ในเดือนกรกฎาคม จะมีวันสำคัญวันหนึ่งคือ “วันประชากรโลก (World Population Day)” ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดวันดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของปัญหาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างประชากร ขณะที่ในประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ประชากรและสังคม เป็นประจำโดยเลือกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี โดยในปีนี้ (1 ก.ค. 2568) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 หนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้คือการเสวนาหัวข้อ “EQUALITY สังคมที่ทุกคนเท่าเทียม” มีคณาจารย์จากสถาบันฯ มาบอกเล่าประสบการทำงานวิจัยด้านประชากรร่วมกับชุมชนท้องถิ่น
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัยหัวข้อ “การขับเคลื่อนกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ: บทเรียนและข้อคิด” กล่าวว่า หากพูดถึงความเท่าเทียมหรือเสมอภาค จะมีอยู่ 3 คำ คือ 1.สิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนกับการปลูกพืชที่ต้องได้รับแร่ธาตุในดิน สำหรับมนุษย์ก็คือเรื่องของอาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล 2.โอกาส เหมือนกับพืชที่เติบโตได้ด้วยแสงแดดและน้ำ แม้พืชจะได้รับแร่ธาตุเพียงพอแต่หากไปอยู่ในพื้นที่แสงแดดน้อยและขาดการรถน้ำก็อาจทำให้เติบโตได้ไม่ดี ซึ่ง 2 เรื่องนี้สังคมสามารถจัดให้เท่าเทียมกันได้
และ 3.ความต้องการ พืชมีทั้งที่ต้องการน้ำมาก – น้ำน้อยไม่เท่ากัน หรือต้องการดินปลูกแตกต่างกัน ซึ่งก็ไม่ต่างจากความต้องการของมนุษย์ ดังนั้นหากปูสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรให้เกิดความเท่าเทียมระดับพื้นฐานแล้วเสริมเข้าไปด้วยความเสมอภาคในการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความต้องการ ให้เขารู้จกการวิเคราะห์ด้วยตนเองว่าสิ่งที่สนใจหรือต้องการคืออะไร และมีการสนับสนุนเรื่องนี่ ก็สามารถทำให้เกิด “สังคมเสมอภาค” ได้
ซึ่งจากการได้ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะพบว่าเมื่อพูดถึงเรื่องก้าวแรกของชีวิต เรื่องการศึกษาคือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญมากที่ทุกสังคมควรจัดให้มีบริการอย่างมีคุณภาพ จากนั้นต่อยอดด้วยการให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยคณะผู้วิจัยได้ศึกษาใน 2 เรื่อง 1.การวิเคราะห์ขนาดการกระจายตัวของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อ้างอิงข้อมูลจากโครงการ Thailand Zero Dropout ที่ กสศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ กับ 2.การวิเคราะห์เครื่องมือหรือกลไกเพื่อใช้ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
“ขนาดของความเหลื่อมล้ำวัดจากตัวดัชนีง่ายๆ คือวัดจากเด็กๆ บางกลุ่มเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและภาคบังคับ เด็กอายุประมาณ 3 - 17 ปีเราดูเรื่องนี้ มีเด็กเกือบๆ 1 ล้านคนทั่วประเทศของเราที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ และกำลังเผชิญกับปัญหาในเรื่องนี้ ถ้าดูจากพีระมิดประชากรจะเห็นว่าการกระจายตัวทางด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามขนาดประชากร ไม่ได้หมายความว่าประชากรกลุ่มไหนมากจะมีคนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษามาก แต่มันไปจำกัดหรือกระจุกตัวอยู่ในประชากรบางกลุ่ม” รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าว
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า “ช่วงปฐมวัยและวัยรุ่นตอนปลายเป็นช่วงอายุที่เผชิญความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษามากกว่ากลุ่มอื่นๆ” ซึ่งทางออกสำคัญอยู่ที่ “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” กระจายอำนาจให้จังหวัด อำเภอและตำบลเป็นหน่วยจัดการศึกษา โดยจังหวัดต้องมองเห็นให้เร็วที่สุดว่าเด็กอยู่ที่ไหนบ้างแล้วใช้คนในพื้นที่ออกแบบนวัตกรรมการศึกษาให้เหมาะสม
ถึงกระนั้น โจทย์ที่สำคัญและใหญ่มากกว่าคือ “จะทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมไทยได้ตระหนักและเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือการเข้าไม่ถึงการศึกษาเป็นประเด็นร่วมของทุกคน?” เช่น เมื่อเราเห็นเด็กคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นลูกหลานของใครก็แล้วแต่ วันนี้ควรจะได้ไปโรงเรียนและได้เรียนในช่วงชั้นตามเกณฑ์ของช่วงวัยแต่กลับไม่ได้ไปเรียนตามที่ควรจะเป็นนั้น การที่คนอื่นๆ ในสังคมไม่เข้าไปยุ่งเพราะกลัวถูกมองว่ายุ่งเรื่องชาวบ้านนั่นหมายถึงสังคมยังไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสาธารณะ
ด้าน รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน หนึ่งในคณะผู้วิจัยหัวข้อ “เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้ข้อมูลประชากรเพื่อขับเคลื่อนสังคมสูงวัยอย่างมีพลัง” กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หมายถึงสัดส่วนประชากรร้อยละ 20 ของทั้งประเทศเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาประชากรกลุ่มนี้มักถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ขณะที่การทำให้สังคมเท่าเทียมกันอาจต้องดูความต้องการก่อนเป็นอย่างแรก
โครงการนี้ตั้งโจทย์ว่า “ข้อมูลประชากรที่มีอยู่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างไร?” เพราะการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่รู้จักประชากรของตนเองย่อมไม่สามารถวางแผนหรือออกแบบนโยบายได้ตรงจุดกับประชากรแต่ละกลุ่ม โดยโครงการนี้จัดอบรมให้กับ อปท. จำนวน 20 แห่ง แนะนำ “โปรแกรมพีระมิดประชากร” ที่จะช่วยให้เห็นโครงสร้างประชากรแต่ละเพศและช่วงวัยในพื้นที่ของตนเอง โดยข้อมูลประชากรนั้นอ้างอิงจากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังใช้กันน้อยทั้งที่เป็นข้อมูลที่ใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“จากประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชน อุปสรรคอย่างหนึ่งที่เราเจอในทุกโครงการคือทางพื้นที่เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นนักวิชาการ เขาก็จะคิดว่าเรามาเอาข้อมูลอะไร? เอาไปแล้วชุมชนได้ประโยชน์อะไร? ฉะนั้นเริ่มต้นเราต้องอธิบายแล้วก็สร้างความเข้าใจ สร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของของตัวชุมชนเอง ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราลงมาทำวิจัยในพื้นที่ก็เพื่อจะช่วยให้พื้นที่มีข้อมูลประชากรอะไรกลับไปใช้ในการพัฒนาในพื้นที่ของเขา” รศ.ดร.ศุทธิดา ระบุ
รศ.ดร.ศุทธิดา กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการส่งต่อข้อมูลวิจัยให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้นำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือด้วยความที่งานวิจัยมีลักษณะเป็นงานเชิงวิชาการอย่างมาก จึงต้องสรุปข้อมูลให้กระชับและเข้าใจง่ายสำหรับชุมชน รวมถึงต้องทำให้คนในพื้นที่ไม่รู้สึกว่านักวิจัยมาแล้วทิ้งงานไว้ให้ แต่เป็นการทำงานในฐานะ “ทีมเดียวกัน” ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน
บทสรุปของโครงการนี้ เมื่อภาควิชาการเข้าไปสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในพื้นที่หรือชุมชนเกิดความรู้สึกว่าการที่คนในพื้นที่มีองค์ความรู้ในการรู้จักประชากรของตนเองนั้นมีความสำคัญและจะนำไปใช้จริงได้อย่างไร “นำงานวิจัยลงสู่ชุมชนให้มากขึ้น” และจะผลักดันประเด็นอะไรขึ้นมาเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่ง อปท. นั้นเป็นฐานรากในการกำหนดนโยบายที่ดี!!!
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี