เมื่อ “บุหรี่ไฟฟ้า” มีอันตรายมากกว่า “บุหรี่มวน” เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวนำความร้อนให้เกิดการเผาไหม้ของเหลว หรือที่เราเรียกว่า“น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่อาจประกอบไปด้วย นิโคติน สารปรุงแต่งรส และสารเติมแต่งอื่นๆ ตามน้ำยาแต่ละตัว ทำให้มีรสชาติและกลิ่นแตกต่างกัน เมื่อเราสูบเอาไอเข้าไปปอดจึงสัมผัสกับสารโดยตรง และเมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ และศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ร่วมกันแถลงข่าว “ครอบครัวไทยเป็นห่วงลูกหลาน..หลงรักคงกฎหมาย “แบนบุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องเร่งปราบให้สิ้นซาก” โดย ผศ.ดร.ลักขณาเติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบกล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เตรียมนำผลการศึกษา 3 แนวทางหลัก คือ1. การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ(Total Ban) 2.การอนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products) และ 3. การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบถูกกฎหมาย (Full Legalization)เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายสุขภาพ และเครือข่ายครอบครัว ได้มีการศึกษาข้อมูลความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ได้ผลสำรวจตรงกันว่าต้องการให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้า และเร่งปราบปราบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ จึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา
“มีงานวิจัยพบว่า PM2.5 ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่า PM2.5 ทั่วๆไป ซึ่งมีระดับที่ 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ก็ถือว่าอันตรายแล้วแต่ฝุ่นพิษที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าตั้ง 220 กว่าไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับฝุ่นพิษในกทม.เกือบ 10 เท่า เคยมีการวัดค่า PM2.5 ในห้องประชุมที่ใช้จัดอีเว้นท์ และมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ามีค่า PM2.5 ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าทิ้งอยู่ภายในสูงกว่าตั้ง 819 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
มันรุนแรงยิ่งกว่าฝุ่นพิษ PM2.5 ทั่วไปจึงอยากขอร้องว่าเมื่อเราเห็นถึงพิษภัยแล้วก็ไม่ควรที่จะออกกฎหมายที่เป็นการเอื้อให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย”
ด้าน นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ประธานเครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ ระบุว่า ได้ร่วมกับสมาคมเครือข่าย พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ สำรวจความเห็น “ครอบครัวไทยคิดอย่างไรต่อบุหรี่ไฟฟ้า” ระหว่างวันที่ 4 – 11 ม.ค. 2568 ผ่านทางอินเตอร์เนต มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 3,428 คน คิดเป็นร้อยละ 79 เป็นเพศหญิงร้อยละ 80 อยู่ในวัยทำงาน อายุ 31-60 ปีร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุและเด็กกระจายตัวทุกภูมิภาคทั่วประเทศใกล้เคียงกัน ผลการสำรวจพบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ 79 มีความกังวลมากต่อการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในเด็กและเยาวชนไทย รองลงมาร้อยละ 17 มีความกังวลระดับปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 4 ที่ตอบว่ากังวลน้อย นั่นคือร้อยละ 96 ของครอบครัวมีความกังวลว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะแพร่ระบาดมาถึงลูกหลานตน และร้อยละ 33 คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเจาะเข้าถึงบุตรหลานของตนอย่างแน่นอน ร้อยละ 40 คิดว่ามีโอกาสครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่ร้อยละ 19 คิดว่ามีโอกาสไม่เกินร้อยละ 10 ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะเข้าถึงบุตรหลานของตน
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้เด็กเยาวชนปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร ครอบครัวส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 เห็นว่าต้องปราบปรามกระบวนการขายให้สิ้นซาก ร้อยละ 22 คิดว่าต้องฉีดวัคซีนความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนให้ทั่วถึง มีครอบครัวเพียงร้อยละ 4 ที่เสนอว่าให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยรวมแล้ว ร้อยละ 96 ของครอบครัวไม่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และขอให้รัฐบาลขจัดให้สิ้นซาก
“ผลการประมวลข้อมูล ออกมาว่าครอบครัวไทยเป็นห่วงและกังวลอย่างมาก และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะก่อให้เกิดโทษต่อเยาวชนและมีผลกระทบทางสังคมอย่างมาก บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะเป็นการทำลายลูกหลาน และเท่ากับรัฐบาลกำลังมอมเมาประชาชนและเยาวชน ทำลายอนาคตของชาติ”
ขณะที่ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่มากขึ้นของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐที่ไม่ได้ตั้งใจป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขหรือเยียวยาเด็กและเยาวชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นเป็นข้อเท็จจริงที่ครอบครัวมีความกังวลเป็นอย่างมาก และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะขนาดไม่ถูกกฎหมายก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง
“หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดโดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเยาวชน การพิจารณา อย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของผู้แทนประชาชนที่จะแสดงความจริงใจในการปกป้องสิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่าที่สุดในการพัฒนาประเทศ นั่นคือเยาวชนของเรา”
น.ส.ณัฐนพิน บุญจริง หนึ่งในผู้ปกครองที่ลูกใช้บุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า วัยรุ่นมีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง แต่วุฒิภาวะและการตัดสินใจยังมีน้อย ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาตอนนี้สุขภาพของลูกไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน ภูมิคุ้มกันลดลง ป่วยง่าย แทนที่เมื่อลูกเติบโต จะแข็งแรง กลับตรงกันข้ามบางครั้งหยิบยืมเงินแม่เนื่องจากเงินไม่พอใช้ สิ่งที่แม่พยายามทำเพื่อช่วยลูก คือการพยายามทำความเข้าใจ สื่อสาร บอกถึงอันตรายที่มีต่อสุขภาพ แสดงความเป็นห่วง แม่รู้ว่าคนสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นคนชั่วร้าย แต่ผลิตภัณฑ์ต่างหากที่อันตราย มุ่งเป้าไปที่เด็ก เยาวชน หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ทั้งที่ผิดกฎหมายแต่กฎหมาย ก็ทำอะไรไม่ได้ และการที่รัฐบาลจะทำให้ถูกกฎหมาย เป็นความอันตรายเป็นหลายร้อยเท่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี