กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขยืนยันการเติบโตและฟื้นตัวธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามอย่างรวดเร็วโดย 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือ ร้อยละ 90 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 659.32 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 212.62 (ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 186 ราย ทุน 310.10 ล้านบาท)
เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 38 ราย หรือ ร้อยละ 211.12 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 105.10 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 539 (สิงหาคม 2564 จดทะเบียน 18 ราย ทุน 19.50 ล้านบาท) ซึ่ง รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง เรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ว่า การเติบโตมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.โครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 18.5
และคาดว่า ปี 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งหมายถึงโอกาสทางธุรกิจด้านบริการสุขภาพและความงาม เนื่องจากผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองและต้องการบริการด้านนี้มากขึ้น กับ 2.สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพการระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
เมื่อพูดถึงธุรกิจบริการด้านสุขภาพ “อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์” ย่อมเป็นฐานสำคัญ ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 (EconTU Symposium) ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” โดยมีอาจารย์ประจำคณะมาบอกเล่าผลการศึกษาทิศทางอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ประกอบด้วยยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป ยาและเครื่องมือแพทย์
ลอยลม ประเสริฐศรี บรรยายหัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยหลังวิกฤต COVID-19” กล่าวถึงความท้าทายที่นำไปสู่การศึกษาอุตสาหกรรมยา 1.วิกฤตโรคอุบัติใหม่ ดังตัวอย่างจากสถานกรณ์โรคระบาดโควิด-19 2.โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน มะเร็ง 3.สังคมสูงอายุ ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเปราะบางสุ่มเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ และ 4.ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive) ทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตยา และสร้างนวัตกรรมการรักษาโรคในอนาคต
เมื่อมองออกไปในระดับโลก “ยุคของอุตสาหกรรมยาเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18-19” หรือประมาณปี 2343-2442 ยุคนี้เริ่มมีการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์สมัยใหม่และเคมีออร์แกนิก รวมถึงบริษัทยายักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหูอย่าง ไบเออร์ (Bayer) หรือ ไฟเซอร์ (Pfizer) ก็ก่อตั้งขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ต่อมา “สิทธิบัตรยาต้นตำรับ (Original Drug) จำนวนมากหมดลงพร้อมกันในช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 19” หรือช่วงปี 2393-2442 อุตสาหกรรมจึงเกิดการแข่งขันกันในยุคของ “ยาชื่อสามัญ (Generic)” และเนื่องจากไม่ต้องศึกษาตั้งแต่ต้นในชั้นคลินิก ทำให้ต้นทุนในการผลิตยาลดลง
“ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเรียกว่าเข้าสู่ยุคที่ 3 ของอุตสาหกรรมยา เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีชีวภาพ” ยุคนี้เริ่มมีการพัฒนายาชีววัตถุและวัคซีนขึ้นจำนวนมาก ซึ่งก็คือยุคปัจจุบัน แต่ในอนาคตอันเป็น “ยุคที่ 4 ของอุตสาหกรรมยา” มีการพูดถึง “ยาแห่งอนาคต” คือการออกแบบการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแบบเจาะจงแต่ละราย เช่น วิเคราะห์จากโครงสร้างทางพันธุกรรม ตลอดจนนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการรักษา
“ยกตัวอย่างอัลไซเมอร์ เขาผนวกเอาระบบดิจิทัลเข้าไปในตัวยา แล้วก็เชื่อมโยงกับโทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ตรงนี้ก็จะสามารถทำให้เตือนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้รับประทานยาได้ นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งรวมถึงการเข้ามาของระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) AI เข้ามาช่วยอุตสาหกรรมยาอย่างไร? ในอนาคตการวิจัยหรือพัฒนายาหรือการค้นคว้ายา อาจไม่ต้องใช้เวลายาวนานเหมือนเดิมเนื่องจากว่าเราสามารถใช้ AI ช่วยในการคัดเลือกตัวสารประกอบทางยา ที่เราสามารถร่นระยะเวลาในการผลิตหรือวิจัยและพัฒนายาได้” อาจารย์ลอยลม ระบุ
อุตสาหกรรมยานั้นมีความเฉพาะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ กล่าวคือ 1.ใช้นวัตกรรมอย่างเข้มข้น (Innovative-driven Industry) โดยมีค่าความเข้มข้นด้านวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) มากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ 2.ใช้ระยะเวลาพัฒนาค่อนข้างนาน ผลิตภัณฑ์ยาสักชนิดหนึ่งก่อนจะออกมาวางจำหน่ายใช้เวลาพัฒนาเฉลี่ย 10-13 ปี 3.ใช้ต้นทุนพัฒนาสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท
4.ความเสี่ยงสูง (Uncertainty) เพราะโอกาสในการวิจัยและพัฒนาจนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 13 และ 5.เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตยาต้นตำรับ โดยหากดูสถิติจากปี 2555-2564 บริษัทยาที่มีบทบาทก็ยังเป็นหน้าเดิมๆ แม้จะมีบริษัทอื่นๆ จากบางประเทศเข้ามาร่วมมีส่วนมากขึ้น เช่น จีนหรืออินเดีย
“มองโลกแล้วย้อนกลับมาดูประเทศไทย” พบว่า แม้อุตสาหกรรมยาในไทยจะเน้นผลิตยาชื่อสามัญ แต่ผู้ผลิตก็ยังเป็นบริษัทใหญ่มีทุนสูง โดยเป็นการผลิตเพื่อสนับสนุนตลาดในประเทศมากกว่าส่งออก โดยจากตลาดอุตสาหกรรมยาในไทยซึ่งมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท ส่วนนี้ไทยผลิตเอง 8 หมื่นล้านบาทและใน 8 หมื่นล้านบาท เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเพียง 2 พันล้านบาทและเนื่องจากอุตสาหกรรมยาต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมาก (แม้จะเป็นการผลิตยาชื่อสามัญ) จึงเป็นการกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ไปโดยปริยาย
อาจารย์ลอยลม กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยาของไทยค่อนข้างครบวงจร” ตั้งแต่ผู้ให้บริการระดับ “Pre-Clinical” ซึ่งมีสัตว์ทดลองพร้อมใช้ ที่มีอยู่ 13 แห่ง เป็นภาคเอกชน 2 แห่ง มหาวิทยาลัยอีก 11 แห่ง , “Testing Suppliers” หรือศูนย์ทดสอบ กระจายตามหน่วยงานของรัฐและสถาบันวิทยาศาสตร์,“Clinical Trial Research Service” กระจายตามโรงเรียนแพทย์, “Raw Material Suppliers” ผู้จัดหาวัตถุดิบผลิตยาแม้จะมีอยู่ 12 แห่ง แต่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมยาในประเทศได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 95 เป็นวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ , “โรงงานยาเคมี” ส่วนใหญ่ผลิตยาชื่อสามัญ และส่วนหนึ่งรับจ้างผลิตให้กับบริษัทข้ามชาติ , “โรงงานยาชีววัตถุและวัคซีน” ปัจจุบันมี 4 แห่งที่สามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ที่เหลือเป็นเพียงโรงงานต้นแบบที่ใช้ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยาของไทยมีความท้าทาย 4 ประการ 1.ยกระดับวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อต่อยอดนวัตกรรม
ที่ผ่านมามีความเชื่อกันว่า ยาเคมีหรือยาชื่อสามัญ (ซึ่งเป็นยาที่อุตสาหกรรมในไทยผลิตเองเป็นส่วนใหญ่) ไม่ต้องใช้การวิจัยและพัฒนามากนัก แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีความต้องการใช้ R&D สูงขึ้นในระดับหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพภาพเพียงพอที่จะได้เข้าไปอยู่ในบัญชีนวัตกรรมยาแห่งชาติ ซึ่งผู้ผลิตรายใดที่ทำได้ก็จะมีความได้เปรียบคู่แข่ง เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ หรือใช้ R&D เพื่อพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เช่น สูตรยาต้านไวรัสเอดส์ (HIV)
2.การแสวงหาเงินทุนสำหรับวิจัยและพัฒนา แม้นโยบายภาครัฐจะสนับสนุนได้ในระดับหนึ่ง (เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19) แต่โจทย์ใหญ่คือจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร เพราะในอนาคตไทยอาจเกิดปัญหาหนี้สาธารณะสูง แต่อีกด้านหนึ่ง ไทยก็มีสตาร์ทอัพอย่าง “ใบยา” ที่สามารถจ้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกได้มาก จึงเป็นตัวอย่างที่ดีและควรได้รับการสนับสนุนให้มีบริษัทลักษณะนี้มากขึ้น
3.เชื่อมโยงสถาบันวิชาการกับภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยในสถาบันการศึกษาจำนวนมากยังเป็น Basic Research หรืองานวิจัยสำหรับตีพิมพ์ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ Discovery หรืองานวิจัยที่เป็นการคิดค้นและพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ (TRL ระดับ 5 ขึ้นไป) ยังมีน้อย แต่ก็มีความพยายามทำให้เกิดขึ้น เช่น โครงการ ITAP ที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ที่สนใจเรื่องการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีน
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาในอนาคต สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเป็น
จุดพลิกผันสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมยาในอนาคต เพราะทั้งการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ การยื่นขออนุมัติเพื่อทำการทดลองวัคซีน เป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้ไทยไม่เคยมาถึงแม้กระทั่งหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ (เช่น อย.) ก็ไม่เคยอนุมัติและรับรองในสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน บทเรียนทั้งหมดที่ได้รับจึงควรถูกพัฒนาต่อยอด เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 กับการพัฒนาวัคซีนอื่นๆ ในอนาคต
5.แรงกดดันด้านความต้องการยาเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น โรค NCDs สังคมสูงวัย นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ปัจจุบันพบว่าไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บทเรียนจากโควิด-19 ซึ่งไทยต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และหลังจากนี้ก็อาจยังมีผู้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ (เช่น ปีละ 2 เข็ม) ทั้งหมดนี้หมายถึงงบประมาณที่ภาครัฐต้องเตรียมไว้ จึงเป็นคำถามถึงผู้กำหนดนโยบายว่าจะยังนำเข้าต่อไปหรือจะส่งเสริมให้ผลิตในประเทศ
ในช่วงท้าย อาจารย์ลอยลม สรุปผลการศึกษาไว้ว่า 1.อุตสาหกรรมเคมี แม้จะยังไม่สามารถผลิตยาต้นตำรับได้เอง
แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าไม่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมยาเคมีที่ผ่านมายังมีบทบาทสูงเรื่องการรักษาความมั่นคงทางยาของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงต้องผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพื่อลดต้นทุนด้านสาธารณสุข
2.มีโอกาสในวิกฤตโควิด-19 ในด้านยาชีววัตถุและวัคซีน สถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในประเทศ โดยเฉพาะการต่อยอดในการพัฒนาวัคซีนและยาใหม่ๆ แต่จะมีแนวทางสนับสนุนอย่างไร 3.บทเรียนจากโควิด-19 จะยกระดับสู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยาได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงแนวปฏิบัติเรื่องการรับรองผลิตภัณฑ์ด้วย 4.หน่วยงานกำกับดูแลกับการปรับบทบาท หันมาเป็นผู้สนับสนุนมากขึ้น เพื่อร่นระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
“ในแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางยา ผมมองว่าภาครัฐค่อนข้างเอาจริงเอาจัง ดังจะเห็นจากการพัฒนาหรือสนับสนุนเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน แล้วก็การเข้ามาช่วยอุดหนุนเรื่องการพัฒนาวัคซีน เป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่าภาครัฐได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องของความมั่นคงทางด้านยา แต่ประเด็นหนึ่งที่เรายังทำได้ไม่ดีนักและตัวเลขสถิติได้ฟ้องมา ในเรื่องของการลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกยังเห็นภาพไม่ชัดเจน รวมถึงหนึ่งในนโยบายที่พูดถึงในแผนยุทธศาสตร์ยาคือการผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายังเห็นภาพไม่ชัดเจนมากนัก” อาจารย์ลอยลม สรุปทิ้งท้าย
ด้าน ผศ.ดร.พนิต วัฒนกูล บรรยายหัวข้อ “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ซึ่งเช่นเดียวกับอุตสาหรรมยา คือสถานการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เช่น ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจ ATK นำไปสู่ความตระหนักรู้เรื่องความมั่นคงด้านเครื่องมือแพทย์ โดยในเวลานั้น นโยบายของไทยมีทั้งการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมใกล้เคียงหันมาช่วยผลิต เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกับการผลิตชุด PPE และหน้ากากอนามัย
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ), Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า เศรษฐกิจ BCG จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ได้มาก-น้อยเพียงใด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ แบ่งประเภทสินค้าอย่างง่ายๆ 3 ประเภท คือ
1.วัสดุทางการแพทย์ เป็นสิ่งของใช้แล้วทิ้ง เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE 2.ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องมือที่ใช้ได้นานไม่ใช่ครั้งเดียวทิ้ง เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องฟอกไต เครื่องเอกซเรย์ และ 3.น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อชุดตรวจ ATK ทั้งนี้ ระหว่างปี 2560-2564 วัสดุทางการแพทย์ เป็นสินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ไทยส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 ของสินค้ากลุ่มนี้ที่ไทยส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ครุภัณฑ์ทางการแพทย์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ส่วนน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคมีการส่งออกไม่ถึงร้อยละ 5
ในทางกลับกัน ระหว่างปี 2560-2564 ครุภัณฑ์ทางการแพทย์กับน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค เป็นสินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ไทยนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ โดยรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 60 สะท้อนภาพผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าประเภทวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนมากนัก แต่สินค้าอีก 2 ประเภทที่เหลือนั้นไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันกับต่างชาติ
การศึกษาในครั้งนี้พยายามจะตอบคำถามว่า “ประเทศไทยขาดแคลนเครื่องมือแพทย์หรือไม่” โดยรวบรวมข้อมูลจาก52 ประเทศ ระหว่างปี 2553-2563 จึงได้ข้อมูลทั้งก่อนยุคโควิดและเข้ายุคโควิดแล้ว พบว่า ในภาพรวม ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งหมายถึงครุภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย แต่ข้อมูลแบบนี้สามารถตีความได้ 2 แบบ หากไม่เพราะประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตได้เองจนเพียงพอกับความต้องการ ก็เป็นเพราะมีข้อจำกัดในการนำเข้าแม้จะไม่สามารถผลิตได้เองด้วยก็ตาม
“เรานำ 2 แนวทางนี้แล้วก็ไปดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับของไทย ไทยเราไม่ได้มีโรงงานหรือศูนย์กลางที่จะผลิตตัวครุภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แล้วก็ไม่ได้ส่งออกได้ขนาดนั้น ตรงนี้จึงพอจะอนุมานได้ว่าไทยเราขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ เรามีขีดจำกัดในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ แน่นอนว่านี่คือการใช้ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตและเกิดวิกฤตโควิด-19 เรายังมีความท้าทายในอนาคต โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำโรคเฉพาะถิ่นต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วอาจจะต้องเตรียมแผนรับมือให้ได้” อาจารย์พนิต กล่าว
นอกจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยยังเผชิญความท้ายเรื่องสังคมสูงวัย โดย ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า อีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายถึงความต้องการเครื่องมือแพทย์มากขึ้นเพื่อมาดูแลประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งการที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นในไทย ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงผ่านนโยบายทั้งที่เกี่ยวกับภาษีและไม่ใช่ภาษี แต่ก็จะช่วยรับประกันความมั่นคงด้านเครื่องมือแพทย์ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการเน้นการนำเข้าจากต่างประเทศ
อนึ่ง ประเทศไทยมีเป้าหมายเพิ่มการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมไทยร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยนวัตกรรมและผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ภึง 4 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี ผ่าน 5 กลยุทธ์ คือ 1.ส่งเสริมวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) เพื่อให้ผลิตได้เองในประเทศ 2.ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด ผ่านกลไกบัญชีนวัตกรรมไทย เช่น ส่งเสริมให้สถานพยาบาลของรัฐซื้อสินค้าในบัญชีนี้
3.ลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบ เพื่อสนับสนุนการต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 4.พัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งนักวิจัยและผู้ประกอบการ และ 5.สร้างเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้นักวิจัยได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ นำไปสู่การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกต “ยังไม่มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งต่างประเทศที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญมากถึงขั้นหลายชาตินำไปบรรจุไว้ในการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA)
เช่น ข้อกำหนดให้ต้องยอมรับสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำแต่คำว่ากระบวนการผลิตซ้ำก็สามารถตีความได้ 2 รูปแบบ1.แบบกว้าง นอกจากผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้ารายเดิมแล้วยังอนุญาตให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยได้ เช่น ในขั้นตอนการแยกชิ้นส่วนประกอบ ซ่อมบำรุงจนถึงผลิตซ้ำ ซึ่งการตีความแบบกว้างจะเอื้อต่อการพัฒนาต่อยอดของผู้ประกอบการไทยมากกว่าเมื่อเทียบกับ 2.แบบแคบ อนุญาตให้เฉพาะผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้ารายเดิมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตซ้ำก็ต้องระบุข้อกำหนดด้วยว่าต้องได้มาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือผลิตใหม่
“หากไทยยังไม่เปิดรับตัว C (Circular Economy-เศรษฐกิจหมุนเวียน) อาจจะต้องมีต้นทุนค่าเสียโอกาส3 ประการ 1.ไทยต้องวางแผนงบประมาณให้ดี เพราะหากเราไม่เปิดรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการผลิตซ้ำได้ เราอาจจะต้องนำเข้าเครื่องมือแพทย์หรือครุภัณฑ์ทางการแพทย์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเรามีงบประมาณไม่เพียงพอ เราอาจไม่มีเครื่องมือแพทย์ใหม่เพื่อรักษาผู้ป่วยภายในประเทศได้
2.เราอาจจะต้องเตรียมแผนรับมือภาวะการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ทั้งในช่วงเวลาวิกฤตและปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และ 3.ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เขาเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน เขาจะให้ความสำคัญและใส่ประเด็นเรื่องการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำเป็นหนึ่งในข้อเจรจา FTA ถ้าหากเราไม่ยอมรับก็อาจกลายเป็นว่าเราไม่สามารถทำ FTA กับต่างประเทศได้” อาจารย์พนิต ระบุ
ในทางกลับกัน “หากไทยยอมรับสินค้าที่ใช้กระบวนการผลิตซ้ำ” นอกจากประโยชน์ที่จะได้กับผู้ประกอบการไทยในการศึกษาและพัฒนาต่อยอดด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนกลับ (กรณีเลือกใช้นิยามแบบกว้างกับคำว่ากระบวนการผลิตซ้ำ) ยังจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย หากมองแล้วเห็นว่าเมื่อเข้ามาจะดำเนินการได้ครบวงจรทั้งการผลิตของใหม่ ซ่อมบำรุงและผลิตซ้ำ
“ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เราจำเป็นจะต้องวางแผนกลยุทธ์รับมือการเจรจา FTA และกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ต่อไป” อาจารย์พนิต ฝากทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี