เป็นอีกคดีสะเทือนขวัญที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กับการพบศพชาย-หญิงถูกฆาตกรรมแล้วนำมาโบกปูนฝังดินไว้บริเวณป่าชุมชนตำบลทุ่งอรุณ ท้องที่บ้านปอพราน หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งอรุณ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ห่างจากทางหลวงหมายเลข 224 สายโชคชัย – ครบุรี ประมาณ 500 เมตร ซึ่งมีผู้ไปพบศพเมื่อเย็นวันที่ 28 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุด วันที่ 30 ก.ค. 2565 พบวัตถุที่คาดว่าน่าจะเป็น “ซิลิโคนเสริมหน้าอก” จากศพหญิงรายดังกล่าว ซึ่งหากใช่ก็จะสามารถสืบสวนจากหมายเลขผลิตภัณฑ์ (Serial Number) บนซิลิโคน จนทราบได้ว่าผุ้ตายเป็นใคร
ทั้งนี้ การหาเบาะแสผู้เสียชีวิตจากซิลิโคนเสริมหน้าอกไม่ใช่เรื่องใหม่ อาทิ นพ.แบร์รี เอพพ์ลีย์ (Dr. Barry Eppley) ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมพลาสติก แห่งย่านคาร์เมล เมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เขียนบทความ Forensic Use Of Breast Implant Identification Numbers เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของตนเองอย่าง exploreplasticsurgery.com เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2557 ระบุว่า เต้านมเทียมที่ผลิตทุกชิ้นจะมีหมายเลขผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อนำไปใช้จะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในประวัติของผู้เข้ารับการผ่าตัดรวมถึงบริษัทผู้ผลิต
นพ.แบร์รี ยกกรณีตัวอย่าง พนักงานต้อนรับบนสายการบินซึ่งทำงานในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ถูกพบเป็นศพที่บริเวณตอนเหนือของรัฐอินเดียนา เจ้าหน้าที่ชันสูตรพบผู้ตายมีการใช้เต้านมเทียม และหมายเลขผลิตภัณฑ์ทำให้รู้ได้ว่าผลิตจากที่ใด รวมถึงสืบต่อไปถึงศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดเสริมหน้าอกให้ผู้ตาย ทั้งนี้ การระบุหมายเลขผลิตภัณฑ์ที่เต้านมเทียมทุกชิ้น จุดประสงค์หลักคือหากผ่าตัดไปแล้วเกิดปัญหาหรือผลข้างเคียงขึ้นก็จะสามารถเรียกร้องการชดเชยเยียวยาตามการรับประกันได้ แต่การใช้เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ก็เป็นประโยชน์อีกประการหนึ่ง
สำนักข่าว ABC News สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ How Forensics Revealed Model Jasmine Fiore's Identity เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2552 ว่าด้วยการเสียชีวิตของ จัสมิน ฟิโอเร (Jasmine Fiore) หญิงวัย 28 ปี นางแบบชาวอเมริกัน โดยพบศพในวันที่ 15 ส.ค. 2552 ถูกซุกซ่อนในกระเป๋าเดินทาง ทิ้งไว้บริเวณถังขยะในย่าน Buena Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ในตอนแรกนั้นสภาพศพเสียโฉมจนแทบจำไม่ได้ แต่เมื่อพบว่าผู้ตายมีการใช้เต้านมเทียมเสริมหน้าอก จึงทราบในเวลาต่อมาว่าผู้ตายเป็นใคร จากหมายเลขผลิตภัณฑ์บนเต้านมเทียมดังกล่าว
คดีนี้เชื่อว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคือ ไรอัน เจนกินส์ (Ryan Jenkins) อดีตสามีของผู้ตาย เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายประการ ซึ่งหลังเกิดเหตุ ไรอัน ถูกออกหมายจับและได้หลบหนีข้ามพรมแดนไปยังแคนาดา ก่อนจะฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ ณ ห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่ง ในวันที่ 23 ส.ค. 2552 หรือราว 1 สัปดาห์หลังตำรวจพบศพ ตามรายงานข่าว Blonde Woman Identified Who Helped Ryan Jenkins จาก ABC News เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552
สำหรับประเทศไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย พ.ศ.2562 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ระบุในข้อ 7 ว่า ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกายซึ่งขายให้กับสถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จัดให้มีทะเบียนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าวเก็บไว้ ณ สถานที่ผลิตหรือสถานที่นำเข้าซึ่งระบุไว้ในใบจดทะเบียนสถานประกอบการ หรือสถานที่ขายซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาตขาย เพื่อการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแต่วันที่ขาย
โดยต้องรายงานต่อผู้อนุญาตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดทุกหกเดือน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อมูล ดังต่อไปนี้ (1) ชื่อสถานพยาบาล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ผู้รับผิดชอบ (2) ชื่อผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย (3) รุ่นหรือแบบ หรือรหัสสินค้า (4) เลขที่ หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต หรือรุ่นที่ผลิต
“(5) เลขประจำตัวผลิตภัณฑ์ (Serial Number)” (6) เลขที่ใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (7) ชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขาย ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ (8) ข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่สามารถระบุถึงผู้ป่วยได้โดยตรง (สร้างรหัสเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล) (9) วันที่ใช้ผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://exploreplasticsurgery.com/forensic-use-of-breast-implant-identification-numbers/
https://abcnews.go.com/GMA/story?id=8404354
https://abcnews.go.com/GMA/story?id=8397405
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/669995 ตร.เร่งคลี่คลายคดีฆ่าโบกปูนฝังดิน 2 ศพสอบพยานแล้ว 5 ปากคุ้ยหาที่มา 'ซิลิโคน'