กฤตินันท์ บุญรำไพ กลุ่มพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนามและเครือข่าย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอผลวิเคราะห์จากการสำรวจผลกระทบและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนไทยในสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มตัวอย่างประชากรไทยกว่า 7,731 ราย พบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น) เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 (สัดส่วนผู้ที่มีน้ำหนักขึ้นเป็นร้อยละ 11.7) และเป็นกลุ่มที่มีการเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มผ่านสื่อออนไลน์เป็นประจำ (ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป)มากที่สุด
“พบเห็นการโฆษณาอาหารจานด่วนมากที่สุด ร้อยละ 49.8 ต่อมาเป็นน้ำอัดลม ร้อยละ 40.4 เครื่องดื่มชง (ร้อยละ 34.6) เครื่องดื่มรสหวานบรรจุขวด (ร้อยละ 30.6) ขนมกรุบกรอบ (ร้อยละ 23.4) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 23.0) ตามลำดับ โดยปริมาณการได้รับสื่อโฆษณานี้มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ด้วย” นพ.กฤตินันท์ กล่าว
สำหรับงานเสวนา หัวข้อ “ปกป้องสุขภาพเด็กไทยจากโรคอ้วน จากโฆษณาและการตลาดอาหารออนไลน์” เป็นการเสวนาแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom และ Live Webinar จัดโดยกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากทีมเยาวชน Mindventure จัดการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีใหม่เครือข่ายป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ (Virtual NCD Forum 2022)
ในช่วงท้ายการเสวนา ซึ่งมีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งในภาพรวมสรุปได้ว่า สภาพแวดล้อมของเด็กไทยในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
การป้องกันและการจัดการปัญหาเด็กอ้วนควรทำทุกระดับ เริ่มที่ต้นที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน รัฐควรต้องมีทั้งมาตรการกฎหมายที่จำกัดการโฆษณาและกิจกรรมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ในทุกช่องทางโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ โรงเรียน และร้านค้าในชุมชน
ควรกำหนดให้มีฉลากโภชนาการที่ชัดเจนที่แสดงปริมาณสารอาหารและเตือนผู้บริโภคหากมีความเสี่ยงสูงในผลิตภัณฑ์อาหาร การส่งเสริมผู้ประกอบการและเพิ่มการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้สดปลอดสารพิษ เมนูสุขภาพดีในร้านอาหาร ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคในรู้เท่าทันโฆษณาและการสื่อสารการตลาดที่กระตุ้นการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และสามารถดูแลตัวเองได้ในยุคหลังโควิด-19!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี