“เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ” เป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่อนาคตนั้นจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “การเลี้ยงดูและการจัดสภาพแวดล้อมรอบตัว” โดยเฉพาะปัจจัยด้าน “ความรุนแรง” ทั้งที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กหรือเด็กกระทำกันเองทั้งโดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2568 มีการเสวนาหัวข้อ “HEALTH CARE & AIR QUALITY สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการระดับชาติ ประชากรและสังคม ครั้งที่ 19
รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ บอกเล่าถึง “การพัฒนาโปรแกรมป้องกันการบูลลี่ในสถานศึกษา” หรือชื่อเต็มคือ “โครงการศึกษาสถานการณ์การรังแกในเยาวชนไทยและการพัฒนาโปรแกรมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใจของเยาวชนและป้องกันปัญหาการรังแกในโรงเรียน” เกิดเป็นนวัตกรรม “MU Bully Guard” ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมไม่ได้หมายถึงลมหายใจอากาศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันด้วย เพราะบางครั้งมนุษย์ก็สร้างความเป็นพิษ (Toxic) กับคนรอบข้างได้เช่นกัน
โครงการนี้เป็นการร่วมมือหลักระหว่าง 2 หน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิดล คือสถาบันวิจัยประชากรและสังคม กับคณะพยาบาลศาสตร์ และรวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) พร้อมด้วยความร่วมมือจากอีกหลายสาขาวิชา ทั้งนี้ สถานการณ์การรังแก (Bully) กันของเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น
ขณะที่ข้อมูลภาคสนามที่คณะทำงานเก็บจากตัวอย่างกว่า 600 รายจาก 24 โรงเรียน กระจายไปทุกภาคทั่วประเทศ เน้นกลุ่มโรงเรียนมัธยม อิงกับประชากรนักเรียนช่วงวัยรุ่น อายุระหว่าง 13 – 17 ปี พบว่า “เกือบร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง เคยมีประสบการณ์ทั้งการเป็นผู้ถูกรังแกและผู้ที่ไปรังแกคนอื่น” รูปแบบการรังแกส่วนใหญ่เป็นการใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝายเจ็บปวดทางใจ ซึ่งการรังแกกันนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตลอดจนพัฒนาการที่เด็กหรือเยาวชนคนหนึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ทุนวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2567 (ด้านสังคมและความมั่นคง) ในกลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง จึงนำข้อมูลโดยเฉพาะในเชิงคุณภาพที่เก็บจากครู พ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน มาสร้างสคริปต์สำหรับนวัตกรรม MU Bully Guard มีเนื้อหาแบ่งได้ 8 ตอน ทั้งรูปแบบคลิปวีดีโอถ่ายทำและรูปแบบแอนิเมชัน พร้อมกับมีแบบฝึกหัดท้ายบทในทุกตอน
“ทั้งหมดนี้ โครงสร้างของนวัตกรรมอยู่ภายใต้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ฉะนั้นถ้าเราเปิดเว็บไซต์ เปิดยูทูบ เราอาจเห็นนวัตกรรมพวกนี้เยอะอยู่พอสมควร แต่เท่าที่ตัวเอง Research (ค้นคว้า) เอง Concept (หลัก) ที่ใช้มันไม่ได้เป็นจิตวิทยาเชิงบวก อาจเป็นการผลิตซ้ำการรังแกด้วยซ้ำไปในหลายๆ คลิปวีดีโอที่นำมาใช้ให้เด็กดู ดังนั้นนวัตกรรมนี้จะไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง แล้วเอาไปใช้เป็นหลักสูตรให้เด็กได้ทำ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง” รศ.ดร.สุชาดา ระบุ
รศ.ดร.สุชาดา ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก ว่ามีองค์ประกอบหลัก เช่น ความยืดหยุ่น (Resilience) ใช้ชีวิตอย่างมีสติ (Mindfulness) รับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) เข้าอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ซึ่งหลักเหล่านี้จะถูกร้อยเรียงอยู่ในเรื่องเล่าหรือบทสนทนาในเนื้อหาทั้ง 8 ตอนของนวัตกรรม เพื่อให้แต่ละคนรู้ว่าจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เข้าข่ายรังแกผู้อื่นได้อย่างไร หรือเมื่อถูกรังแกจะรับมืออย่างไร หรือเมื่อพบเห็นเหตุการณ์การรังแกกันควรจัดการอย่างไรอย่างมีสติ
จากสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ กล่าวถึง “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมการเลี้ยงเด็กเชิงบวกและลดความรุนแรงต่อเด็กในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง” มุ่งเน้นไปที่ “สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว” หรือก็คือ “การเลี้ยงดูเด็ก” ซึ่งส่งผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากเลี้ยงไม่ดีก็จะเป็นการทำร้ายได้เช่นเดียวกับการที่เด็กถูกรังแก
“การเลี้ยงดูเด็กมีความสำคัญขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงยูนิเซฟ (UNICEF - กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งก็ได้จับเรื่องนี้เป็นประเด็น ที่มาที่ไปก็คือเรื่องการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมเป็นประเด็นสำคัญ อาจจะเป็นทางสังคมด้วย ทางสาธารณสุขด้วย แล้วก็มีการออกรายงานการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมที่จะลดผลกระทบของการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวควรจะเป็นอย่างไร” รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย กล่าว
รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย กล่าวต่อไปว่า การเลี้ยงดูเด็กเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งแต่เป็นพฤติกรรมของผู้ปกครอง ซึ่งมีความซับซ้อน ทำอย่างไรจะให้พฤติกรรมเลี้ยงดูมีความเหมาะสม ดังนั้นหากจะดำเนินการในเรื่องนี้ก็ต้องเริ่มที่กลุ่มเสี่ยงก่อน โดยโครงการนี้เลือกสำรวจสถานการณ์กลุ่มตัวอย่างครัวเรือนตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา พบพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมอยู่พอสมควร จากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น การเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย ความเครียด การไม่มีงานทำ ฯลฯ
จึงเกิดแนวคิดว่า หากจะพัฒนารูปแบบการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ (Intervention) เน้นกิจกรรมที่เข้าถึงคนหมู่มากได้ดีและนำไปปฏิบัติตามได้ไม่ยาก เป็นที่มาของการใช้สื่อภาพยนตร์โดยใช้นักแสดงจากคนในชุมชน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง มีสถานการณ์แบบเดียวกับกลุ่มเป้าหมายเอง และมีอิทธิพลในการปรับพฤติกรรมได้ดีกว่าภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดงทั่วไป
รูปแบบการจัดกิจกรรม จะมีการฉายภาพยนตร์กลางแปลง โดยหลังจากดูภาพยนตร์จบแล้วก็จะมีการพูดคุยกัน สรุปข้อความสำคัญ (Key Message) ในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเครียด และการเลี้ยงดูบุตรหลานบางครั้งก็ทำให้เกิดความเครียดเช่นกัน ดังนั้นจะใช้เทคนิคอย่างไรที่จะทำให้การเลี้ยงดูเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงลดผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ซึ่งเมื่อใช้กระบวนการวัดผลเพื่อพิสูจน์แล้วว่านวัตกรรมนี้มีประสิทธิภาพจริง ขั้นตอนต่อไปคือจะนำไปขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร นอกจากนั้นยังต้องไปชักชวนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพเด็ก เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภาคประชาสังคม (NGO) สถานศึกษา ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดต่อให้ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าการเลี้ยงดูที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร สุดท้ายคือจะทำให้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นถูกใช้ในระยะยาว ไม่ใช่โครงการจบแล้วก็เลิกได้อย่างไร!!!
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี