กทม.กางแผนดันท่องเที่ยว‘ริมเจ้าพระยา’ ผุดไอเดีย‘ไลท์ติ้ง เฟสติวัล’-ทำที่จอดเรือยอร์ช
16 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดย นาวาโทปริญญา รักวาทิน นายกสมาคม โดยหารือในประเด็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ด้านคมนาคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้พูดคุยกันกับสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องฟังผู้ประกอบการเยอะ ๆ เพราะผู้ประกอบการจะรู้ปัญหา เราเป็นฝ่ายที่ถือกฎระเบียบ อาจจะไม่เข้าใจปัญหามาก วันนี้มีหลายข้อที่น่าสนใจและอยู่ในใจ
เรื่องแรกเป็นเรื่องการทำ Lighting สาดไฟในจุดต่าง ๆ อยากทำเป็น Lighting Festival ไม่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เชื่อมโยงมาด้านในคลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู และเชื่อมกับสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว
เรื่องที่สอง การเชื่อมโยงคลองทางฝั่งธนฯ กับแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาคือเรื่องประตูระบายน้ำ บางทีนักท่องเที่ยวต้องมารอประตูระบายน้ำเปิดนานอาจมีการประสานงานให้การไปบริหารจัดการประตูระบายน้ำกับการผ่านของเรือสะดวกขึ้น
เรื่องที่สาม เป็นมิติของเรื่องรถ เรือ ราง ตอนนี้หลายจุดมีรถไฟฟ้าผ่านบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสายสีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน ทำให้ประชาชนเดินทางมาถึงริมน้ำได้สะดวกขึ้น อาจไม่ต้องเดินทางถึงท่าเรือแต่อย่างน้อยให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้รับไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ปัจจุบันมีพื้นที่ว่างหลายจุด บางจุดเป็นของกรุงเทพมหานครเอง เช่น แถวพระราม 7 อาจพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสวนสาธารณะ
เรื่องต่อมามีแนวคิดที่จะทำที่จอดเรือยอร์ช หรือ Marina ในพื้นที่ที่เหมาะสม แม่น้ำเจ้าพระยากว้างมาก 500 เมตร ผู้ประกอบการมีทั้งอยู่บนบกกับผู้ประกอบการเดินเรืออาหารในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่กว่า 30 ลำไม่มีที่จอดเรือต้องอาศัยจอดเรือตามวัด ถ้าจัดระเบียบให้ดีก็จะทำให้การให้บริการประชาชนหรือการท่องเที่ยวทำได้ดีขึ้น กรุงเทพมหานครไม่ได้เชี่ยวชาญ และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่าและเจ้าของพื้นที่ต่างๆ คงต้องวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ ให้ดี ทั้งสิ่งแวดล้อม มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จะมีพื้นที่ให้เอกชนมาทำได้ไหมเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็มีกันแล้ว มีคนเข้ามาเที่ยวหรือล่องเรือในเจ้าพระยา เกิดสันทนาการเพิ่ม โดยสมาคมฯ ได้ขอให้กรุงเทพมหานครช่วยดูในเรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือด้วย
นอกจากนี้ มีเรื่องทางเดินริมน้ำเจ้าพระยาแต่ไม่ได้ทำใหญ่โตเป็นทางเดินเล็ก ๆ ที่เชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ปัญหาคือประชาชนเข้าถึงริมแม่น้ำยากอาจจะมีทางเดินเล็ก ๆ คล้าย ๆ หน้าวัดกัลยาแถวกุฎีจีนกุฎีขาว สมมุติลงจากสะพานด้วนซึ่งปัจจุบันเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาไปแถวเยาวราชแล้วเลี้ยวซ้ายไปท่าดินแดง คลองสาน เดินเข้าชุมชนเป็นการกระจายของเศรษฐกิจ หรือเป็นทางเดินเล็ก ๆ เข้าชุมชนเป็นจุด ๆ ที่เชื่อมจุดฟันหลอ เช่น ท่าเตียน ขยายทางเดิน 200 เมตร เข้าถึงท่าเรือก็จะสะดวกขึ้น ให้ทางเดินเข้าชุมชนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
“กรุงเทพมหานครกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของคู่กัน แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มีการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามา และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ หน้าที่เราคือเจียระไนเจ้าพระยาให้เปล่งประกายสมศักดิ์ศรีแม่น้ำของเมือง เพราะเมืองกับธุรกิจเป็นของคู่กัน ธุรกิจเป็นผู้สร้างงาน จ่ายภาษีให้เมือง” นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้น ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยผู้เข้าประชุมในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนสำนักการโยธา ด้านสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา มีนายสันติ สมบัติวิชาธร อุปนายกด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นางสาววดี ภิญโญทรัพย์ อุปนายกด้านประชาสัมพันธ์ นายอภิมงคล กิจวัตน์ อุปนายกด้านกิจกรรมและสมาชิกสัมพันธ์ กรรมการและที่ปรึกษา เลขาธิการ และกรรมการ เข้าร่วมประชุม
-005