เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ประชุมร่วมกับ นายพุฒิพัฒณ์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เรื่องการแก้ปัญหาการบุกรกพื้นที่ภูทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยนายชลธิศ แถลงภายหลังประชุมว่าพื้นที่ภูทับเบิก เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์เดิม นำไปจัดสรรให้กับชาวไทยภูเขาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งทำกิน พื้นที่ 47,000ไร่ จำนวน3,500 ครัวเรือน หลังปี 2545ที่มีการปฏิรูประบบราชการ การทำงานของกรมประชาสงเคราะห์ ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดูแลพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงทำให้พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ราษฎรนำพื้นที่ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างที่เห็นปัจจุบัน จากปี2556-2557 ทางกรมพัฒนาสังคมฯมีการตรวจสอบ พบว่า มีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ จึงได้ประสานกับกรมป่าไม้ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดี จำนวน 27 คดีและ ศาล ได้มีคำสั่งและคดีสิ้นสุดแล้ว 10 คดี
“ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ กรมป่าไม้และกรมพัฒนาสังคมฯ จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งว่านอกจาก 27คดีที่มีอยู่ ในขณะนี้มีรายใดอีกบ้างที่ทำผิดเจตนารมณ์ของกรมประชาสังเคราะห์เดิม โดยกรมป่าไม้พร้อมจะเข้าไปดำเนินคดีทุกราย ซึ่งทางทีมพยัคฆ์ไพรของเราพร้อมทำงานตลอด24ชั่วโมง”
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ปัญหานี้ต้องดูในแง่รัฐศาสตร์ด้วยเพราะหากบางรายสร้างโฮมสเตย์ หรือ เพิงพักสำหรับนักท่องเที่ยวขนาดเล็ก ไม่ขัดกับระบบนิเวศที่เป็นอยู่ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งหมด 47,000 ไร่จะเป็นโฮมสเตย์ และเอาไร่กระหล่ำปลี มาอ้างทั้งหมด คงไม่ได้ ต้องมีการโซนนิ่งพื้นที่อย่างชัดเจนและยืนยันว่าภายในปีนี้เหลือเวลาอีก 2เดือนจะมีคำตอบว่าจะทำอย่างไรกับภูทับเบิกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปจัดทำโรดแม็พออกมาชัดเจนว่าจัดการอย่างไร
ด้าน นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่าสำหรับเจตนารมณ์เดิมของกรมประชาสงเคราะห์ที่จัดสรรที่ดินให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เข้ามาอยู่คือการอนุรักษ์ทรัพยากร การป้องกันปัญหายาเสพติดและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยตั้งแต่ปี 2509ที่กรมป่าไม้มอบที่ดินให้กรมประชาสงเคราะห์ไปนั้น สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป การเข้าไปดำเนินการก็จะต้องมีการผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยแต่จะต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์เดิม
ทั้งนี้ นายพุฒิพัฒน์ยังระบุว่า ทางกรมพัฒนาสังคมฯมีรายชื่อประชาชนที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ทั้ง 3,500 ครัวเรือนแต่จะไปบอกว่าคนที่ครอบครองอยู่เวลานี้ ไม่ใช่รายเดิมที่กรมประชาสงเคราะห์ มีรายชื่ออยู่ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านั้นอาจจะมีลูกมีหลานที่ได้รับการตกทอดมา ดังนั้น การตรวจสอบอย่างละเอียดแบบเอ็กซเรย์พื้นที่ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้จึงสำคัญอย่างมากเพราะจะได้พิสูจน์ให้ชัดว่า พื้นที่ใด เป็นของนายทุน หรือคนนอกที่มากอบโกยผลประโยชน์
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กล่าวว่าจากข้อมูลของกรมพัฒนาสังคมฯ มีรีสอร์ทที่ใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ จำนวน57แห่ง ขณะนี้จะดำเนินการในส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ครอบครองและบริวารออกจากพื้นที่ แล้วจำนวน 10 คดีได้แก่ 1.ไร่เติมรัก 2.ริมธารรีสอร์ท 3.โรงเตี๊ยม 4.ช้างทอง 5.สมบุญรีสอร์ท 6. กาแฟแม่ล้ำ 7.เอนกาย@ภูทับเบิก 8.ยูงทอง 9.ทับเบิกวิลเลจ และ 10.ภูทองคำ โดยจะส่งหนังสือถึงกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมเพื่อบังคับคดีและรื้อถอนต่อไป ในส่วนที่เหลือ ถ้าพบว่า มีการต่อเติมขยายพื้นที่ออกมาไม่ยอมหยุด ก็จะดำเนินคดีต่อไป
ที่โบสถ์คริสตจักรภูทับเบิก หมู่16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกับผู้นำท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ โดยมีผู้ใหญบ้านในพื้นที่และผู้ประกอบการเจ้าของรีสอร์ทและร้านค้ากว่า 114ราย เข้าร่วม เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว
โดยได้ชี้แจงมาตรการแนวทางเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต เป็นการเฉพาะหน้าใน 5 ด้าน คือ 1.ปัญหาสิ่งก่อสร้างอาคาร ที่พัก จะมีกฎหมายผังเมืองรวมเพชรบูรณ์ ประกาศใช้ในเดือนธันวาคมนี้ 2.มาตรฐานราคาที่พักและราคาอาหาร ต้องติดป้ายราคาให้ชัดเจ3.การป้องกันเหตุอัคคีภัย ให้ติดตั้งถังเคมีดับเพลิง 4.การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ให้รีสอร์ทจัดเก็บและคัดแยกรวมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไป 5.การอยู่ร่วมกันของชุมชน ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว รวมถึงด้านการสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลรักษาและการใช้พื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวภูทับเบิกในระยะยาว ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ จะประกาศใช้กฎหมายผังเมืองรวม ทางรีสอร์ทเตรียมเข้าสู่ระบบ จะต้องขออนุญาตก่อสร้าง หากไม่ถูกต้องก็ต้องปรับปรุง แก้ไข การออกข้อกำหนดการก่อสร้างอาคารสูงของท้องถิ่นและการจัดทำฐานข้อมูลทำสำมโนประชากรและเขตที่ดินให้เป็นปัจจุบันและตรงข้อเท็จจริงให้มากที่สุด
“จากนี้ใครจะก่อสร้าง เบื้องต้นต้องมีการรับรองจาก ศูนย์พัฒนาชาวเขาและผู้ใหญ่บ้านก่อนว่าเป็นราษฎรภูทับเบิก ต่อไปนี้จะทำให้ถูกต้อง เริ่มจัดระเบียบก่อน จะเข้าสู่กฎหมายผังเมือง อะไรที่ไม่เรียบร้อย ก็ต้องปรับแก้ หากไปบุกรุกพื้นที่ ก็ต้องดำเนินคดี หากกฎหมายออกมาให้แก้ ไม่แก้ ก็ต้องรื้อถอน” นายบัณฑิต กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี