วันพุธ ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558, 16.53 น.
8 เม.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โพสต์เฟซบุ๊ก
"หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)" ตีแผ่ถึงงบประมาณที่รัฐอนุมัติให้เป็นค่าตอบแทนพระสงฆ์ หรือที่เรียกว่า "เงินนิตยภัต" ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.22 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่รัฐได้จากภาษีของประชาชน แล้วนำมาจ่ายให้พระสงฆ์ตั้งแต่ระดับสมเด็จพระสังฆราชจนไปถึงเลขานุการเจ้าคณะตำบล โดยจำนวนเงินจะลดทอนไปตามสมณศักดิ์
พระพุทธะอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดังนี้
งบประมาณที่รัฐอนุมัติให้เป็นค่าตอบแทน เรียกว่าเงินนิตยภัตสำหรับเป็นค่าตอบแทนพระสังฆาธิการ พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์และมหาเปรียญ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๒๒๕,๕๗๒,๔๐๐ บาท (หนึ่งพันสองร้อยยี่สิบห้าล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นสองพันสี่ร้อยบาทถ้วน)
เงินเหล่านี้ทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบเพื่อให้ได้เงินมา แล้วยังต้องเจียดจานแบ่งส่วนหนึ่ง นำมาเสียภาษีให้รัฐ รัฐจึงนำมาใช้พัฒนาบ้านเมือง สังคมเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุดหนุนชีวิตของนักบวช
เพื่อช่วยให้มีชีวิตผ่อนคลายจากความขาดแคลน ในเวลาทำหน้าที่ปกครองบริหารจัดการสังฆมณฑลและศาสนจักรให้สงบเรียบร้อยถูกตรง ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา รัฐเขาจึงจ่ายเงินให้เป็นค่าตอบแทนด้วยเพราะคิดว่า เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น จะทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของรัฐบาล ไม่ปล่อยให้บุคลากรในสังฆมณฑลมาสร้างปัญหาให้แก่สังคมดังเช่นปัจจุบันนี้
แต่พวกเจ้าคณะปกครองแทนที่จะมีจิตสำนึกรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ ทำตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน
อีกทั้งพวกเจ้าคณะปกครองทั้งหลายนี้ หลายรูปมีพฤติกรรมเอาเปรียบข้าราชการประจำและลูกจ้างชั่วคราวทั้งประเทศอย่างน่าเกลียดมากๆ พี่น้องคงสงสัยว่าพวกนี้เอาเปรียบยังไง หากสงสัยจะลากไส้ออกมาให้ดู
เราลองมาดูค่าจ้างในการทำหน้าที่เจ้าคณะปกครองแต่ละลำดับชั้นกันว่า แต่ละตำแหน่งมีเงินค่าจ้าง หรือจะเรียกให้ดูดีก็คือเงินนิตยภัต เงินอุดหนุน เงินค่าตอบแทน
สรุปแล้วก็คือ รัฐต้องนำเงินภาษีมาจ่ายให้แก่เจ้าคณะปกครองพวกนี้ทุกๆ เดือนโดย
หากเป็นตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า จะได้รับเงินเดือนละ ๓๗,๗๐๐ บาท
หากเป็นแค่สมเด็จพระสังฆราช โดยมิได้มาจากเชื้อพระวงศ์ก็ได้เดือนละ ๓๔,๒๐๐ บาท
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชได้เดือนละ ๓๐,๘๐๐ บาท
สมเด็จพระราชาคณะ ๒๗,๔๐๐ บาท
กรรมการมหาเถรสมาคม ๒๓,๙๐๐ บาท
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือใต้ออกตกและธรรมยุติได้เดือนละ ๒๓,๐๐๐ บาท
พระราชาคณะและรองพระราชาคณะ ได้เดือนละ ๒๐,๕๐๐ บาท
เจ้าคณะภาคและแม่กลองบาลี แม่กองธรรม ได้ตำแหน่งละ ๑๗,๑๐๐ บาท
รองเจ้าคณะภาค ๑๓,๗๐๐ บาท
เจ้าคณะจังหวัดและตำแหน่งเลขาสมเด็จพระสังฆราช ได้เดือนละ ๑๐,๓๐๐ บาท
พระราชาคณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะปกครองและรองชั้นสัญญาบัตรและเจ้าคุณชั้นธรรม ทั้งหมดได้เดือนละ ๑๓,๗๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นเทพ ได้เดือนละ ๑๐,๓๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นราช ได้เดือนละ ๖,๙๐๐ บาท
เปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้เดือนละ ๖,๙๐๐ บาท
เจ้าคุณปลัดขวา ปลัดซ้าย ปลัดกลาง และเจ้าคุณชั้นสามัญ เช่นเจ้าคุณเมธีธรรมาจารย์ ทั้งหมด ได้เดือนละ ๕,๕๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญ ๗ ได้เดือนละ ๕,๒๐๐ บาท
เจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกได้ ๔,๘๐๐ บาท
เจ้าคุณรองเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าอาวาสอารามหลวงชั้นโทได้เดือนละ ๔,๕๐๐ บาท
เจ้าคณะอำเภอได้เดือนละ ๔,๑๐๐ บาท
พระครูชั้นเอกได้เดือนละ ๓,๘๐๐ บาท
เลขานุการเจ้าคณะหนได้ ๓,๘๐๐ บาท
เลขานุการเจ้าคณะภาคได้เดือนละ ๓,๔๐๐ บาท
รองเจ้าคณะอำเภอและพระครูชั้นโทลงมา ได้เดือนละ ๓,๑๐๐ บาท
เจ้าคณะตำบลได้เดือนละ ๒,๕๐๐ บาท
เจ้าอาวาสได้ ๒,๒๐๐ บาท
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้ ๑,๘๐๐ บาท
เลขานุการเจ้าคณะตำบลได้ ๑,๒๐๐ บาท
เหล่านี้คือข้อมูลคร่าวๆ ที่ยกมาให้เห็นว่า นักบวชพวกนี้ล้วนได้รับเงินเดือนจากรัฐ แต่ปฏิเสธการทำหน้าที่ ละเลย ละเว้น ไม่ปฏิบัติ หรือเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังไม่ยอมรับการตรวจสอบจากภาครัฐและประชาชน เช่นนี้จะไม่เรียกว่าเอาเปรียบแล้วจะเรียกว่าอะไร
ทำตนเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย เหนือการตรวจสอบ เหนือปัญหา ไม่รับผิดชอบ และวางเฉยต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนของพุทธบริษัท ไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ใน พรบ.คณะสงฆ์ ที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะพระสังฆาธิการ