ชาวบ้านละลมเวง ตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย หนีพิษโควิด-19 จากกรุงเทพฯรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เลี้ยงกบและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบขาย สร้างรายได้หลักหมื่นถึงแสนบาทต่อเดือน ชูเมนูยอดฮิต “กบยัดไส้ หรือ อัง-แกบ-บอบ” และสินค้าแปรรูปอื่นอีก มีทั้ง กบแดดเดียว น้ำพริกกบ หนังกบทอดปรุงรส เชิญชวนซื้อเป็นของฝากช่วงปีใหม่ 2567
ชาวบ้านละลมเวง หมู่ที่ 6 ต.ไพศาล อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์โดยนางสำลี ขำพร้อม อายุ 45 ปีได้รวมกลุ่มญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจำนวน 7 คนจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสัตว์น้ำบ้านละลมเวง พร้อมขอกู้เงินในโครงการกู้เงินกองทุนบทบาทสตรี กับทางพัฒนาชุมชนอำเภอประโคนชัยจำนวน 150,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนในการซื้ออุปกรณ์และปัจจัยการผลิต เพื่อเลี้ยงกบขาย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงชีพให้กับตนเองและครอบครัว
หลังจากก่อนหน้านี้นางสำลี และสมาชิกกลุ่มฯที่แต่เดิมเคยประกอบอาชีพค้าขายและขายแรงงาน อยู่ที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อ โควิด-19 เมื่อปี พ.ศ.2562 จนต้องกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ทำให้ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ แต่ด้วยพื้นเพทางบ้านประกอบอาชีพเกษตรกร จึงได้เริ่มคิดหาอาชีพที่พอจะทำได้
ต่อมา สำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามาให้การสนับสนุน และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมงท้องถิ่น และการแปรรูปอาหารผลิตภัณฑ์ประมง โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ ได้หลายเมนู อาทิ กบยัดไส้ย่าง ที่ภาษาเขมรถิ่นไทยเรียกว่า “อัง แกบ บอบ”, กบแดดเดียว น้ำพริกกบ และหนังกบทอด เป็นต้น โดยใช้ชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชื่อว่า “กบโอเล่ อ๊บอ๊บ” ทำให้จากทางกลุ่มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหลายหมื่นบาท ถึงหลักแสนบาทต่อเดือน จากเดิมที่ขายเพียงกบเป็นอย่างเดียว ที่มีรายได้เข้ากลุ่มประมาณหลักหมื่นบาทต่อเดือน
นางสำลี ขำพร้อม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสัตว์น้ำบ้านละลมเวง บอกว่า เดิมตนเองทำงานเป็นแม่ค้าขายกับข้าวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่พอถึงช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ขายไม่ค่อยดี จึงทำให้รายได้ไม่พอใช้ใช้จ่าย จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักอยู่ที่บ้านเกิด โดยมาขายของตามตลาด แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี จึงเลี้ยงคิดทำอาชีพเสริม โดยรวมกลุ่มกับญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกลับมาอยู่บ้าน รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อกู้เงินมาลงทุนเลี้ยงกบในกระชังบก
นางสำลี บอกต่อว่า เริ่มแรกก็จับกบเป็นชั่งขายกิโลกรัมทั่วไป ต่อมาจึงมีแนวคิดอยากมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทางสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ ที่มีทั้งกบแดดเดียว หนังกบทอดปรุงรสชาติต่างๆ รวมถึงกบยัดได้ หรือที่ภาษาเขมรถิ่นไทยเรียกว่า “อัง แกบ บอบ” ที่เป็นเมนูอาหารพื้นถิ่นของคนอีสานใต้ ในการแปรรูปและถนอมอาหาร ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทำให้ทางกลุ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับ สูตรเมนูกบยัดไว้ หรือ อัง แกบ บอบ ของทางกลุ่มฯนั้น มีส่วนผสมและกรรมวิธีการทำ ดังนี้ นำกบมาถลกหนังออก โดยหนังกบจะนำไปตากแห้ง แล้วนำไปทอดปรุงรสขายอีกหนึ่งเมนู เมื่อถลกหนังกบแล้ว ตัดหัวและขากบออก จากนั้นนำเนื้อกบไปสับพอหยาบ แล้วนำไปคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรส และนำไปคลกเคล้ากับเครื่องเทศ ที่มีมะพร้าวขูด หอม กระเทียม กะเพรา พริกแห้ง ตะไคร้ จนเข้ากันดีแล้ว นำไปยัดท้องกบ หลังจากนั้นนำไปย่างด้วยเตาไฟอ่อนๆ เพราะเมื่อเวลาย่างเครื่องเทศต่างๆ รวมถึงน้ำมันมะพร้าวที่ออกมา จะส่งกลิ่นหอม เย้ายวน จึงทำให้เป็นที่ถูกปาก ถูกใจของผู้บริโภคยิ่งนัก หากได้นำไปเป็นกับแกล้ม หรือทานกับข้าวก็ยิ่งดีใหญ่
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสัตว์น้ำบ้านละลมเวง ได้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ และทำบรรจุภัณฑ์จำหน่าย มีทั้งกบยัดไส้ หรืออังแกบบอบ ที่มีทั้งแบบดิบที่ให้ลูกค้านำไปย่างหรือทอดเอง และแบบที่ย่างแล้ว สามารถนำไปอุ่นเวฟรับประทานต่อได้เลย รวมทั้งยังมีเมนูน้ำพริกกบ ,กบแดดเดียว ,หนังกบแดดเดียวทอดปรุงรส ไว้จำหน่ายให้กับลูกค้าด้วย โดยปัจจุบันทางกลุ่มได้นำไปจำหน่ายอยู่ที่ ตลาดสดเทศบาลตำบลประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ และออกบูธกิจกรรมในงานต่างๆ หรือหากผู้บริโภคท่านใดสนใจ ที่จะซื้อนำไปบริโภคหรือเป็นของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ คุณสำลี โทรศัพท์หมายเลข 099 0036 985
นายปรีชา พาชื่นใจ ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ มีแผนการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกัน เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาในการขับเคลื่อนเป้าหมายการสร้างรายได้สู่ชุมชน จึงได้เข้าไปให้การส่งเสริมการเลี้ยงกบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกบ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสัตว์น้ำบ้านละลมเวง ตั้งแต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การเลี้ยง การแปรรูป การจำหน่าย การให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาความสะอาดฟาร์มกบ ความสะอาดของน้ำ ที่ใช้เลี้ยงกบ รวมไปถึงการควบคุมโรค เพราะกบถือเป็นสัตว์เลี้ยง ที่สามารถพัฒนาส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร สามารถขายได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ลูกอ๊อดไปจนถึงช่วงที่กบโตเต็มวัย และยังสามารถนำไปแปรรูป เพื่อยกระดับเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีกด้วย - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี