2 มิ.ย. 2566 องค์การสหประชาชาติ (UN) ให้การรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2542 นั้น คณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก จึงมีฉันทามติร่วมกันให้ประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า จำนวน 3,500 รูป/คน จาก 55 ประเทศ โดยจัดงานระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และ พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ซึ่งกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 พร้อมต้อนรับ ฯพณฯ นายดิเนช คุณวาระเดนะ (H.E. Dinesh Gunawardena) นายกรัฐมนตรีศรีลังกา เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ พุทธคุณูปการกับการพัฒนาทางสังคมและมนุษยธรรมหลังจากโรคโควิด (Buddhist Contribution to Further Social and Humanitarian Development after Covid Pandemic) โดยกล่าวถึงประเด็น Moral Five Covid ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นหัวใจจิตอาสาของพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างชัดเจน วัดผลสะท้อนการขับเคลื่อนทั้ง 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการของภาครัฐ การบริการระบบสุขภาพและทุนทางสังคม (social capital)
ความเป็นจิตอาสา เป็นคุณธรรมที่มีในคนไทยทุกคนคือมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐยังมีโครงการการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การขับเคลื่อนของกลไกกระทรวงสาธารณสุขระหว่างหมอพยาบาล จนทำให้มีพี่น้องอสม.เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลคนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ดูแลอย่างเท่าเทียม ด้านองค์กรภาคเอกชนอย่างมูลนิธิเอสซีจี จัดทำห้องไอซียู เตียงสนามกระดาศรีไซเคิล ภายใน7วัน เพื่อดูแลคนไทย เกิดหมู่บ้านชุมชนปันสุข
“ในสถานการณ์โควิดแม้เราลงพื้นที่ไม่ได้ แต่ศูนย์คุณธรรมได้จัดทำแบบประเมิน 5 ภาษา และอบรมระบบพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อเพิ่มทักษะการดูแลสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ศูนย์คุณธรรม ยังได้เกิดเครื่องดัชนีชี้วัดคุณธรรม (moral index) เพื่อสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของคนไทย ซึ่งได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว