ในเดือน ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นข่าวต่างประเทศที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก คือความพยายามของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มอบหมายให้ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและมิตรสหายคนสนิทซึ่งทรัมป์เลือกให้มารับผิดชอบงานปฏิรูประบบงานภาครัฐของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ดำเนินการตรวจสอบและลดบทบาทของ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) มีการเรียกเจ้าหน้าที่ของ USAID ที่ประจำอยู่ทั่วโลกกลับสหรัฐฯ และเลิกจ้างบุคลากรในหน่วยงานนี้ไปเป็นจำนวนมาก
โดย USAID นั้น ถือกำเนิดขึ้นในปี 2504 ในยุคสมัยของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งเวลานั้น “สงครามเย็น” ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเสรีนิยมประชาธิปไตย อันมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ กับขั้วอำนาจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อันเป็นสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และจีนเป็นแกนนำ ซึ่งภารกิจของ USAID คือประสานความช่วยเหลือของสหรัฐฯ กับต่างประเทศ อันเป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ที่ต้องการสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงถูกนิยามว่าเป็นหน่วยงานสร้าง “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ดูดีในสายตาผู้คนของประเทศที่ USAID เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
แต่อีกด้านหนึ่ง USAID ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ ใช้ “แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น” โดยเฉพาะการสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลประเทศนั้น หากรัฐบาลดังกล่าวไม่เอนเอียงเข้าข้างสหรัฐฯ ดังที่ เวทิน ชาติกุล ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทยให้มุมมองผ่านรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ประจำวันที่ 11 ก.พ. 2568
“ผมมาตามเรื่องนี้เพราะมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยสมัยที่ผมยังสอนหนังสืออยู่ คือบางกลุ่มซึ่งได้เงินได้ทองแล้วมีความคิดแบบเชิดชูประชาธิปไตย เชิดชูเสรีนิยมแบบตะวันตก เราก็สงสัย ปกติพวกนักวิชาการก็ต้องไปหาทุนทำวิจัย เอ๊ะ! องค์กรเงินต่างประเทศเข้ามาด้วย แล้วทำวิจัยชื่อเรื่องก็ดูดี สิทธิมนุษยชน คือฟังแล้วดูดี เป็นหัวข้อวิจัย เป็นรายงาน แต่เวลามีการเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกนี้ออกมาเป็นโทนเดียวกันหมดด่าทหาร ยิ่งสมัย พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ยิ่งชัด ด่าตัวบุคคลเลย
ทำไมนักวิชาการพวกนี้จึงไปรับเงินรับทองจากองค์กรต่างชาติ ถึงมีเป้าทางการเมืองเดียวกัน แล้วไปทางเดียวกันหมด อันนี้อันที่หนึ่ง สอง..คือ NGO อันนี้ตัวใหญ่ NGO ก็มีทั้งดีคือไปช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ กับ NGO ที่ตั้งขึ้นมาในฐานะแบบที่เราไม่รู้จริงๆ เราก็พูดได้ว่าไม่ดี แต่เป้าประสงค์ข้างหน้าก็มาบอกว่าตัวเองทำเป็นสื่อบ้าง เรียก NGO แบบตีเนียน สาม..พวกนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย องค์การนิสิต ย้อนไปสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มันเป็นทางเดียวกันหมด”
ตัวอย่างการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล มีการล่ารายชื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย โดยในส่วนของสื่อ นอกจากองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ตั้งมาเพื่อทำสื่อแล้ว ยังมีสำนักข่าวบางแห่งที่ไปรับทุนจากอีกองค์กรของสหรัฐฯ อย่าง National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ออกมาแฉการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องคือ ไบรอัน เบอร์เลติก (Brian Berletic) นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ใช้นามปากกาว่า โทนี่ คาตาลุชชี (Tony Cartalucci)
เวทิน เล่าว่า ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับนักเขียนคนดังกล่าว ซึ่ง โทนี่ คาตาลุชชี หรือ ไบรอัน เบอร์เลติก กล่าวว่า องค์กรเหล่านี้มองภาพการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2549 หลังเหตุการณ์รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ถูกกองทัพทำรัฐประหาร องค์กรอย่าง NED หรือ USAID ได้เข้าไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ และพยายามจะชูทักษิณและพรรคการเมืองที่เป็นขั้วการเมืองของทักษิณขึ้นมา เช่น เวลานั้นมีทูตสหรัฐฯไปเยี่ยมหมู่บ้านเสื้อแดง หรือสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีประเด็นสหรัฐฯ กับการใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม ทักษิณนั้นมีความเขี้ยวทางการเมือง มีผลประโยชน์ของตนเองในระดับหนึ่ง จึงไม่ใช่บุคคลที่จะถูกสั่งให้หันซ้ายหันขวาตามนโยบายของสหรัฐฯ ได้ทุกเรื่องในมุมมองของ โทนี่ คาตาลุชชี จึงเห็นว่า การทำให้อดีตนายกฯ ทักษิณ เข้าไปอยู่ในเครือข่ายดังกล่าวน่าจะทำไม่สำเร็จ จึงหันไปให้ความสนใจพรรคการเมืองเกิดใหม่อย่าง พรรคอนาคตใหม่ ที่ในช่วงแรกๆ ไม่มีใครให้ราคา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ธนาธรเคยเป็นนักกิจกรรม เคยเคลื่อนไหวแบบ NGO และมีความสัมพันธ์กับนักวิชาการกลุ่มที่ตนกล่าวถึงไปข้างต้น
“อันนี้เข้าสูตรเลย เมื่อมีพรรคการเมือง มันแปลว่าโอกาสที่คุณจะสร้างกิจกรรมหรือสร้างกระแส แล้วสุดท้ายเข้าไปยึดกุม คือทำให้การเคลื่อนไหวของคุณมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยมากขึ้นนอกเหนือจากการเคลื่อนไหวภายนอกสภาอย่างเดียว ฉะนั้นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ตรงนั้นก็เลยกลายเป็นทำให้องคาพยพที่ USAID - NED ที่วางแผนไว้ครบองค์ประกอบ ทีนี้เห็นไหม? ตั้งแต่ปี 2562-2563 จากม็อบที่แกนนำตอนนี้หนีหายไปหมดแล้ว เหลือแต่ทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) ติดคุกหัวโตอยู่
สังเกตดูตั้งแต่ปีนั้น 2561 2562 2563 มันหนักเลย ซึ่งพัฒนามาเป็นตอนที่ไปปะทะกัน ที่ไปล้อมรถ ไปปะทะที่สยามเซ็นเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ดารา ต่อมาพอพวกนี้แผ่วไป อีกปีพัฒนามาเป็นพวกทะลุแก๊ส ไม่ใช่เหมือนแค่ฮ่องกงโมเดล มันคืออาหรับสปริง ยูเครนปฏิวัติสีส้ม จีน - รัสเซีย เขาศึกษาเรื่องนี้เป็นวิชาการ เขาตั้งชื่อเลยว่า Color Revolution (การปฏิวัติสี)”
ทั้งนี้ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในสมัยโบราณจะใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองแบบตรงๆ หรือต่อมาก็ใช้วิธีสนับสนุนอาวุธให้ขั้วอำนาจในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาล แม้ขั้วอำนาจนั้นจะมีความเป็นเผด็จการก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ที่มีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย เสรีนิยมและความเท่าเทียม ประกอบกับมีข้อมูลหลุดออกมาให้เห็นมากขึ้น จึงไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิมได้ และต้องหันมาใช้วิธีสร้างเครือข่ายอย่างแนบเนียนโดยการเคลื่อนไหวที่ใช้ประชาธิปไตย เสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นฉากหน้า
ซึ่งเมื่อใช้การเคลื่อนไหวแบบนี้ด้านหนึ่งก็ดูสมเหตุสมผลและชอบธรรม เพราะมีทั้งนักวิชาการคอยให้ความเห็นสนับสนุน มีนักเคลื่อนไหวคอยเคลื่อนไหวนอกสภา มีพรรคการเมืองที่พร้อมจะเข้าไปผลักดันในสภา ทั้งนี้ บางเรื่องที่ USAID เข้าไปช่วยเหลือก็เป็นเรื่องดี เช่น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความลำบากยากเข็ญ แต่ในบางเรื่อง โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุน NED ซึ่งมีสถานะเป็น NGO ไปเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย
และมีตั้งข้อสังเกตว่า การที่ทรัมป์ตัดงบประมาณของ USAID โดยพบข้อมูลการใช้งบประมาณของ USAID เช่น ให้ทุนสนับสนุนกลุ่มละครผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หรือนักเขียนการ์ตูนที่สนับสนุนคนข้ามเพศ (Transgender) และมีบางส่วนเป็นงบประมาณส่งมาถึงประเทศไทย แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการให้ทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย เนื่องจากเป็นบทบาทของ NED ซึ่งหากใครที่รู้จักหรือเป็นเครือข่ายกันอยู่แล้ว ก็สามารถเขียนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนได้
“การเคลื่อนไหวของพวกนี้เขามองภาพทั้งโลก อาหรับ ยุโรป จีนกับฮ่องกง ไทย แต่ละที่มันมีบริบท มีเรื่องอันอ่อนไหวไม่เหมือนกัน รวมถึงในตะวันออกกลาง พวกนี้เคลื่อนไหวหมด ในอเมริกาใต้ ฉะนั้นมันจะมีอีกหน่วยงานหนึ่งทีเรียกว่า CFR เขียนงานกึ่งวิชาการ มีนักวิชาการไทยอยู่ที่รัฐศาสตร์ก็ไปเขียนงานให้ CFR พวกนี้จะเป็นเหมือนคนที่ให้ทาง เพราะคนที่รับเงินทั้งโลกสื่อที่เขาออกมาแฉมีไม่รู้กี่พันเจ้า คือแต่ละที่มันมีการเคลื่อนไหวที่มีบริบทเฉพาะ มีประวัติศาสตร์เฉพาะ
อย่างของราทำไมต้องมาเล่นเรื่องนี้ (สถาบันพระมหากษัตริย์) เพราะศึกษาเรื่องนี้และรู้ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวในบ้านเรา แบ่งแยกแล้วปกครอง เอาเรื่องนี้ไปเล่นที่ไต้หวัน - ฮ่องกงก็ไม่ได้ ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง CFR จะมีนักวิชาการทั้งโลกที่คอยให้แนวทาง พวกที่อยู่ในโซนนี้ต้องเคลื่อนในแนวทางนี้ CFR จะเขียนออกมาเรื่อย แต่พวกที่เป็นตัวแกนของนักเคลื่อนไหวจะรู้ เพราะมันทั้งโลกแล้วแต่ละที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดไปที่จุดประสงค์เดียวก็คือทำให้อเมริกาได้เปรียบในทุกๆ พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เขาวางเอาไว้”
กลับไปที่สหรัฐฯ เหตุที่ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และ อีลอน มัสก์เอาจริงเอาจังกับการจัดการ USAID เพราะทั้ง 2 คนเคยได้รับผลกระทบมาก่อน และอีลอน มัสก์ ก็เคยสังเกตเห็นว่ามีการใช้กระบวนการสร้างกระแสผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการเลือกตั้งที่บราซิล คล้ายๆ กับที่ใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้จะใช้ได้กับการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น ยังใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เพราะต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละพื้นที่ แน่นอนหมายถึงต้องลงทุนลงแรงมากขึ้นด้วย
ซึ่งนี่คือการพัฒนาไปไกลกว่าการซื้อเสียง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตามไม่ทัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายจึงไม่สามารถบอกว่าการทำแบบนี้เป็นความผิดได้ แต่อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างหรือเปลี่ยนกระแสทางการเมืองได้ ส่วนการที่ทรัมป์สั่งระงับความช่วยเหลือต่างๆ ที่สหรัฐฯ มีต่อต่างประเทศไว้ด้านหนึ่งก็เหมือนท่อน้ำเลี้ยงที่น้ำไหลแรงน้อยลง พวกที่เคยเคลื่อนไหวก็ต้องจำกัดการเคลื่อนไหว แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้องค์กรที่ดีๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าสหรัฐฯ คงไม่เลิกการดำเนินการแบบนี้ เพราะกลไกที่ว่ามาเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ระดับโลกที่ต้องทำให้สหรัฐฯ ได้เปรียบ อย่างกรณีของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก สหรัฐฯ ไม่มีทางยอมเสียไทยให้จีนดังนั้นก็ต้องจับตาดูการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งหน้า และหากทรัมป์สมประโยชน์ตนก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก หรืออาจใหญ่กว่าเดิมก็ได้หากจีนเข้ามาและสหรัฐฯ เห็นว่าจะเสียเปรียบ
แต่หากอยากจะจัดการให้ได้จริงๆ 1.ต้องออกกฎหมายตรวจสอบ NGO ซึ่งเคยมีความพยายามทำมาแล้วแต่ถูกต่อต้านจนเรื่องเงียบไป แต่หากจะไม่มีกฎหมายนี้ต่างชาติก็ยังมีช่องทางแทรกแซง กับ 2.รัฐต้องมีอำนาจปิดแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ทำเหมือนกันเช่น กรณีแพลตฟอร์ม TikTok และไม่ว่าจะมีหรือไม่มีหน่วยงานชื่อ USAID หากสหรัฐฯ ยังมองไทยอยู่ในยุทธศาสตร์ต้านจีน การดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะยังคงมีต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ทำตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
“แต่ผมเชื่อว่ารัฐไทยไม่กล้า เพราะอะไร? พวกนี้มันวิเคราะห์ไว้หมดว่ารัฐไทยต่อให้รัฐบาลไหนมาเป็น กลัวอะไรบ้าง? เช่น กลัวสื่อต่างประเทศ สังเกตไหม? ทำไมพวกนี้พยายามให้สื่อนอกเป็นเรื่องไปตี เพราะมันรู้ว่าโดยจิตวิทยารัฐบาลไทยโคตรจะกลัวสื่อนอกเลย นี่ไม่นับเรื่องอัลกอริทึมโซเชียลมีเดีย มันนั่งคุมหน้าคอมฯ กับมือ เหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์”
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี