นายกมลวัฒน์ ประพฤติธรรม อาจารย์พิเศษประจำโครงการวารสารศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (B.J.M.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวสารสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่าย และสื่อมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้แก่ประชาชน แต่มักพบว่ามีการเสนอข่าวที่กระตุ้นอารมณ์หรือสร้างความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความละเอียดอ่อน เช่น สิทธิมนุษยชน การทูต หรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การรับข่าวสารอย่างมีอคติหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ดังนั้น “การนำเสนอข่าวจึงควรคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณและการทำข่าวอย่างเป็นกลาง เพราะในสังคมยุคนี้เมื่อผู้รับสารมีแนวโน้มเลือกเสพข่าวที่สอดคล้องกับความเชื่อ” สื่อมักผลิตข่าวสารเพื่อตอบสนองความเชื่อและความคาดหวังเหล่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสะท้อนอารมณ์ที่เกินความจำเป็น การรายงานข่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใส่อารมณ์ที่อาจกระตุ้นความรู้สึกหรืออคติ โดยเฉพาะประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อให้ประชาชนสามารถพิจารณาและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
ยกตัวอย่าง กรณีการรายงานข่าวเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ สื่อที่นำเสนอข่าวในลักษณะที่ไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน อาจทำให้ผู้รับสารที่ไม่ทราบข้อมูลทั้งหมดและรู้สึกมีอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น และการนำเสนอข่าวที่เต็มไปด้วยความเอนเอียง (Bias) จะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้รับสาร เนื่องจากข่าวที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาแรกมาจากสื่อตะวันตกที่มีทัศนคติและมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจน
ซึ่งหากสื่อไทยนำเสนอข่าวโดยไม่พิจารณาความหลากหลายของมุมมอง หรือไม่ได้รับข้อมูลที่มีความเป็นกลาง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอคติในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่รู้จักชาวอุยกูร์ ความเข้าใจผิดอาจทำให้ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องได้ และสำหรับผู้ที่รู้จักชาวอุยกูร์บ้างแล้ว การนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับความขัดแย้งและสร้างความแตกแยกในสังคม
“สื่อควรใช้วิธีการนำเสนอข่าวที่เป็นกลางโดยการหาข้อมูลจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย รวมถึงการแสดงข้อเท็จจริงจากหลากมุมมอง เพื่อให้ประชาชนได้รับความเข้าใจที่ครบถ้วนและสามารถตัดสินใจได้ด้วยวิจารณญาณที่ดี การนำเสนอข่าวที่ดียังควรยึดหลักความเป็นกลางและอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่งอย่างรอบด้าน อีกทั้งการสะท้อนมุมมองที่แตกต่างยังจะช่วยให้ผู้รับสารได้รับข่าวที่เข้าใจประเด็นต่างๆ ได้ดีขึ้น” นายกมลวัฒน์ กล่าว
นายกมลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการนำเสนอข่าวคือ “การใช้ภาษาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการ
กระตุ้นอารมณ์เกินความจำเป็น” เนื่องจากภาษาของสื่อมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้รับสารอย่างมาก โดยเฉพาะในข่าวที่มีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวความรุนแรง หรือข่าวการสูญเสีย ต้องเลือกใช้คำศัพท์และโทนเสียงที่เหมาะสม
รวมทั้งนักข่าวไม่ควรตั้งคำถามที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องตอบด้วยอารมณ์หรือสร้างความสะเทือนใจ เช่น การถามถึงความรู้สึกหลังเกิดเหตุร้ายหรือความสูญเสีย หรือการเล่าเรื่องที่เน้นสร้างอารมณ์มากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่สะท้อนความจริงในแง่ของเหตุการณ์ แต่กลับสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวโดยตรง ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและปราศจากอารมณ์ที่ไม่จำเป็น ไม่เพียงช่วยป้องกันไม่ให้สื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความขัดแย้ง แต่ยังช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการนำเสนอข่าวในปัจจุบันยังคงมีอยู่หลายประการ เช่น เรื่องข้อมูลที่ยากที่จะพิสูจน์หรือข้อมูลที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน สิ่งนี้สามารถนำระบบแฟคเช็ค (Fact-Checking) หรือ ระบบตรวจสอบข้อเท็จจริง มาใช้ได้ จะช่วยให้ข่าวที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณะมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ข่าวยังใหม่และข้อมูลยังไม่ได้รับการยืนยัน
ดังนั้นนักข่าวจะต้องนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้และหลีกเลี่ยงการเติมรายละเอียดที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน และในกรณีสำคัญอย่างข่าวที่มีผลกระทบสูง เช่น ข่าวอาชญากรรม หรือเหตุการณ์สำคัญระดับชาติ การใช้ระบบแฟคเช็คเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเป็นวิธีที่สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของข่าวปลอมและช่วยให้สื่อสามารถรักษามาตรฐานการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพได้
“ในส่วนของการเรียบเรียงการนำเสนอข่าว สื่อมวลชนควรตัดประเด็นที่ลึกซึ้งและไม่สามารถยืนยันได้ออกไป ก่อนที่จะนำเสนอเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากต้องรับผิดชอบต่อการเผยแพร่ข้อมูลและต้องมั่นใจว่าเมื่อข้อมูลออกไปสู่สาธารณะแล้ว การนำเสนอข่าวนั้นจะสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้รับสารได้ โดยไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือการแพร่กระจายของข่าวปลอม” นายกมลวัฒน์ ระบุ
นอกจากนี้ ในด้านการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา และครอบคลุมหลายมิติของเรื่องราว ทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์และข่าวที่เจาะลึก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงจากการตีความที่ผิดพลาดได้ ตัวอย่างเช่น กรณีข่าวน้ำเสียที่บางครั้งการนำเสนอข่าวเริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยการระบุว่าน้ำเสียมาจากโรงงานทั้งที่ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน
ซึ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องปรากฏขึ้น ผู้รับสารอาจไม่ได้ติดตามหรือมักจะไม่กลับมาดูข่าวใหม่ที่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่งผลให้ความเข้าใจผิดของประชาชนในสังคมยังคงแพร่กระจายอยู่ดังนั้น สื่อควรนำเสนอข่าวด้วยความละเอียดรอบคอบ และเน้นการให้ข้อมูลจากหลายมุมมองเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจและประเมินข่าวสารได้อย่างมีเหตุผล
อีกด้านหนึ่ง “การที่ผู้รับสารสามารถเท่าทันอารมณ์ของตนเองขณะเสพข่าว ก็เป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับข่าวที่มี
ความละเอียดอ่อน” การตั้งสติและตั้งคำถามว่า “ข่าวนี้จริงหรือไม่?” เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ก่อนจะตัดสินใจเชื่อข่าวนั้น โดยไม่ให้ความรู้สึกส่วนตัวหรือความตื่นเต้นจากข่าวมาครอบงำเหนือเหตุผล ซึ่งการรอคอยและประเมินข่าวอย่างมีสติ เปิดรับข่าวสารหลายด้าน และใช้ระบบแฟคเช็คเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของข่าวที่จงใจสร้างกระแส กระตุ้นอารมณ์หรือสร้างอคติได้
“การทำข่าวควรมุ่งเน้นที่การให้ข้อมูลอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย แต่อย่าให้ความสนุกหรือความตื่นเต้นมาเป็นปัจจัยหลักในการนำเสนอข่าว เพราะอาจทำให้ข่าวนั้นเสียความหมายหรือบิดเบือนเนื้อหาไปจากความเป็นจริง ในทางกลับกัน การเสพข่าวสารในยุคนี้ไม่ใช่แค่การรับข้อมูล แต่เป็นการพัฒนาวิธีคิดและวิจารณญาณที่ดี เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลที่มีอคติและอารมณ์” นายกมลวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี