อย่าสับสน! ปลาหมอคางดำไม่ใช่มลพิษ
ในช่วงที่ผ่านมา กระแสข่าวและการแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียมีการกล่าวถึง “ปลาหมอคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) อย่างรุนแรงและคลุมเครือ ทั้งยังใช้ถ้อยคำที่ชี้นำถึงความเป็น “มลพิษ” หรือสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ และสุขภาพของมนุษย์ โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ คำกล่าวลอย ๆ เช่นนี้ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด และเบี่ยงเบนแนวทางการจัดการที่ควรเป็น ไปสู่การกล่าวโทษมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ก่อนจะตัดสินว่าปลาหมอคางดำคือมลพิษหรือไม่ ต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจคำว่า “มลพิษ” ในทางกฎหมายเสียก่อน
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของ “มลพิษ” (pollution) ไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึง “สิ่งใด ๆ ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมหรือเป็นอันตราย” ซึ่งครอบคลุมสารเคมี เสียง กลิ่น ความร้อน สารพิษ หรือเชื้อโรคที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต สาธารณสุข หรือคุณภาพชีวิตมนุษย์โดยตรง กล่าวคือมลพิษในเชิงกฎหมายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ “การก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม” ผ่านคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี หรือชีวภาพ
เมื่อเทียบกับปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเพียง “สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น” ที่สามารถปรับตัวและแพร่พันธุ์ได้ดีในแหล่งน้ำไทย โดยเฉพาะแหล่งน้ำกร่อย ปลาชนิดนี้มิได้สร้างสารพิษ ไม่ใช่พาหะของเชื้อโรคอันตราย และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดบ่งชี้ว่าบริโภคเนื้อปลานี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ดังนั้น จึงไม่อาจเรียกปลาชนิดนี้ว่าเป็น “มลพิษ” ได้เลยตามบทนิยามของกฎหมายไทย
สอดคล้องกับ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 ท่าน เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่กล่าวตรงกันว่า ปลาหมอคางดำไม่ใช่ปลามลพิษ โดยสนับสนุนการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตน้ำหมักชีวภาพ ที่ช่วยแก้ปัญหาโรคใบร่วงในสวนยางพารา สะท้อนได้ว่า นอกจากปลาชนิดนี้จะไม่ใช่มลพิษแล้ว แต่ยังสามารถสร้างให้เป็นทรัพยากรเชิงเกษตรเพื่อการพัฒนาได้
ในทางนิเวศวิทยา ปลาหมอคางดำจัดเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน (invasive alien species) ซึ่งมีผลต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่คำว่า “รุกราน” นั้นมิได้เท่ากับ “เป็นพิษ” หรือ “มลพิษ” ตรงกันข้าม หากจัดการและควบคุมมันอย่างมีประสิทธิภาพ ปลาหมอคางดำสามารถกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก เข้าถึงง่าย และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ปลาแดดเดียว น้ำปลา ข้าวเกรียบ หรือแม้แต่น้ำหมักชีวภาพ อีกทั้งการรับประทานปลาชนิดนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค ไม่ต่างจากการบริโภคปลานิลหรือปลาทับทิมที่เป็นญาติใกล้ชิดกันในตระกูลปลาหมอเทศ
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่พบสารตกค้างทางเคมีหรือสารพิษจากปลาหมอคางดำเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และไม่มีรายงานการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือปรสิตที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างชัดเจน การกล่าวหา ว่าปลาชนิดนี้ “เป็นมลพิษ” จึงไม่เพียงผิดพลาดในเชิงกฎหมายและวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากยังอาจส่งผลต่อการบริโภคและการจัดการสัตว์น้ำในระดับนโยบายที่หลงทาง
การมองปลาหมอคางดำในฐานะ “ศัตรูที่ต้องกำจัด” อย่างไร้แผน ไม่ใช่วิถีทางแห่งการจัดการที่ยั่งยืน ตรงกันข้ามจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งในเชิงนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ การส่งเสริมการจับขึ้นมาบริโภคหรือแปรรูป การศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีมูลค่า และการควบคุมประชากรด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การส่งเสริมผู้ล่าตามธรรมชาติ
ในโลกที่ทรัพยากรมีจำกัด การรู้จักนำสิ่งที่ “ดูเหมือนปัญหา” มาใช้เป็น “โอกาส” คือบททดสอบของสังคมที่มีวุฒิภาวะ การจัดการปลาหมอคางดำควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่จากการใส่ร้ายหรือกล่าวโทษอย่างขาดหลักฐาน สังคมไทยต้องก้าวให้พ้นจากความกลัวที่ไม่มีเหตุผล สู่การจัดการที่มีข้อมูล มีเป้าหมาย และใช้หลักวิชาการเป็นที่ตั้ง เพราะสิ่งที่อาจดูเป็นภัย หากรู้จักใช้อย่างชาญฉลาด มันอาจกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า
#นิกร ประกอบดี นักวิชาการอิสระ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี