นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ได้มีการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) หรือ “โดรน” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมงานเทศกาลเฉลิมฉลองแข่งเรือมังกรในรูปแบบใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยจะเห็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าว ปัจจุบันไม่เพียงแต่โดรนจะสร้างสีสันและความประทับใจให้กับเทศกาลงานต่างๆแล้ว สำหรับในประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีการนำเทคโนโลยีโดรนมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วประเทศ โดยล่าสุดได้มีการนำโดรนไปบินโชว์ด้วยการแปรรูปเป็นตัวอักษรและภาพต่างๆให้กับนักเรียนโรงเรียนพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เรียกเสียงฮือฮาให้กับเด็กๆไม่น้อย
@เด็กๆพิบูลมังสาหาร 3,900 คน ตื่นตาตื่นใจโดรนแปรอักษร
“เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ได้ประกาศความยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ด้วยการโรดโชว์สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยทั่วประเทศ และ ล่าสุดกับการโชว์เทคโนโลยีดังกล่าวในรอบสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 นั้น จัดเป็นครั้งที่ 4 ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ วช. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีโดรนแปรอักษรที่ทันสมัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ โดยการจัดอบรมในครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566 โดยมีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม มากกว่า 100 คน ซึ่งสมาคมฯ เน้นสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”
“ภายในงานมีเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรมโดรนแปรอักษรครั้งนี้ จำนวนกว่า 3,900 คน โดยมีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานโดรนจากการเขียนโค้ด และ การแสดงโปงลางจากคณะนักเรียนโรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี และในช่วงค่ำมีการนำโดรนแปรอักษร จำนวน 300 ลำ บินขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน โดยนำภาพจาก ซอฟท์แวร์ (software) ที่มีการพัฒนาออกแบบของเยาวชนที่เข้ารับการอบรม เป็นภาพแสดงถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวอุบลราชธานี สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
รวมทั้ง ในโอกาสต่อไปทาง “สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ” มีการขอทูลเกล้ารางวัลถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ รวมทั้งเป็นรางวัลสำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเดินสู่เส้นทางวิชาชีพการเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในอนาคต
@ “วช.” หนุน “โดรน” ส่งต่อแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย
ขณะที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษร เพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้ง 4 ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ.2566 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ พร้อมนี้ นายพุฒิเมธ พวงจันทึก ผู้อำนวยการโรงเรียนพิบูลมังสาหาร นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
“วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการใช้โดรนและการเขียนซอฟท์แวร์ (software) ในภูมิภาคต่างๆของไทย จึงเป็นการพัฒนาและนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรน มาใช้ประโยชน์และนำไปต่อยอดในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการถ่ายภาพทางอากาศ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างโดรนแปรอักษร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ให้กับนักเรียนและนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวภายในงาน
สำหรับโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดยการสนับสนุนจาก วช. มีการจัดการอบรมไปแล้วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ มีการใช้แพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ในอนาคต และจะมีการเฟ้นหาผู้ชนะในการแข่งขันโดรนแปรอักษรจากตัวแทนที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ในระดับประเทศต่อไป
@ “ไทย” ใช้โดรนเสริมแกร่งความมั่นคงของชาติ
ด้านนาวาอากาศเอกทรงศักดิ์ ธรรมสาร นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำเสนาธิการทหารอากาศ กล่าวว่าอากาศยานไร้คนขับทางทหารถูกเรียกว่า “ยูเอวี” หรือ “UAV” (Unmanned Aerial Vehicle)มีบทบาททางทหาร โดยยูเอวีที่ใช้ในกองทัพจะเข้ามาทดแทนการทำงานของทหาร โดยการบินต่อไปจะไม่ใช้ทหารในการขึ้นบินแต่จะคอยควบคุมแทน เช่น เครื่องบินรบ หรือ เครื่องบินขับไล่ โดยบทบาทอากาศยานไร้คนขับทางการทหารและความมั่นคง โดยภารกิจทางด้านการทหาร มีการบินลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ การบินโจมตีทางอากาศ การบินสนับสนุนการรบ รวมทั้งใช้ในภารกิจทางลับ หรือ ภารกิจที่เป็นอันตราย การบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ปัจจุบัน กองทัพอากาศ ได้ตั้งกองบินขึ้นใหม่ ที่จ.สระแก้ว โดยเป็นกองบินที่เป็นอากาศยานไร้คนขับโดยเฉพาะ
แต่ “เสนาธิการทหารอากาศ” ยอมรับว่า ผลกระทบจากการบินที่ผิดกฎหมายของอากาศยานไร้คนขับ ได้แก่ การบินถ่ายภาพบริเวณสนามบิน ที่ตั้งทางทหาร หรือ พื้นที่หวงห้ามทางราชการ การโจมตีเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนผลกระทบด้านความปลอดภัย ได้แก่ การบินรบกวนวงจรการบิน และชนกับอากาศยานบริเวณสนามบินและแนวร่อน หรือการชนกับอากาศยานที่บินในห้วงอากาศ การบินละเมิดสิทธิพื้นที่ส่วนบุคคล คลื่นสัญญาณควบคุมอากาศยานไร้คนขับผิดกฎหมายรบกวนสัญญาณคลื่นความถี่สื่อสาร
เพราะฉะนั้น อนาคตของเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับอย่าง “โดรน” ที่จะเป็นเทคโนดลยีสำคัญในการต่อยอดให้เกิด “แรงบันดาลใจ” กับเยาวชนไทยนั้นยังไปได้อีกไกล เพราะหากสามารถเขียนโค้ดเอไอของเทคโนโลยีโดรนได้ การจะก้าวสู่เส้นทางนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของเด็กๆไทยก็เห็นโอกาสตั้งแต่เล็ก และ สามารถมีเวลาในการพัฒนาทักษะของตนเองหลังได้รับแรงบันดาลใจแล้ว ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจว่า วันนี้เยาวชนไทยตื่นตัวกับการเรียนรู้เทคโนโลยี เห็นได้จากความตื่นเต้นในการมีประสบการณ์เข้าชมโดรนแปรอักษร และ ให้ความสนใจว่า โดรนมีการทำอย่างไร ทำไมถึงบินได้ ซึ่งจะนำมาสู่การเรียนรู้ครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ สู่เส้นทางการเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูล
https://www.xinhuathai.com/vdo/366144_20230621
http://learn.gistda.or.th/2018/09/24/how-do-drones-work-and-what-is-drone-technology/
https://www.posttoday.com/post-next/innovation/697362