สคร.9 เตือนน้ำท่วมขัง เดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำนาน ระวังโรคฉี่หนู ขณะที่ 4 จังหวัดผู้ป่วยสะสมจำนวน 68 ราย โคราช-สุรินทร์จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 2 ราย
วันนี้ (20 มิ.ย.67) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9 นครราชสีมา) ฝากเตือนประชาชนการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส” ว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่เริ่มมีพายุฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกบางแห่ง อาจมีน้ำท่วมขังจนทำให้มีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส” เนื่องจากเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ ดังนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพราะอาจติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทป้องกัน หากไม่มีรองเท้าบูท สามารถนำถุงพลาสติกที่สะอาดมาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง เมื่อลุยน้ำเสร็จให้รีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกและทำให้มีน้ำท่วมขังตามท้องไร่ท้องนา หรือบนท้องถนน ประชาชนควรระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ เนื่องจากการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย เนื่องจากโรคฉี่หนูเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่าเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดช่วงหน้าฝนและช่วงหลังน้ำลด ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของโรคฉี่หนู คือ เกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู
รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ รวมทั้งการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการของโรคฉี่หนูเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะได้ทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค
ส่วนสถานการณ์โรคฉี่หนูในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 68 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 26 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 18 ราย 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 11 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี และกลุ่มอายุ 34-44 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ อาชีพเกษตรกรรม
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือนำถุงพลาสติกที่สะอาด มาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เพราะอาจติดเชื้อโรคจากหนูและสัตว์นำโรคอื่นๆ 4.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี