วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปพิเศษ : ‘เครียด’บั่นทอนทุกวัย วาระใหญ่‘สุขภาพคนไทย’

สกู๊ปพิเศษ : ‘เครียด’บั่นทอนทุกวัย วาระใหญ่‘สุขภาพคนไทย’

วันจันทร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2567, 07.45 น.
Tag : เครียด สุขภาพคนไทย
  •  

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ “รายงานสุขภาพคนไทย” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน (เว้นเพียงปี 2547 เท่านั้น) โดยสรุปสถานการณ์สำคัญด้านสุขภาพในประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา และนำเสนอประเด็นที่ต้องจับตามองหรือต้องให้ความสำคัญอย่างมากในอนาคตหลังจากนั้น

ซึ่งฉบับล่าสุดคือ “รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567 : ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย” เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567ณ อาคารเรียนรู้สุขภาวะ สสส. ย่านงามดูพลี-สาทร กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ “สุขภาพจิต” ถูกยกขึ้นเป็น “เรื่องเด่น” ประจำปี โดย รศ.ดร.ภูเบศร์สมุทรจักร นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าความเครียดเป็นได้ทั้งความไม่เงียบ เช่นเดือดร้อนแล้วโวยวาย และความเงียบที่ภายใต้ความสงบของคลื่นลมนั้นมีความปั่นป่วนอยู่


ซึ่งสาเหตุของความเงียบ จะมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ หลายครั้งคนเราถูกสั่งสอนว่าให้เก็บกลั้นไว้อย่าแสดงออกมา โดยบอกว่าการแสดงออกถึงความเครียด คือการเผยความอ่อนแอ ล้มเหลวบกพร่อง หรือการถูกตีตราจากสังคมว่าคนคนนี้อยู่ใกล้แล้วไม่มีความสุข หรือบางคนที่ไม่แสดงออกก็เพราะไม่อยากให้คนอื่นพลอยเครียดไปกับตนเองด้วย เช่น พ่อแม่กับลูก หรือหัวหน้ากับลูกน้อง ที่ต่างฝ่ายต่างไม่อยากแสดงออกเพราะกลัวปฏิกิริยาตอบกลับไม่ว่าจะเป็นการตำหนิหรือการเป็นห่วง โดยสรุปก็คือทุกคนเก็บเงียบความเครียดกันทั้งสังคม

แต่อันตรายของการเก็บความเครียดไว้ให้เงียบ คือเมื่อเก็บไว้นานๆ ก็อาจระเบิดได้และเมื่อระเบิดแล้วภาพที่เห็นคือไม่น่าดูหรืออาจไปถึงขั้นสยดสยอง โดย “3 ปัจจัยกำหนดความเครียด” ประกอบด้วย 1.ด้านร่างกาย เช่น โรคทางกาย ความผิดปกติทางสมอง พันธุกรรม ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยก็ทำให้คนเรารู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ไม่สามารถทำในสิ่งที่อยากทำ 2.ด้านจิตใจ พื้นฐานอารมณ์ บุคลิกภาพ ความสามารถในการรับมือและจัดการปัญหา และ 3.ด้านสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดู การศึกษา สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

ทั้งนี้ พบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีคนไทยที่เป็นโรคซึมเศร้าและมีการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิต 358,267 คนเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 355,537 คน หรือเพิ่มขึ้น 2,730 คน ในจำนวนนี้เป็นคนวัยหนุ่ม-สาว อายุ 15-34 ปี มากที่สุด อย่างไรก็ตาม“ในแต่ละช่วงวัยก็มีเรื่องที่เครียดแตกต่างกัน”โดย “วัยเด็ก-วัยรุ่น” เช่น ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ความเหลื่อมล้ำถูกเลือกปฏิบัติการถูกเร่งให้เติบโตเกินวัย หรือ Hurried child syndrome

ขณะที่ “วัยทำงาน” เช่น ภาระงานและ “ภาวะหมดไฟ (Burnout)” ความเสี่ยงของอาชีพการบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และ “วัยผู้สูงอายุ” เช่น ความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่สุขภาพ รายได้สถานะทางสังคม แต่ที่น่าสังเกต คือ “ทุกช่วงวัยมีปัจจัยเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือความสัมพันธ์ในครอบครัว” สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งแหล่งของความเครียด และแหล่งที่จะรับมือกับความเครียด อาจเป็นครอบครัว

“ในเล่มยังเล่าถึงว่า ข้อมูลของความเครียดในแค่ละคน อย่างเช่นในวัยเด็กซึ่งในเล่มนี้พูดถึงเรื่อง Hurried child syndrome พ่อแม่ที่คาดคั้นอยากให้ลูกเป็นซูเปอร์แมน ยิ่งเอาไปเทียบกับข้างบ้าน มีป้าข้างบ้านมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ อีก ก็สร้างความเครียดได้ 1 ใน 3 ของนักศึกษาไทยมีความเครียดสูง ข้อมูลความเครียดในเด็กอาจพบไม่มากเท่าไร เพราะการเก็บข้อมูลเป็นประเด็น Sensitive (อ่อนไหว)” รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว

รศ.ดร.ภูเบศร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับความเครียดของคนวัยทำงาน ซึ่งระยะหลังๆ มีการให้ความสำคัญกับปัญหา Burnout มากขึ้น อย่างสภาพัฒน์ที่ใช้คำว่าภาวะหมดไฟในการทำงาน เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็บอกว่า Burnout เป็นภาวะที่ต้องเยียวยา หมายถึงต้องรักษา ไม่ใช่เพียงวิธีง่ายๆ อย่างการส่งไปพักเพียงเท่านั้น ส่วนความเครียดของผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น อย่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ทำงานด้านสังคมสูงวัย หรือ Aging Society อยู่ สามารถคาดการณ์ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาจะทำให้ผู้สูงอายุยิ่งเครียดมากขึ้นอีก ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการอยู่

แต่โดยสรุปแล้ว “แก่นของความเครียดจริงๆ มีเพียง 2 เรื่อง คือเหตุกับอารมณ์ดังนั้นการจัดการกับความเครียด หากไม่จัดการกับเหตุก็จัดการกับอารมณ์ หรือทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน” โดยกลไกการจัดการจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ปัจเจกบุคคล หมายถึงคนคนนั้นเป็นอย่างไร เช่น บุคลิกภาพ ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและสามารถยืนหยัดได้ (Self-Esteem) กับ 2.ทรัพยากรในการรับมือ ซึ่งมีหลายอย่าง และเชื่อมโยงกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในความสามารถจัดการกับความเครียดด้วย

“ทรัพยากรที่ว่านี้มีทั้งที่มีอยู่จริง กับที่ตัวเองคิดว่ามันมีแต่จริงๆ แล้วไม่มี แค่คิดว่ามีก็ใช้ได้แล้ว แค่คิดว่าคนรักก็มีความสุข สามารถที่จะจัดการสถานการณ์ได้ อีกด้านคือ Strategies (ยุทธศาสตร์) ซึ่งผมขอใช้ Background (ภูมิหลัง) ทางพุทธศาสนา Strategies ที่ใช้จัดการกับเรื่องเหตุ คือ อริยสัจ 4แท้ๆ ฝรั่งเขาไม่ได้พูดว่า อริยสัจ 4 แต่เขาเขียนออกมาแล้วมัน คือ อริยสัจ 4 วิเคราะห์สาเหตุ ดูว่าต้นเหตุคืออะไร ปัจจัยคืออย่างไรแล้วจะแก้ ก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้ไม่ได้ Bias (อคติ) เขาเขียนออกมาแบบนั้นจริงๆ” รศ.ดร.ภูเบศร์ ระบุ

รศ.ดร.ภูเบศร์ ยังกล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายวิธีในการจัดการกับความเครียด เช่นปรับเปลี่ยนต้นเหตุความเครียด ประกอบสร้างความทางความคิด ใช้ความรุนแรง แสดงออกทางอารมณ์ หลบเลี่ยงพฤติกรรม ยืนหยัดฝืนทนเบี่ยงเบนความสนใจตนเอง สืบหาข้อมูล ปลีกวิเวกสนับสนุนทางจิตวิญญาณ หลบเลี่ยงทางความคิด เบี่ยงเบนทางความคิด ซึ่งทั้งหมดนี้มักถูกรวบรวมไว้ในหนังสือประเภทนิตยสาร แต่รวบรวมแบบไม่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเพราะมีทั้งทางบวกและทางลบ

ในท้ายที่สุด ประเด็นสำคัญของการจัดการกับความเครียด คือไม่ได้เป็นภารกิจเฉพาะของกรมสุขภาพจิต หรือของ สสส. แต่เป็นระบบนิเวศทั้งหมด ทำอย่างไรการพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก และ “แนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)” จะช่วยให้คนมีความยืดหยุ่น เพราะแม้ไม่มีใครสามารถหลบเลี่ยงความเครียดได้ แต่จะทำอย่างไรให้ยืนหยัดสู้กับความเครียดได้ และในอีกมุมหนึ่ง ความเครียดหากอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็เป็นปัจจัยเชิงบวก เพราะหากไม่มีความเครียดเลยก็ไม่เติบโตไม่เกิดการพัฒนานวัตกรรม และ “ความเครียดมีความเหลื่อมล้ำ” บางคนมีทรัพยากรในการจัดการความเครียดมากกว่า หรือบางคนประสบกับความเครียดมากกว่า

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ขยายความเรื่องความเครียดที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ อาทิ ในวัยเด็กมีตั้งแต่อยากเล่นกับเพื่อนแต่แม่ไม่ให้เล่น อยากกินอะไรแต่ก็ไม่ได้กิน พอเข้าโรงเรียนอนุบาลวันแรกก็เครียด พอเข้าวัยรุ่น หนุ่ม-สาวเริ่มมีความรัก เป็นวัยฮอร์โมน หลายเรื่องไม่มีเหตุผล ส่วนวัยทำงานจะเครียดทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ระบบงาน ครอบครัว

อีกทั้งในวัยทำงานก็ยังแบ่งย่อยๆ ได้อีก เช่น อายุเข้าหลักห้าสิบ ความเครียดก็จะต่างจากช่วงวัยทำงานที่อายุเข้าหลักสามสิบหรือสี่สิบโดยความเครียดของคนในช่วงอายุห้าสิบ ด้านหนึ่งพ่อแม่เริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย แต่อีกด้านลูกก็กำลังโตขณะที่การทำงานวัยนี้คือระดับผู้บริหารซึ่งก็จะค่อนข้างยุ่งมาก เป็นต้น หรือวัยผู้สูงอายุ ที่เครียดทั้งสุขภาพ เรื่องเงินทอง-การออม โดยเฉพาะเทคโนโลยี ตามที่เห็นข่าวหลายคนถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกเอาเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตไปหมดจนสิ้นเนื้อประดาตัว

“จะเห็นว่าในแต่ละช่วงอายุมันมีสาเหตุความเครียดแตกต่างกันไป และหลายเรื่องๆ พบว่านอกเหนือความควบคุม เพราะฉะนั้นเราบอกว่าอย่าเครียด หลายเรื่องเราไม่อยากเครียดหรอก แต่เราห้ามไม่ได้นะ สังคมเรามันถูกบับคั้นมาอย่างนี้ ดังนั้นวิธีการแก้ก็คือทำอย่างไรให้เรารู้รับปรับตัว มันก็มาจากต้นทุนใครได้ยีนดีมาตั้งแต่แรกก็ดีไป คือเครียดอะไรก็ยิ้มอย่างเดียว แต่นั่นคงไม่พอ เราคงต้องทำอย่างไรให้จิตใจเราเข้มแข็ง การมี GrowthMindset คือเรียนรู้ปรับตัว รู้ว่าเราจะ Deal (รับมือ)กับเรื่องนี้ได้อย่างไร” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าคำว่าเครียดคือคำที่เคยชินในชีวิตประจำวัน เช่น รถติดก็เครียด กับข้าวไม่อร่อยก็เครียด ทำงานไม่เสร็จก็เครียด ผู้บังคับบัญชาเรียกพบก็เครียด ฯลฯ ซึ่งในรายงานได้ทำให้มองเห็นว่า “ความเครียดไม่ได้แยกจากปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ” แต่การหยิบเรื่องความเครียดขึ้นมาเป็นการพูดถึงคนกลุ่มใหญ่และได้มุมมองเรื่องการป้องกัน (Prevention) แน่นอนว่าความเครียดเกิดขึ้นกับทุกคน แต่คำถามคือจะให้เกิดขึ้นได้ในระดับใด ที่จะไม่กลายเป็นปัญหาทางจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

อาทิ มีครั้งหนึ่งเคยไปบรรยายที่บริษัทแห่งหนึ่ง เรื่อง “Sandwich Generation” หรือบ้างก็เรียกว่า “เดอะแบก” ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงความเครียดได้ชัดเจน ไหนจะเรื่องงานเรื่องครอบครัว ยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) คำถามคือทำอย่างไรจะทำให้ปัญหาของประชากรวัยเดอะแบกไม่ยกระดับขึ้นไป หรือให้พออยู่ในระดับที่พอรับมือได้ ซึ่งหากตัวเรารับรู้ว่าสามารถรับมือความเครียดได้ก็จะทำได้ดีขึ้น

เช่น ลองมองย้อนไปในวัยเรียน เมื่อรู้ว่าจะสอบก็เตรียมตัวอ่านหนังสือ แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป และเมื่อหันกลับมาดูก็อาจได้บทเรียนบางอย่างด้วย คำถามคือ “จากข้อมูลที่เราเห็นเรามี Resource (ทรัพยากร) ให้คนทั้งภายนอก-ภายในเพียงพอไหม? กับสภาพบีบอัดภายนอกที่จะประเมินว่าฉันรับมือได้ ฉันจัดการได้ ฉันจะผ่านไปได้” ซึ่งเป็นคำถามที่คิดว่าเครือข่ายเราคงต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป

คำถามต่อมา “แล้วความเครียดที่ยกระดับไปแล้วจะจัดการอย่างไร?” หนึ่งในนั้นคือคำว่า “การถูกตีตรา (Stigma)” ซึ่งการเลือกคำว่าเครียดมาใช้สื่อสาร จะพบว่าคำคำนี้คนทั่วไปสบายใจที่จะพูดถึง โดยการที่ใครคนหนึ่งบอกว่าตนเองเครียด ภายในอาจมีปัญหาสารพัด แต่การบอกว่าเครียดเป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตีตราว่ามีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น การที่รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567 นำเสนอด้วยคำว่าเครียดถือเป็นการเปิดประตูเริ่มต้นให้คนหันมาทำงานกับปัญหาทางจิตใจของตนเอง

“ขอพยายามแตะตรงเครียดกับ Burnout นิด Burnout ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ช่วงโควิด บางอาทิตย์พูดเรื่อง Burnout อยู่ 3 รอบ ปัญหาคือเครียดกับ Burnout ต่างกันอย่างไร? ถ้าดูตรงนี้ดีๆ จริงๆ Burnout ใน WHOใช้ว่า Burnout Syndrome แต่มันก็ไม่ได้ถูก Diagnosis (วินิจฉัย) ว่าเป็นโรค แต่เป็นภาวะที่เป็นภาวะ Common (สามัญ) มาก ถ้าเกิดเราสนใจคนวัยทำงาน บางทีคำนี้หรือภาวะนี้ที่มันมีกลิ่นอายมาจากตัว Stress (ความเครียด) ด้วยจะเป็นตัวเริ่มต้นที่ดีในการทำงานเสียด้วยซ้ำ

เพราะเวลาเราจะทำงานกับคนวัยทำงานบางทีมันยากที่จะไปหาเขาโดยตรง แต่ถ้าเข้าไปหาเขาผ่านต้นสังกัด มันต้องให้เกิดภาพว่าได้ Benefit (ผลตอบแทน) ทั้ง 2 ฝ่าย พูดตรงไปตรงมา คนที่ Burnout Performance (ประสิทธิภาพ) ในการทำงานก็ลดลง เหมือนตอนนี้สิ่งหลักที่เราต้องคิดคือเราจะเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพจิต มันต้องมองภาพที่เกิด Benefit ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคคล เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพที่เป็นองค์รวมได้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ยังกล่าวถึงการทำ Employee Assistance Program (EAP) หมายถึงองค์กรต่างๆ มีการจ้างนักจิตวิทยาเข้าไปเพื่อให้พนักงานได้พูดคุยปัญหาความเครียดภายในใจ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับองค์กรนั้นด้วย โดยเรื่องนี้ก็น่าทำการศึกษาต่อไปว่า องค์กรที่มีโปรแกรมดูแลจิตใจพนักงานจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งก็น่าจะทำให้เกิดการขยายการดูแลที่กว้างขึ้น แต่อย่างน้อยในเบื้องต้นการที่องค์กรมีนโยบายแบบนี้ ก็เป็นการส่งสารถึงพนักงานแล้วว่าองค์กรห่วงใยสุข-ทุกข์ของพนักงาน

โดยสรุปแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องความเครียดและภาวะหมดไฟ จะมี 2 ด้าน คือ 1.ลดแรงกดดัน ดูว่าแรงกดดันมาจากไหนบ้าง เช่น ความคาดหวังของครอบครัว การถูกประเมินจากที่ทำงาน การถูกหรือไม่ถูกยอมรับในความเป็นตัวตนของเรา ซึ่งเรื่องลดแรงกดดันหากให้ดีต้องพูดในระดับชุมชนภายนอก แต่หากพูดในระดับบุคคล หมายถึงการลดความคาดหวังที่มีตัวตัวเราเอง “คนเก่งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้” หากข้างนอกยังช่วยลดไม่ได้ อย่างน้อยก็เริ่มจากภายในใจเราก่อน

กับ 2.เพิ่มทรัพยากร หากเป็นองค์กรก็หมายถึง เช่น ให้เวลาหรือทีมงานมากขึ้น แต่ในระดับบุคคล ในอดีตสังคมไทยเคยเป็นสังคมครอบครัวขยายและมีชุมชนที่อบอุ่นพูดคุยกัน แต่ทุกวันนี้ หลายครั้งที่ไปบรรยายก็ได้รับเสียงสะท้อนว่าข้างห้องยังไม่รู้จักกัน ซึ่งงานวิจัยจะมีคำคำหนึ่งว่า “ฉันรับรู้ว่ามีเครือข่ายสนับสนุน (Support Network)” หากมีสิ่งนี้เรื่องร้ายก็ผ่อนคลายลง อาทิ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ในทางกลับกันเรื่องดีก็ดีมากขึ้น อาทิ ความสุข

“ทีนี้ถามว่าสภาพสังคม ยกตัวอย่างที่เป็นสังคมเมืองที่เราอยู่ตรงนี้ หรือสังคมในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ การรับรู้เครือข่ายสนับสนุนมีมากหรือน้อย ลักษณะสังคมที่คนแยกตัวออกจากกันมากขึ้น ลักษณะสังคมที่มีเครือข่ายในการช่วยเหลือต่อกันน้อยลง ใครจะเป็นคนแก้ปัญหานี้? ถ้าแก้คงต้องกลับไปแก้โครงสร้างครอบครัว ทำอย่างไรจะให้รู้สึกว่าท้ายที่สุดครอบครัวเป็นตัวที่ทั้งดีและร้ายในตัวเดียวกัน ถ้าเด็กหรือคนในครอบครัวรับรู้ว่าคนในครอบครัวของฉันคือแหล่งสนับสนุน แปลว่าไม่ว่าฉันอยู่ที่ไหนฉันมีแหล่งที่ปลอดภัย มัน Pool Resource (รวมทรัพยากร) กลับมาในการ Deal กับ Stress (ความเครียด) กับBurnout ได้ และช่วยได้ตั้งหลายเรื่อง” ผศ.ดร.ณัฐสุดา ระบุ

คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากทิ้งท้ายว่า การดูแลปัญหาสุขภาพจิต การทำเป็นรายคนสามารถทำได้แต่ทำแล้วเหนื่อย คำถามที่ต้องคิดต่อคือ แนวปฏิบัติหรือนโยบายดีที่ใครจะเป็นผู้ขับเคลื่อน? ซึ่งต้องเสนอคำว่า Mental Ecosystem (ระบบนิเวศทางจิต) ที่ด้านหนึ่งก็ต้องทำในภาพใหญ่คือระดับชาติแต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำทุกระดับไปพร้อมกัน อย่างหน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัว ขยายออกสู่ระดับสถานศึกษา หน่วยงาน ชุมชน เหล่านี้คือคำถามที่ต้องคิดและทำต่อ

หมายเหตุ : ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/report_health.php?id=27

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

(คลิป) เหมือนตบ 'อุ๊งอิ๊งค์' กลางสี่แยก กรณี 'พ่อ' ไม่ได้คุย 'ทรัมป์'

(คลิป) กระทืบตำรวจที่สงขลา มีเรื่องให้ต้อง เอ๊ะ!!!

ทูตจีนฉะสหรัฐฯ 'ข่มขู่-รีดไถ่-แบล็คเมล์-เห็นแก่ตัว' เล่นเกมสงครามการค้าป่วนโลกยับเยิน

'สี จิ้นผิง'เล็งฟรีวีซ่าแก่5ประเทศในแถบลาตินอเมริกา-แคริบเบียน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved