แม่ชี อุไลวรรณ ถุงเงิน อายุ 64 ปีผู้ดูแล "แม่ช่อมะขามคนงามบ้านป่าโมก" และ "พ่อขนมต้ม" ยอดนักมวยไทยสมัยกรุงที่อยุธยาเป็นราชธานี ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดป่าโมกวรวิหาร ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ได้เล่าเรื่องราว "แม่ช่อมะขามคนงามบ้านป่าโมก" และ "พ่อขนมต้ม" ให้ฟังว่าที่ผ่านมาจะมีหญิงสาวจำนวนมากเดินทางมากราบขอพร ความรัก และโชคลาภ รวมทั้งหน้าที่การงานต่อ "แม่มะขาม"
หลังจากขอได้สมปรารถนาแล้วก็จะนำเครื่องสำอางแต่งหน้าทาเล็บมาถวายพร้อมชุดไทยและมีดดาบ "คนที่มานอกจากจะมาขอพร ขอความรัก ขอให้หน้าที่การงานมีความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังมีการขอโชคลาภจากแม่ช่อมะขาม และพ่อขนมต้มด้วย" ส่วนผู้ชายจะมาไหว้ขอพร "พ่อขนมต้ม" ส่วนมากจะเป็นนักมวย เดินทางมากราบไหว้ และเมื่อสมปรารถนาแล้ว ก็จะนำเหล้าขาว มะขามเปียก พร้อมเกลือมาถวาย พร้อมนวมที่ใช้ชกมวย และกางเกงนักมวย
"เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา มีหญิงไทยที่ได้สามีเป็นชาวต่างชาติได้ใช้กล้องฟิมล์ถ่ายภาพรูปแม่ช่อมะขาม ที่พบเห็นในทีวีและเมื่อนำไปล้างพบว่าเป็นภาพคล้ายหญิงสาวดังภาพจริงจึงได้นำมาใส่กรอบถวายไว้ที่บริเวณศาลา แม่ช่อมะขาม" แม่ชี อุไลวรรณ ถุงเงิน เผย
สำหรับ "นายขนมต้ม" เป็นนักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา เกิดที่ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกพม่ากวาดต้อนไปเชลยในระหว่างเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นายขนมต้ม มีชื่อเสียงในเชิงมวยเป็นที่เลื่องลือ ในพงศาวดารบันทึกว่า เมื่อพระเจ้ามังระ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า "นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก"
พระเจ้ามังระ จึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระ ได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้ม ชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้ามังระ ทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า "คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้"
ส่วน "เจ้าแม่ช่อมะขามคนงามป่าโมก" นั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี "แม่ช่อมะขาม" เป็นหญิงงามที่ร่วมรบกับชาวป่าโมก ออกสู้กับศึกพม่า สละชีพเพื่อแผ่นดินไทย สมเป็นสตรีไทยใจหาญ แห่งบ้านป่าโมก เป็นคู่ใจของนายขนมต้ม ผู้สร้างตำนานมวยไทยคราวพม่ายกกองทัพผ่านป่าโมก เพื่อไปตีกรุงศรีอยุธยา "แม่ช่อมะขาม" และ "พ่อขนมต้ม" เป็นผู้นำชาวบ้านต่อสู้กับพม่าจนตัวตาย สละชีพเพื่อรักษาชาติ สมกับเป็นวีรไทยใจใจกล้าของชาวป่าโมก จนเป็นตำนานเล่าขานตราบทุกวันนี้
ต่อมาพระป่าโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหาร เป็นผู้นำหล่อเจ้าแม่ช่อมะขาม เมื่อวันที่ 18 เดือนกันยายน พ.ศ.2541 ตรงกับวันแรม 9 ค่ำเดือน 7 ปีขาล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 42,000 บาทเป็นอนุสรณ์ของชาวป่าโมก เครื่องสังเวย ขนมต้ม ไข่ต้ม ช่อมะขาม หมากพลู ลิเก ละครรำ ชุดไทย ดาบ เมื่อใดมีจิตศรัทธา จะสมปรารถนาทุกประการ - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี