เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ณ สะพานแขวนกิ้งก่าภูวัว (สะพานกะปอม) ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเทศกาลประติมากรรมแห่งศรัทธา ภายใต้แนวคิด “วิถีคล้า วิถีคน” และกิจกรรม “มหัศจรรย์ศิลป์คล้า เล่าขานตำนานพญานาค สู่อัตลักษณ์ท่องเที่ยวบึงกาฬ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ, นายณรงค์ ศักดิ์ คุรุพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ, อาจารย์สัติยะพันธ์ คชมิตร รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมแห่งบึงกาฬ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, นายเฉลิมเกียรติ แผนกิจเจริญ พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ, นายคมกฤต บุญกอง นายอำเภอบุ่งคล้า และนางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี ร่วมกันแถลงข่าว โดยมี นายนคร ศิริปริญญานันท์ และนายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำคัญ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี, หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และอำเภอบุ่งคล้า เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่
ไฮไลต์สำคัญของโครงการนี้คือ การจัดการประกวดประติมากรรมแห่งศรัทธา “วิถีคล้า วิถีคน” ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชน ชุมชน และผู้สนใจงานศิลปะจากต้นคล้า ส่งผลงานขนาด 2 x 2 เมตร เข้าร่วม โดยแต่ละทีมมีสมาชิกได้ไม่เกิน 10 คน เพื่อชิงเงินรางวัล ชนะเลิศ 10,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 มูลค่า 6,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 มูลค่า 5,000 บาท และรางวัลชมเชยอีก 5 รางวัล รางวัลละ 4,000 บาท
นอกจากการเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนในท้องถิ่นแล้ว โครงการนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความรู้และความภาคภูมิใจใน “ต้นคล้า” ซึ่งเป็นทั้งทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของบึงกาฬ ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ และเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปะที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธาอันลึกซึ้งของชาวลุ่มน้ำโขง ภายในงานยังมีการแสดงศิลปะร่วมสมัย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมือง และนิทรรศการ “Soft Power บึงกาฬ” ที่จะเปิดมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่อิงกับตำนานและใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด
“นี่ไม่ใช่เพียงการแถลงข่าว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังจากภายใน ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง” ผู้ร่วมจัดงานกล่าว
โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่เน้น “คุณค่าและความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงจากตำนานสู่ศิลปะ จากศิลปะสู่ผลิตภัณฑ์ และจากผลิตภัณฑ์สู่สากล ซึ่งบึงกาฬกำลังใช้ “ต้นคล้า” และ “ความเชื่อ” เป็นสะพานแห่ง Soft Power ที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง - 001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี