ในยุคการค้าเสรีที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าต่างก็หามาตรการด้านอื่น โดยเฉพาะด้านมาตรฐานสินค้าปลอดภัย มาเป็นตัวกีดกันทางการค้าแทน ดังนั้น การผลิตพืชตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practice (GAP) จึงถือเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นายวัชรินทร์ อุปนิสากร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร ในส่วนการตรวจและออกใบรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP สำหรับพืชผักและไม้ผล โดยใบรับรองมาตรฐานที่ออกให้จะเรียกว่า Q GAP ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจะถือว่ามีมาตรฐานการผลิตที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลจากการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรสมัครเข้าสู่ระบบแปลง GAP ประมาณ 181,960 แปลง กรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรอง Q จำนวน 155,230 แปลง คิดเป็น 85% ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจรับรอง
วัชรินทร์ อุปนิสากร
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศถือว่ามีเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน GAP เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ไม่ถึง 10% ทั้งที่ความเป็นจริงเกษตรกรควรจะตระหนักและให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP เพราะ GAP เป็นมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่เปรียบเสมือนใบขับขี่สากลที่ใช้ได้ทั่วโลก ไม่ว่าท่านจะส่งสินค้าไปประเทศไหนก็สามารถดำเนินการได้ ในทางกลับกันถ้าไม่ได้รับการรับรอง GAP แม้กระทั่งในการจำหน่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดบนอย่างห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือ Modern Trade ก็เริ่มลำบาก เพราะส่วนใหญ่จะคัดเลือกสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เข้าไปวางจำหน่าย ขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานสินค้า ในการสร้างตลาดเกษตรกร หรือ Farmer Market ต้องการให้เกษตรกรนำสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงสินค้าที่มีการรับรองมาตรฐานไปวางจำหน่าย ดังนั้น ต่อไปนี้สินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ก็จะมีช่องทางจำหน่ายลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่จะตามมาคือสินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
ถึงแม้มาตรฐาน GAP ของไทยเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว แต่เมื่อไทยเป็นสมาชิกอาเซียน ที่มีข้อกำหนดให้เทียบเคียงมาตรฐานอาเซียน หรือ ASEAN GAP ซึ่งมีข้อกำหนดเป็นมาตรฐานย่อย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน และด้านคุณภาพของผลผลิต โดยประเทศสมาชิกต้องเทียบเคียงมาตรฐานอาเซียนให้เสร็จภายในปี 2558 สำหรับประเทศไทยนั้นสามารถเทียบเคียงมาตรฐานอาเซียนครบ 100% ทั้ง 4 ด้าน ตั้งแต่ปี 2556 และสำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้ปฏิบัติในการตรวจและรับรองแปลง GAP ของไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด จำเป็นต้องคำนึงนอกเหนือจากมาตรฐานกลางที่ใช้ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขอนามัยพืช คือแมลงศัตรูที่ติดไปกับผลผลิต เพราะเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งขณะนี้ทาง มกอช.ยังไม่สามารถทำมาตรฐานกลาง GAP รายพืชออกมา สิ่งที่กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการในเบื้องต้นคือพัฒนารายการตรวจเพิ่มเติมจากมาตรฐานกลาง โดยเพิ่มการตรวจเข้มด้านสุขอนามัยพืช ครอบคลุมแมลงศัตรูพืชที่เป็นแมลงกักกัน (แมลงวันทอง) อย่างน้อย 3 ชนิดพืช ได้แก่ ชมพู่ มะม่วง ฝรั่ง เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า
นายวัชรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานกลาง GAP ฉบับใหม่นี้ไม่เพียงมุ่งไปที่เกษตรกรผู้ผลิต หรือผู้ตรวจประเมิน ตรวจรับรองมาตรฐานเท่านั้น ผู้บริโภคเองก็จำเป็นต้องใส่ใจหรือมีการจำแนกสินค้าตัวไหนผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ Q ก็จะทำให้ได้สินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารพิษตกค้าง หรือจุลินทรีย์ ซึ่งผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้ามีคุณภาพมากขึ้นด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี