“ท่าเตียน” ชื่อนี้จะเป็นชื่อพ่วงท้ายเวลาใครที่ต้องการเดินทางมาที่ “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” ซึ่งเวลาบอกกันก็จะบอกเป็นภาษาพูดว่า ไปวัดโพธิ์ ท่าเตียน เป็นอันว่า ถึงบางอ้อกันเลยทีเดียว และในปัจจุบัน “ท่าเตียน” ได้พัฒนาต่อยอดความเป็นพื้นที่ที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่กำลังได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
@ตำนานท่าเตียนสู่แหล่งท่องเที่ยวรัตนโกสินทร์
“สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ได้เขียนถึง “ตำนานท่าเตียน” ไว้ว่า เป็นนิทานที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง เพื่อโยงให้เข้ากับชื่อสถานที่ที่เรียกว่าท่าเตียน ซึ่งเป็นท่าน้ำและย่านการค้า อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกของวัดพระเชตุพนฯ โดย “ตำนานท่าเตียน” นั้นเล่ากันว่า เป็นเพียงพื้นที่โล่งเตียนบริเวณ “ท่าเตียน” เป็นผลมาจากการต่อสู้ของยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดโพธิ์ เดิมยักษ์ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน
วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงินใช้จึงได้เหาะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง แต่เมื่อถึงกำหนดคืนเงินยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมคืนเงินให้ ยักษ์วัดแจ้งเหาะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน จึงเกิดการต่อสู้กันทำให้ต้นไม้ในบริเวณที่ถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำล้มตายจนราบเรียบกลายเป็นที่โล่งเตียนไปหมด
ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระอินทร์) ทราบเรื่องจึงลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง 2 กลายเป็นหิน แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ทำหน้าที่ยืนเฝ้า “ประตูพระมณฑป” ให้ยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าพระวิหารวัดแจ้ง และจากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นโล่งเตียน ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนทุกวันนี้
ตำนานดังกล่าวทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำ “ท่าเตียน” มาเป็นกิจกรรมหนึ่งในการกระตุ้นยอดขายการท่องเที่ยวในประเทศไทย
@รองผู้ว่าฯททท.เน้นสืบค้นอัตลักษณ์ท่าเตียน
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Tha Tien Fest: ท่าเตียนเฟส” ภายใต้ แนวคิด “คิดถึง สืบสาน เสน่ห์” พร้อมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงวัฒนธรรมด้านอาหารและสินค้าชุมชน รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากขยะในแหล่งท่องเที่ยว ณ ลานอัฒจันทร์กลางแจ้ง มิวเซียมสยาม และชุมชนท่าเตียน กรุงเทพมหานคร
“ททท. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับโมเดลบีซีจี (BCG) โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่ามีความหมาย (Meaningful Travel) และมุ่งสู่ความยั่งยืนให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมนำนโยบายวัฒนธรรมที่มีศักยภาพเป็นซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ในเรื่องของ Food อาหารท้องถิ่น และ Festival การจัดงานเทศกาล มาผนวกรวมกัน โดยจับมือกับพันธมิตร อาทิ ”เกรทเทอร์ กู้ด ทราเวล วิชุลดา โกกรีน บุ๊คกิ้ง (Greatter Good Trawell WISHULADA GoGreen booking) และ Muvmi เพื่อร่วมค้นหาสืบสานอัตลักษณ์ชุมชนท่าเตียน ผ่านการกระบวนการพัฒนาสร้างตราสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว (Destination Branding) และจัดกิจกรรมโชว์เคส (Showcase) ภายใต้งาน “Tha Tien Fest : ท่าเตียนเฟส” เพื่อเป็นต้นแบบในการสืบค้นอัตลักษณ์ และหาความเห็นไปได้ในการสนับสนุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงสู่การพัฒนาบริบทพื้นที่ต้นแบบสู่แหล่งท่องเที่ยว พร้อมสร้างความตระหนักด้านการสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย สร้างและรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่” รองผู้ว่าฯ ททท. กล่าว
@ททท.หวัง “ท่าเตียนเฟส” จุดประกายกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวใน กทม.
ททท.จึงเลือกชุนชนท่าเตียนเป็นพื้นที่ในการศึกษาและจัดงาน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดดเด่นทางสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ประกอบกับพื้นที่เป็นย่านชุมชนเมืองเก่าแก่ในเขตพระนคร ใกล้กับแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาพัฒนาให้มีความโดดเด่นทางการสื่อสาร เพื่อนำมาส่งเสริมและต่อยอด ทางการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เดินทางมาเยี่ยมชมและสัมผัสประสบการณ์ โดยการนำเสนอผ่าน 3 แนวคิดสำคัญ ด้วยคำว่า คิดถึง สืบสาน และเสน่ห์
คำว่า “คิดถึง” หมายถึง การสะท้อนวัฒนธรรมและชีวิตดั้งเดิมที่หาได้ยาก ชวนให้คิดถึงวันวานของย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ สืบสาน หมายถึง ความงดงามของวัฒนธรรม วิถีชีวิต การสืบสานเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเสน่ห์ หมายถึง ความผสมผสานที่แตกต่างด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว สามารถสะท้อนถึง เสน่ห์กลิ่นอายความเป็นไทย จีน ญวน มอญ และตะวันตก ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวจึงถูกหล่อหลอมเป็นความหลากหลายที่ลงตัว ด้วยการผสมผสานของพหุวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนแนวคิด ค่านิยม และศิลปะที่มีอยู่ ในทุกจุดของย่านชุมชนท่าเตียน โดยผู้เข้ามาร่วมงานจะได้สัมผัสกับประสบการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วย
กิจกรรม Tha Tien Fest Grand Opening Event เปิดตัวตราสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนท่าเตียน และ Tha Tien Exhibition ผ่านการนำเสนอเรื่องราวชุมชนด้วยการเล่าเรื่องผ่านรูปภาพ บูธจัดแสดงวัฒธรรมด้านอาหารและสินค้าของชุมชน “Tha Tien Fest - Food & Shop” จำนวนมากกว่า 20 ร้านค้า ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จากการศึกษา Brand Identity อัตลักษณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง
ภายในงานมุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยออกแบบ และสร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยว “โลว์ คาร์บอน วอล์กกิ้ง รูท” (Low Carbon Walking Route) จำนวน 3 เส้นทาง คือ คัลเจอร์รัล วอล์กกิ้ง รูท (Cultural walking route) ฟู้ดดี้ วอล์กกิ้ง รูท (Foodie walking route) และ มูเตลู วอล์กกิ้ง รูท (Mutelu walking route) พร้อมกันนี้ได้สร้างสรรค์และจัดแสดงผลงานศิลปะจากขยะในแหล่งท่องเที่ยว (Trash Art Installation) ภายใต้แนวคิด “กาบกระเบื้องแห่งรากฐานท่าเตียน” (Tha Tien Royal Tile Cladding Bench Installation Art) ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลท์สำคัญภายในงาน โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุรีไซเคิลที่มาจากขยะในชุมชนโดยแบรนด์ “วิชชุลดา” (WISHULADA) ศิลปินผู้เปลี่ยนขยะเป็นงานศิลป์ เพื่อเป็นการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวอันทรงคุณค่าและมีความหมายในการร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการพัฒนา
“ททท. คาดหวังว่า การสร้างสรรค์อัตลักษณ์ชุมชนผ่านการสื่อสารตราสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวด้วยการจัดงาน “Tha Tien Fest : ท่าเตียนเฟส” จะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกิดการเดินทางท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงของการจัดงานได้เป็นอย่างดี” รองผู้ว่าฯททท.กล่าว
“ท่าเตียน” จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยง “ตำนานบอกเล่า” ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นนำไปสร้างภาพยนตร์สำหรับเด็กเชื่อมโยงกับยักษ์วัดแจ้งวัดโพธิ์มาแล้ว ในชื่อ “ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ” ใน พ.ศ. 2517 เพราะฉะนั้นการปลุกยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ให้ตื่นเพื่อสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับเวลา รวมทั้ง “ยักษ์” ในทางความเชื่อยังหมายถึง “ท้าวเวสสุวรรณ” ซึ่งเป็นกษัตริย์ของยักษ์เป็นหนึ่งในท้าวผู้ยิ่งใหญ่ของเทวดาในชั้นจตุโลกบาล มีฤทธิ์ทำให้สมหวัง และคุ้มครองโลกมนุษย์ เรียกว่า ททท.สามารถทำให้ความเชื่อของไทยและตำนานท่าเตียนมาเชื่อมโยงกันซึ่งเป็นหนึ่งใน “ซอฟท์ พาวเวอร์” โดยไม่รู้ตัว - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี