8 ก.ค.65 น.ส.ศุภมาส เสนะเวส แกนนำกลุ่ม ฬ รักชาติ และนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ#ว่าด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง โดยมีเนื้อหาดังนี้
บทเพลงนี้เรียงร้อยขึ้นมาเพื่อสร้างความรู้สึกรัก และผูกพันในสถานศึกษา สถานศึกษาอันร่มรื่นสวยงามโดดเด่นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ติดท่าน้ำ ที่ชื่อว่า " ท่าพระจันทร์"
มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ คือ "โดม"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในครั้งกระนั้น ทรงเห็นคุณค่าของสถานศึกษาแห่งนี้
จึงทรง..."ปลูกยูงทองไว้เคียงโดม มุ่งประโลมโน้มใจรัก ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้"ด้วยหวังให้ชาวธรรมศาสตร์รัก และเชิดชูสถาบันของตน
ความรัก ผูกพัน และเชิดชูสถาบันการศึกษานั้น มีความสำคัญอย่างไร ? และเพียงใด ? สำคัญยิ่ง
เพราะจะทำให้นักศึกษาและบัณฑิต หลอมรวมจิตใจ รู้รักสามัคคี มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดี สร้างสรรค์สิ่งดี สู่สังคมและประเทศชาติ เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของสถานศึกษาของตน ว่าผลิตมาแต่คนดีมีคุณภาพ มีความสามารถ และส่งเสริมให้เกียรติขจรไกล
...
"พระธรรมสถิต รวมจิตสมาน ปฏิญาณรักสามัคคี"ปลูกฝังให้ชาวธรรมศาสตร์นั้นยึดมั่นในธรรม - - ในคุณธรรม ในหลักธรรม ในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพ เป็นบุคลากรทรงคุณค่าของชาติ สืบทอดชื่อเสียงของสถาบันให้รุ่งเรือง ..."ส่งศักดิ์ศรีนั้นให้ยิ่งยืนนาน"
...
เมื่อเทียบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ปลูกฝังผ่านบทเพลง เพลงมหาจุฬาลงกรณ์นั้น สอนให้เรารู้จักความกตัญญู ย้ำให้เรายึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ที่จะทำให้เรามีความภูมิใจและนับถือตนเอง "สัญญาประคอง ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร"
ขณะที่บทเพลงเกียรติภูมิจุฬานั้น ทำให้เรารู้สึกมุ่งมั่นและองอาจ ที่จะนำความรู้จากการศึกษาของเราไปสืบสานการรับใช้สังคม "ทั่วราชอาณาจักรนี้ เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาจึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬา"
นับแต่อดีตกาล ปรัชญาที่บ่มเพาะในหัวใจของเรา- - ชาวธรรมศาสตร์และจุฬา ฯ - - มิได้แตกต่างกัน ท่อนหนึ่งของบทเพลงยูงทองที่ปลุกความฮึกเหิมในจิตใจ ของสายเลือดธรรมศาสตร์ที่แผ่ซ่านไปทั่วถิ่นไทย "เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล ปกแผ่ไปในทุกทาง สัญลักษณ์ดีเด่น เห็นกระจ่าง อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป"
สะท้อนว่า ชาวธรรมศาสตร์นั้น (ก็เช่นเดียวกับชาวจุฬา)กระจายอยู่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย มีคุณค่าชัดเจน ขออย่าจืดจางในการร่วมเส้นทางแห่งการทำความดีที่องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์กล่าวหาว่า เนื้อหาของบทเพลงยูงทอง มิใช่จิตวิญญาณในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอันเป็นตลาดวิชานั้น
จึงเป็นการตีความด้วยความอ่อนด้อยทางภาษา และขาดรสนิยมในเชิงวรรณศิลป์ เป็นจวักห่อนรู้รสแกง
เจตนารมณ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นั้นตรงไปตรงมายิ่ง คือการให้คนมีโอกาสได้รับการศึกษา ได้เรียนรู้"วิชาธรรมศาสตร์" ได้รู้เรื่องกฎหมายและรัฐศาสตร์
การมีรูปแบบเป็นตลาดวิชา ก็เพื่อคนที่ทำงานแล้ว รับราชการแล้ว ไม่สามารถมาเรียนเต็มเวลาได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนวิทยฐานะไปพัฒนาอาชีพการงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับใช้ชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญจิตวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์คือรู้รักสามัคคี และใช้ความรู้ที่มีรับใช้สังคม
บทเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง จึงเป็นบทเพลงแห่งความภาคภูมิใจ ที่จารึกและซาบซึ้งอยู่ในหัวใจชาวธรรมศาสตร์ เนิ่นนานจากอดีตจวบจนปัจจุบัน แม้นมิใช่ชาวธรรมศาสตร์ แต่ก็ร้องเพลงนี้มาหลายต่อหลายครา
ตั้งแต่ปี 2521 จึงอยากถาม กรรมการ อมธ. ซึ่งเพิ่งมาเป็น #ชาวธรรมศาสตร์ ได้ไม่เกิน 4 ปี ว่าการจะมารื้อทำลาย โดยยังมิเคยสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณอันใดให้กับสถานศึกษานั้น
ถามหัวใจชาวธรรมศาสตร์ ที่เขาเป็นชาวธรรมศาสตร์มาหลายสิบปีและสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมาเนิ่นนานหรือยัง ????? หรือถือเอกสิทธิ์ ที่เข้ามาอยู่เพียง 3-4 ปี ที่จะทำอะไรก็ได้ ฉะนี้ฤๅ?
ขอบคุณข้อมูลเฟซบุ๊ก น.ส.ศุภมาส เสนะเวส
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี