วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
น้อมรำลึก 167 ปีชาตกาล'พระอุบาลีคุณูปมาจารย์'ผู้สอนธรรมะแก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกาย

น้อมรำลึก 167 ปีชาตกาล'พระอุบาลีคุณูปมาจารย์'ผู้สอนธรรมะแก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกาย

วันพุธ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567, 13.33 น.
Tag : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ชาตกาล วัดบรมนิวาส จันทร์สิริจันโท
  •  

ประวัติและปฏิปทา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) 

วันนี้วันที่ 20 มีนาคม 2567 น้อมรำลึก 167 ปี ชาตกาล พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจันโท) วัดบรมนิวาส เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผู้เป็นจอมปราชญ์แห่งเมืองดอกบัวงามอุบลราชธานี ท่านเป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และมณฑลกรุงเทพ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ และวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งในฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในภาคอีสาน ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูปรวมถึงพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่าด้วย


@ชาติกําเนิด และชีวิตปฐมวัย

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) รูปนี้ นามสกุล ศุภสร เกิดใน รัชกาลที่ 4 ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2399 เป็นบุตรหัวปีของหลวงสุโภรสุประการ กรมการเมืองอุบลราชธานี นางสุโภรสุประการ (แก้ว สุภสร) เป็นมารดา ชาติภูมิเดิมอยู่บ้านหนองไหล อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุได้ 13 ปี บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสํานักเจ้าอธิการม้าว เทวธุมมี วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี

@ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

ถึงรัชกาลที่ 5 อายุ 19 ปี ลาสิกขาบทจากสามเณรมาอยู่กับบิดามารดา 3 ปีจึงอุปสมบท ที่วัดศรีทอง เมื่อปีฉลู พ.ศ.2420 เจ้าอธิการม้าว เทวธุมมี ซึ่งเป็นลัทธิวิหาริกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอุปัชฌายะ อุปสมบทแล้วจําพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคล แต่ไปศึกษาเล่าเรียนในสํานักพระอุปัชฌายะ ต่อมาอีก 4 พรรษา แล้วจึงมาอยู่ที่ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ในสํานักพระปลัดผา ถือนิสสัยในพระอริยะมุนี (เอม) ศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระมหาดิษ และพระอาจารย์บุษย์ ปีเศษ แล้วไปศึกษาในสํานักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ภายหลังย้ายมาอยู่วัดกันมาตุยาราม แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ครั้นพระอริยะมุนี (เอม) และ พระปลัดผา มรณภาพแล้ว จึงย้ายไปอยู่ที่วัดบุบผาราม จังหวัดธนบุรี ในสํานักพระสาสนโสภณ (อ่อน) แต่ยังเป็นเปรียญฯ

ถึงปีระกา พ.ศ.2428 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ครั้งแรกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค แล้วลาไปปฏิบัติอุปัชฌายะที่จังหวัดอุบลราชธานี 2 พรรษา ระหว่างนี้ เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจําปาศักดิ์ สร้างวัดมหาอํามาตย์ ถวายพระสงฆ์ธรรมยุต จึงอาราธนาไปเป็น เจ้าอาวาสวัดนั้น ครั้นถึงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2435 ทรงพระกรุอยู่ที่วัดพิชัยญาติการาม 1 พรรษา แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ต่อจากนี้ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงโปรดให้ไปจัดการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีได้ 2 ปีเศษ

ถึงปีกุน พ.ศ.2442 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต แล้วโปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน จึงกลับไปอยู่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี 5 พรรษา ภายหลังขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเทพศิรินทร์บ้าง ไปธุดงค์บ้าง จนถึงปีมะโรง พ.ศ.2447 จึงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดบรมนิวาส ถึงปีระกา พ.ศ.2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระราชกวี

ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ต่อมาถึง พ.ศ.2458 ได้แต่งหนังสือเทศน์เห็นเป็นอันไม่ต้องด้วยรัฐประศาสนโยบาย บางประการอันเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร จึงถูกถอดจากสมณศักดิ์คราวหนึ่ง ครั้นถึง วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2459 ทรงพระกรุณาโปรดกลับตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมธีรราชมหามุนี มีสมณศักดิ์เสมอชั้นเทพและโปรดให้ครองวัดบรมนิวาสตามเดิม ถึงปี พ.ศ.2566 โปรดให้เลื่อนเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เสมอตําแหน่งชั้นธรรม ครั้นถึง พ.ศ.2468 ทรงพระกรุณาโปรดให้ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตําแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานาสถานราชอมนีย์ สาธุการธรรมากร สุนทรศีลาทขันธ์” มีฐานานุกรรม 6 รูป คือ พระครูปลัดนิพันธโพธิพงศ์ 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูธรรมธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้เคยรับราชการทางคณะสงฆ์ในหน้าที่สําคัญๆ หลายตําแหน่ง คือ เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครจําปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี มณฑลกรุงเทพฯ

การปกครอง ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยงดงามในการคุ้มครองศิษยานุศิษย์เป็นต้นว่าผู้น้อย ทําสิ่งใดในหน้าที่ของท่าน ถ้าทําถูกต้องยกให้เป็นความดีความชอบของผู้น้อย ถ้าบางประการเหลือกําลังทําพลาดผิดไปรับเอาเสียเอง ไม่ให้เป็นความผิดตกแก่ผู้น้อย และเป็นผู้มีใจกว้างขวางเฉลี่ยลาภผลเกื้อกูลแก่สพรหมจารี ไปไหนอยู่ไหน ยังคุณงามความดีให้เกิดแก่หมู่เป็นคณโสภณะผู้ทําหมู่ให้งามแท้ ไม่ใช่คณปโทสะผู้ทําร้ายหมู่ และไม่ใช่คณปูรกะผู้สักแต่ว่าทําให้เต็มตามจํานวนของหมู่ และเป็นผู้ฉลาดในเชิงช่างเปลี่ยนภาพให้ยืนอยู่ในหลัก 3 หลัก คือ เย็น ร้อน และอุ่น เย็นก็ไม่ถึงแก่บูด ร้อนก็ไม่ถึงแก่ไหม้ให้เป็นไปพอเหมาะแก่เหตุการณ์ คือ อุ่น ใส่ใจในการป่วยเจ็บ ไม่ทอดธุระในการเกื้อกูลด้วยปัจจัยลาภทั้ง 4 ดังนี้ เป็นตัวอย่างจึงเห็นว่าการปกครองดี

การเล่าเรียน ท่านผู้นี้เป็นผู้ใส่ใจในการศึกษาของกุลบุตรดีมากทั้งภาษาบาลีทั้งภาษาไทย ดังเมื่อยังเป็นเปรียญขึ้นไปจังหวัดอุบลราชธานีคราวแรก แม้แต่เพียงเที่ยวตําบลต่างๆ ถ้าไปนอนค้างอ้างแรมต้องให้ศิษย์นําแบบเรียนไปด้วยว่างกิจอื่นก็สอน ที่สุดพักใต้ต้นไม้ตามป่าบางคราวก็สอน ทั้งนี้ชี้ให้เห็นในสมัยต้น ครั้นสมัยต่อมาท่านได้ตั้งอยู่ในภาวะเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งจัดให้เป็นกิจลักษณะขึ้นโดยลําดับ เช่น เมื่ออยู่เมืองนครจําปาศักดิ์ ตั้งโรงเรียนขึ้นที่ วัดมหาอํามาตย์ (วัดนี้พระยามหาอํามาตย์ หรุ่น กับเจ้านครจําปาศักดิ์ สร้าง) ให้ชื่อว่า “โรงเรียนบุรพาสยามเขตร” สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย ครั้นกาลต่อมาได้เข้ามากรุงเทพฯ แล้วกลับออกไปอยู่อุบลก็ได้ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคม ขึ้นที่วัดสุปัฏน์ สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย ครั้นได้ดํารงตําแหน่งเจ้าคณะมณฑลขึ้น ก็จัดการศึกษาทั่วไปจนได้เข้ามาดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ก็จัดการศึกษาของกุลบุตรให้เจริญดัง ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ถึงวัดสิริจันทรนิมิตรที่เขาบ่องาม (บัดนี้สําเนียงได้กลายไปเป็นเขาพระงาม) จังหวัดลพบุรี และวัดเจดีย์หลวงนครเชียงใหม่ ก็จัดการศึกษาของกุลบุตรให้รุ่งเรืองขึ้นโดยควรแก่ฐานะ และข้อที่ลืมเสียมิได้นั้นคือ เมื่อท่านมากรุงเทพฯครั้งหนึ่งคราวใดเป็นต้องนํากุลบุตรเข้ามาทุกคราวเพื่อให้ได้เล่าเรียนไม่คิดว่าเหนื่อยยาก ทั้งนี้จึงเห็นว่าใส่ใจในการศึกษาของกุลบุตร

การสั่งสอน ท่านผู้นี้เป็นผู้ใส่ใจในการสั่งสอน ไม่เลือกชั้นเลือกปูนมุ่งแต่ให้ผู้ที่ได้รับคําสอน บรรลุประโยชน์โดยควรแก่ภาระของตน ใกล้หรือไกลไม่ว่าอุตสาหะสัญจรไปในพระราชอาณาจักร แทบทุกมณฑล แม้นอกพระราชอาณาจักรก็ยังสัญจรไปถึงเมืองเชียงตุง (คือเชียงถุงหรือธง) อยู่ไหนไปไหนถ้ามีโอกาสเป็นต้องแนะนําสั่งสอนแม้ที่สุดป่วยอยู่ในครั้งสุดท้ายนี้ ก็ยังแสดงธรรมสั่งสอน ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เป็นผู้ฉลาดในเชิงชี้ให้ผู้ฟังเห็นเหตุผลแจ่มแจ้งในอรรถธรรมเข้าใจ ชักชวนให้อาจหาญ และให้ร่าเริงในสัมมาปฏิบัติ จัดเป็นธรรมกถูกเอกมีเชาวนะปฏิภาณว่องไว เฉียบแหลม วิจารณ์อรรถธรรมอันลุ่มลึกให้แจ่มแจ้ง ใช้แต่สั่งสอนด้วยมุขเท่านี้หามิได้ ยังแต่งไว้ ทั้งคําร้อยแก้วทั้งคํากาพย์ ทั้งให้บันทึกไว้มากมายถึงท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว หนังสือทั้งปวงนี้ยังจะ สั่งสอนโลกได้ยึดยาว ทั้งนี้นับว่า เป็นผู้ใส่ในใจในการสั่งสอนดีมาก

การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านผู้นี้เป็นผู้พอใจในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุมากมาย แต่จะนํามาซึบางประการส่วนที่สําคัญเป็นต้นว่า การปฏิสังขรณ์ในวัดบรมนิวาส คือ พระอุโบสถแล พระอสีติมหาสาวก พร้อมทั้งวิหารคดและพระพิชิตมารซึ่งเป็นพระประธานในศาลา อุรุพงษ์ คือเป็นพระลีลาเก่าเชิญมาจากจังหวัดราชบุรี และในวัดบวรมงคล คือพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดทั้งวิหารคด ก็ได้เป็นผู้สนับสนุนยังการปฏิสังขรณ์ให้สําเร็จ 

ส่วนการก่อสร้างในวัดบรมนิวาส เช่น โรงเรียนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย ทั้งสระน้ํา ทั้งศาลาอุรุพงษ์ ทั้งระฆัง แล หอระฆัง ตลอดถึงกุฏิทั้งสิ้นล้วนก่อสร้างใหม่เป็นตึกทั้งนั้น แต่คณะกุฏิและหอเขียวส่วนล่างอาศัย ผนังเดิม ส่วนชั้นที่ 2 ก่อใหม่ เปลี่ยนหลังคาไปตามสมัยนิยม ทั้งมีนามเจ้าของทรัพย์ประกาศไว้ แทบทุกกุฏิ ทั้งปรากฏในหนังสืออัตตประวัติของท่านด้วย นัยว่ายังไม่ปรากฏแต่หอเขียวกับหอระฆัง หอเขียวเป็นกุฏิใหญ่ในวัดนี้หม่อมเจ้าหญิงเมาลี หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า หม่อมเจ้าหญิงโอฐอ่อน หม่อมเจ้าหญิงคําขาว และหม่อมเจ้าหญิงรัมแขสกุล ปราโมทย์ ณ อยุธยา ทรงสร้างด้วยสามัคคี ธรรมแห่งคณะญาติ และหอระฆังนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริวัฒน์ทรงสร้างทั้ง ระฆังด้วย แลได้เป็นผู้ประเดิมสร้างวัดเสน่หานุกูล จังหวัดนครปฐม 

ส่วนวัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรีนั้น (วัดนี้พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขนานนาม) สิ่งที่สําคัญที่ก่อสร้างคือ พระพุทธปฏิมากร อันมีนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11 วา 1 ศอก สูงทั้ง รัศมี 18 วา พระอุโบสถทั้งพระประธานและพระกัจจายน์ ทั้งวิหาร ตลอดถึงถ้ําและกุฏิ ศาลา ทั้งบ่อน้ํา ทั้งได้นําในการก่อสร้างมณฑป วัดบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรีและในตอนอวสานสมัยนี้ก็ได้ พร้อมด้วยท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายซื้อวิหารเก่าที่วัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่

การปฏิบัติ ท่านผู้นี้เป็นผู้ยินดีในทางสัมมาปฏิบัติจัดเข้าในจํานวนที่เรียกว่า สันโดษมักน้อย ไม่ค่อยสะสมบริขารเกินกว่าเหตุ ใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ประกอบด้วยธุดงควัตรเที่ยวรุกขมูลแทบทุกปี ขึ้นเขาลงห้วยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ใคร่ธรรม ใคร่วินัย รักษาขนบธรรมเนียมของสมณะที่ดีไว้มั่นคง สังเกตข้อปฏิบัติไม่มีหย่อน ประหนึ่งมีสติสัมปชัญญคุณทุกเมื่อ เพราะมีความเยือกเย็น เป็นผลให้แลเห็น อาจสันนิษฐานได้ว่าคงรู้เห็นอรรถธรรมในเพราะสัมมาปฏิบัติเป็นแม่นมั่น ทั้งมีความอาจหาญอดกลั้นทนทานต่อเหตุการณ์ ยิ่งนักตัวอย่างที่จะพึงชี้ให้เห็นดังเมื่อป่วยครั้งสุดท้าย นี้แม้ถึงโรคาพาธอันมีพิษเผ็ดแสบครอบงําย่ำยีบีฑาประกอบด้วยทุกขเวทนาอันกล้าหยาบ เห็นปาน นั้นก็ไม่แสดงอาการที่ผิดแผกรักษาความเป็นปกติไว้ด้วยดีมิหนําซ้ํายังให้โอวาท แก่ผู้เยี่ยมเยือนและผู้ปฏิบัติเสียอีกยังกล่าวถ้อยคําอันเป็นที่จับใจบ่อย ๆ ว่า 

“เราเป็นนักรบ ได้ฝึกหัดวิธีรบไว้ก็ไม่เสียที ได้ผจญต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมจริงๆ ไม่เหมือนนักรบอื่นฝึกหัดวิธีรบไว้แล้ว บางเหล่า ตายเสียเปล่าก็ไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิ ดังนี้เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงจัดว่าเป็นผู้อาจหาญอดกลั้นอดทนทาน ไม่สะทกสะท้านต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมแม้ถึงในอวสานสมัยจวนแตกดับก็มีสติสัมปชัญญคุณรอบคอบไม่หลงใหลไม่ฟันเฟือน ไม่กระวนกระวาย แตกดับไปด้วยความสงบเงียบ หายดุจหลับไป” ฉะนั้น ด้วยเหตุผลทั้งปวงนี้จึงว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติได้ผลโดยควรแก่ภาวะแท้

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 สิริอายุ 75 ปี 121 วัน ได้รับพระราชทานไตรแพรครอง 1 ไตร โกศโถและชั้นรอง 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คันประกอบศพเป็นเกียรติยศ ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศกนั้น ณ วัดบรมนิวาส

คัดลอกจากเพจ พระกรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

จับตาเคาะ 15,000 ล้าน! 'คลัง'จ่อชง ครม.ออกซอฟท์โลน 3 จว.ชายแดนใต้

ผิดสัญญา! 'ปูติน-ทรัมป์'เบี้ยวโต๊ะเจรจาสงครามยูเครน ทั้งที่เสนอเอง

ด่วน!เกิดเหตุ‘ชายคลั่ง’จับตัวประกันย่าน‘ถ.อิสรภาพ’ ยิงสวนตำรวจ

'นายกฯ'มั่นใจ'ทีมไทยแลนด์'พร้อม 'สหรัฐฯ'ชื่นชมริเริ่มข้อเสนอน่าประทับใจ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved