เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกับกรณีแพทยสภา เปิดเผยสรุปการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 กรณีการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยชี้ใน 2 ประเด็น คือ 1.ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น กับ 2.ลงโทษแพทย์ที่ถูกร้องเรียน 3 คน แบ่งเป็นลงโทษตักเตือน 1 คน เนื่องจากประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเกี่ยวกับเรื่องใบส่งตัว และลงโทษพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 2 คน เนื่องจากให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
ซึ่งมติแพทยสภาที่ออกมา เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ให้ผู้เกี่ยวข้องกับการส่งตัวนายทักษิณ ซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงต้องรับโทษจำคุก 1 ปี ออกจากเรือนจำมารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ทำคำชี้แจงภายใน 30 วัน และนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 โดยหนึ่งในประเด็นที่คาดว่าศาลจะต้องตรวจสอบให้ความจริงปรากฏ คืออาการป่วยของนายทักษิณที่คนรอบข้างย้ำกันมาเสมอว่าหนักนั้นจริงมาก – น้อยเพียงใด
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 ชวนพุดคุยกับ พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ อดีตกรรมการแพทยสภา 2 สมัย และอดีตรักษาการแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ในประเด็นนี้ โดย พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ เล่าว่า ในช่วงปี 2553 – 2554 ที่ตนเป็นรักษาการแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ เวลานั้น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โทรศัพท์มาบอกว่าจะมีคนไข้ชาวต่างชาติถูกจับในคดีทุจริต มีความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท
และยังบอกด้วยว่าป่วยหลายโรค ขอให้จองห้องพิเศษที่ดีที่สุด ตนจึงถามไปว่าเมื่อผู้ที่ถูกจับเดินทางมาถึงประเทศไทยที่สนามบินดอนเมืองแล้วจะแวะไปที่ใดหรือไม่ รอง ผบ.ตร. ท่านนี้ ก็บอกว่าจะไปสอบสวนที่กองปราบ แถวๆ แดนเนรมิต ตนก็ขอไปตรวจสุขภาพ พร้อมกับนำแพทย์ด้านหัวใจฉุกเฉิน แหทย์อารุยกรรม แพทย์โรคเบาหวาน แพทย์ด้านกระดูก และแพทย์จิตเวช และต้องเป็นแพทย์ที่เก่งที่สุดใน รพ.ตำรวจ โดยเหตุที่ต้องให้แพทย์จิตเวชไปด้วยเพราะหลายครั้งที่มีการจับกุม ผู้ถูกจับมักอ้างว่าป่วยวิกลจริต จึงต้องมีแพทย์ไปตรวจว่าจริงหรือไม่
และแม้ผู้ที่ถูกจับจะอ้างใบรับรองแพทย์จากต่างประเทศ ตนก็ขอให้แพทย์ที่ไปด้วยกันตรวจด้วย ซึ่งแพทย์ทั้งหมดที่ตรวจก็บอกว่าอาการปกติ นอกจากนั้นยังมีการเจาะเลือด โดยเมื่อทราบผลการตรวจ ก็โทรศัพท์ไปบอกรอง ผบ.ตร. ท่านนี้ว่า ที่ให้เตรียมห้องพิเศษก็เตรียมไว้แล้ว และตนรับทราบเรื่องใบรับรองแพทย์จากต่างประเทศที่บอกว่าป่วยหลายโรค แต่จากการให้แพทย์ 5 สาขา จาก รพ.ตำรวจ ทำการตรวจ รวมถึงเจาะเลือดแล้วก็พบว่าผลปกติทั้งหมด จึงถามไปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
“รอง ผบ.ตร. ท่านนั้น ตอบกลับมาทันที อย่างนี้ต้องไปศาล ผมก็ขอบคุณท่านเพราะท่านเคารพในวิชาชีพแพทย์ แล้วก็ไปศาลด้วยกัน รอง ผบ.ตร. ก็บอกศาลว่าให้ถามคุณหมออรรถพันธ์อย่างเดียวเพราะเป็นคนตรวจร่างกาย สรุปศาลก็บอกให้ไปเข้าคุกราชทัณฑ์ ประมาณปี 2553 – 2554 จนกระทั่งออกเมื่อต้นปี 2568 ถ้าใครตามข่าวก็จะทราบว่าคนต่างชาตินี้คือใคร ผมถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพแพทย์ 100% แล้วก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ 100%”
ทั้งนี้ ในอดีต รพ.ตำรวจ จะจัดห้องมีลักษณะเป็นกรงขัง สำหรับผู้ต้องขังเจ็บป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากเรือนจำ หรือที่ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจแต่มีการเจ็บป่วย เป็นห้องรวม 4 เตียง อยู่ชั้น 5 ตึกเฉลิมพระเกียรติ ตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์ แต่หากมีอาการหนัก หรือมีผู้ถูกส่งตัวมาเป็นจำนวนมากก็จะกระจายไปอยู่ในตึกอื่นๆ ต้องใส่ตรวนไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมีความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนี และต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ปทุมวัน มาเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง
เพราะหากเกิดกรณีผู้ต้องขังหรือผู้ต้องหาหลบหนีระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล ก็จะเป็นปัญหากับทางโรงพยาบาล ซึ่งเคยมีกรณีผู้ต้องขังหลบหนี พยาบาลต้องถูกสอบสวน เช่น ตอนมาให้ยาคนไข้ยังเห็นหรือไม่ หรือหนีไปกี่ชั่วโมง แต่ความรับผิดชอบอยู่ที่ตำรวจ ส่วนคำถามว่า กรณีของผู้ต้องขังสูงวัย อย่างนายทักษิณที่มีอายุมากกว่า 70 ปี สามารถยกเว้นไม่ต้องพันธนาการได้หรือไม่ ในมุมมองของตน อย่างไรก็อยากให้คำนึงเรื่องการหลบหนีไว้ด้วย
เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณี รพ.เอกชน ผู้ต้องหาหลบหนีโดยใช้ผ้าปูเตียงมัดเป็นเชือกแล้วปีนลงจากหน้าต่าง ดังนั้นการพันธนาการในความหมายนี้คือทำในส่วนเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น ให้น้ำเกลือที่มือก็ไม่ต้องพันธนาการที่มือ แต่ขาซึ่งไม่ได้ให้น้ำเกลือก็ควรพันธนาการ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาเกิดมีเหตุหลบหนีขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นเรื่อง ส่วนที่ต้องมีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้า 24 ชั่วโมง ยังมีเรื่องของบุคคลที่เป็นศัตรูอาจเข้ามาทำร้ายผู้ต้องขังนั้นได้
อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยทั่วไปที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึงรวมถึง รพ.ตำรวจ แล้วต้องการใช้ห้องพิเศษ จะมี 2 กรณี คือ 1.จองล่วงหน้า กับ 2.มาโรงพยาบาลในวันนั้นแล้วจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งหากมีห้องพิเศษว่างก็สามารถเข้าไปพักได้ ขึ้นอยู่กับกำลังจ่ายของญาติผู้ป่วย แต่ในกรณีของห้องพิเศษชั้น 14 จะเรียกว่าห้องพรีเมียม เป็นห้องสูทมีราคาแพง สร้างไว้เพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับรองรับผู้บังคับบัญชาหรืออดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูง ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
“ก็ต้องเข้าใจ ท่านทักษิณนี่อดีตนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญลูกสาวตอนนั้นจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือท่านเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) เป็น ก็คือเขามีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการเป็นแพทย์ใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องดูแล แต่ต้องเข้าใจกรมราชทัณฑ์ก่อน ถ้าได้ค้นคว้าเอกสารกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาล 500 เตียง เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ แล้วก็เป็นโรงพยาบาลที่มี 2 หน้าที่ ผู้อำนวยการต้องรักษาคนป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง
ป่วยแล้วมารักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชื่อคำว่าทัณฑสถานคือจำคุกด้วย ฉะนั้นต้องทำทั้งรักษาผู้ป่วยและควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนี ไม่ให้เกิดอันตรายที่จะมีใครมาทำร้าย ฉะนั้นสภาพโรงพยาบาลจึงต้องมีระบบตรวจสอบคนที่จะมาเยี่ยม มีคีย์การ์ด เพราะถ้าเกิดผู้ต้องขังมีอันตรายขึ้นในโรงพยาบาล..เป็นเรื่อง หรือผู้ต้องขังหลบหนีก็เป็นเรื่อง อันนี้จากเว็บไซต์ราชทัณฑ์เองนะ มีหมอทุกสาขา มีศัลยแพทย์ มีอายุรแพทย์ มีแพทย์หู คอ จมูก แพทย์ตา มีห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ห้อง ICU แล้วก็มีห้องกายภาพบำบัดด้วย สมมติไปพาตัดมาแล้วต้องกายภาพบำบัด”
นอกจากนั้น รพ.ราชทัณฑ์ ยังมีระบบกล้องวงจรปิดสอดส่องตามเตียงผู้ป่วยว่าจะมีเหตุร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาส่งตัวมาที่ รพ.ตำรวจ หากไม่ใช่ห้องที่เป็นกรงขัง การติดกล้องวงจรปิดก็ต้องระมัดระวังไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น อย่างเจ้าหน้าที่ที่มาเฝ้าอาจดูแค่เพียงว่ามีใครมาเยี่ยม ก็ต้องใช้กล้องวงจรปิดช่วยดูคนไข้ป้องกันการหลบหนีหรือเหตุอื่นๆ เช่น กินอาหารแล้วเกิดล้มลงไปจะได้มีหลักฐานสืบในภายหลังว่าเกิดจากอะไร
ส่วนคำถามในประเด็นอาการป่วยวิกฤต ตนได้ลองถามปัญญาประดิษฐ์ (AI) เจ้าดังระดับโลกอย่าง ChatGPT ว่า อาการป่วยหนักฉุกเฉินถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตมีโรคอะไรบ้าง พบว่าคำตอบที่ได้คือ ฉุกเฉินทางหัวใจ ฉุกเฉินทางสมอง ฉุกเฉินทางระบบหายใจ ภาวะติดเชื้อรุนแรง ภาวะเสียเลือดหรือสมดุลในร่างกาย มีโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ภาวะไตวาย ซึ่งคำตอบที่ ChatGPT ให้มาเป็นข้อมูลจริงของแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ส่วนคำถามว่า รพ.ราชทัณฑ์ รักษาอาการป่วยหนักเหล่านี้ได้หรือไม่ รพ.ราชทัณฑ์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA โดยกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับ รพ.ตำรวจ หมายถึงสามารถวินิจฉัยโรคคนไข้ได้ว่าป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ต้องรักษาแบบใด เกินกำลังของแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมีคนไข้ในเรือนจำแจ้งว่าป่วยฉุกเฉิน เป็นหน้าทีแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ ในการตรวจ และ ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ ต้องรับทราบ การตรวจต้องสามารถบอกได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ หากไมจริงก็กลับเข้าห้องขัง แต่หากป่วยฉุกเฉินก็ต้องไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ก็คือ รพ.ราชทัณฑ์
ส่วนมติของแพทยสภา ที่ชี้ว่าไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น และมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 เป็นผู้แถลงข่าว ก็ต้องยอมรับในความรู้ของท่าน เพราะเคยเป็นอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ และยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นตนเชื่อว่าท่านต้องใช้หลักวิชาการเต็มที่กับเอกสารที่ได้มา และในการประชุมแพทยสภาต้องนำเอกสารมาดูทั้งหมด และต้องผ่านสายตาคณบดีและผู้เชี่ยวชาญหลายคน ไม่ใช่เพียง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เพียงคนเดียว
ส่วนที่มีการลงโทษตักเตือนแพทย์ 1 คน และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีก 2 คน จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไปให้ถึงผู้สั่งการ จริงๆ แล้วสามารถถามได้ แต่จะตอบหรือไม่ก็เป็นเรื่องของคนคนนั้น และเรื่องนี้จะมีผลไปถึงการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลอาจรอขั้นตอนของแพทยสภาไปถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข ซึ่งเป็นสภานายกพิเศษลงนามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่หากไม่เห็นชอบก็ต้องมีเหตุผลประกอบ โดยขั้นตอนนี้มีระยะเวลา 15 วัน และตามกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้ขยายเวลาออกไป
โดยหากขั้นตอนนี้พิจารณาไม่เห็นชอบพร้อมระบุเหตุผล ก็จะส่งกลับคืนไปให้แพทยสภาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ประมาณวันที่ 10 มิ.ย. 2568 หากแพทยสภายังคงยืนยันมติของตนและผลการลงมติมีเสียงเกิน 2 ใน 3 ก็จะถือว่ามติแพทยสภาเป็นคำสั่งทางปกครอง อย่างแรกก็ต้องส่งไปให้ผู้ร้องเรียนและผู้ที่ร้องเรียน ซึ่งเมื่อได้รับแล้วก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองได้อีก ซึ่งก็มี 2 ระดับ คือศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีบุคคลภายนอกมาร้องให้แพทยสภาสอบสวนมาก่อน
“ปกติแล้วแพทยสภารับเรื่องจากคนป่วยโยตรง คนป่วยมาเขียนคำร้องเลยที่แทพยสภา บอกหลานฉันตราย เมียฉันตาย พ่อฉันตาย เนื่องจากหมอ ก. หมอ ข. แล้วไม่ได้รับความยุติธรรม 1-2-3-4 ขอให้แพทยสภาสอบสวน แพทยสภาก็เรียนคนป่วยมา ญาติคุณตายเพราะอะไรและคุณสงสัยหมออะไร พอสงสัยก็เรียกหมอมา มีคนสงสัยคุณ เขากล่าวหาคุณอย่างนี้ ตอบมาว่าคุณทำอย่างที่เขาบอกหรือเปล่า หมอก็บันทึกมา
เสร็จแล้วเรามีอันหนึ่ง เราเรียกว่าราชวิทยาลัย คือนักวิชาการเป็นอาจารย์เลย ซึ่งมาจากพูดง่ายๆ สถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนแพทย์ เป็นคณะกรรมการราชวิทยาลัย แต่กรรมการาชวิทยาลัยก็จะมีคณะกรมการจริยธรรมของเขา เมื่อส่งมาจากแพทยสภา ปรึกษาว่าที่คนไข้ร้องมาแบบนี้ - หมอฟ้องอย่างนี้ ตามหลักวิชาการแพทย์ไม่ว่าเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรคหัวใจ โรคผ่าตัด โรคเด็ก ราชวิทยาลัยต่างๆ ก็จะพิจารณาตามข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย แล้วก็ลงความเห็น สำคัญคือได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐาน มีจริยธรรมหรือไม่มีจริยธรรม”
เมื่อกรรมการจริยธรรมรับทราบผลการพิจารณา ก็จะส่งกลับไปให้แพทยสภา และหากเป็นกรณี คกก.จริยธรรมชี้ว่ามีมูลว่าแพทย์เป็นฝ่ายผิด แพทยสภาก็จะส่งต่อไปให้อนุกรรมการสอบสวน ก็ต้องเรียกผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำอีก ว่า คกก.จริยธรรม มีความเห็นแบบนี้แล้วจะโต้แย้งหรือไม่ คือให้โอกาสเต็มที่ เพราะชั้นสอบสวนนี้จะพิจาณาแบบลึกซึ้ง และกรรมการในชั้นนี้หากพบว่ามีส่วนได้ – ส่วนเสียกับเรื่องที่พิจารณาก็ต้องให้ออกจากที่ประชุม
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี