การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนทางภาวะเศรษฐกิจโลก กฎ กติกาการค้าใหม่ที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงตามการเมือง ปัญหาภัยพิบัติ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งสิ้น
นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในวาระที่แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 กำลังจะสิ้นสุดในปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้วางยุทธศาสตร์แนวทางพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 2560-2564 ไว้แล้ว โดยปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ตั้งเป้าให้ภาคเกษตรสู่ความเป็นเลิศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน
ฉะนั้นแผนพัฒนาภาคเกษตรฉบับใหม่จะมุ่งเน้นไปที่ความผาสุกของเกษตรกรและชุมชนการเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับแรก เนื่องจากเกษตรกรเป็นอนุภาพสำคัญของภาคเกษตร เหมือนกับเป็นอะตอมเล็กๆ ประมาณ 6.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเกษตรกรไทยทั้งหมดประมาณ 28 ล้านคน เกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาภาคเกษตร หากเกษตรกรมีความผาสุกจากการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สินลดลง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้ชุมชนเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรด้านอื่นต่อๆ ไปได้ด้วย
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายดัชนีความผาสุกของเกษตรกรจะต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 77 ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 85 สถาบันเกษตรกรทำธุรกิจมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการฟื้นฟูใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
การจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องดำเนินการภายใต้ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้วยการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ สร้างองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.882 ศูนย์) พัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นคงในอาชีพเพื่อดึงเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนแรงงานเกษตรที่ขาดแคลนรวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเกษตรผู้สูงวัย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระดับกลางหรือระดับบนที่มีความสามารถในการผลิตเพื่อการค้าหรือการส่งออก ให้มีการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด สามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยและเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบ Cluster สร้างเครือข่ายและทำข้อตกลงซื้อขาย Contract Farming เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมแปรรูป
นางสาวจริยา สุทธิไชยา
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเรื่องของงานวิจัยพัฒนาการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเชิงทฤษฎี เช่น พันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พืชใช้น้ำน้อย หรือพันธุ์สัตว์ที่ต้านทานต่อโรค การวิจัยพัฒนาอาหารสัตว์ หรือนวัตกรรมเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนมุ่งเน้นไปที่การดูแลเรื่องทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการผลิตทางการเกษตรที่ดีต่อไป ที่สำคัญทรัพยากรน้ำต้องมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน พร้อมกับเพิ่มและปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและแหล่งน้ำชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
“การขับเคลื่อนนโยบายหรือทิศทางภาคเกษตรไทย ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 จะเน้นหนักไปที่การสร้างความผาสุกของเกษตรกร ด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม พัฒนาเกษตรกรให้มีความรอบรู้ทุกด้านเป็น Smart Farmer อย่างแท้จริง เช่น เปลี่ยนจากเกษตรกรที่เก่งด้านการผลิตอย่างเดียวมาเป็นเกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเป็นเกษตรกรนักการตลาด ที่รู้ว่าผลิตสินค้ามาแล้วตลาดอยู่ที่ไหน สินค้าอะไรที่ตลาดมีความต้องการ ระบบโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าจากฟาร์มไปถึงแหล่งรับซื้อแบบไหนจึงจะประหยัดต้นทุนได้ดีที่สุด เป็นต้น ที่สำคัญคือเกษตรกรต้องมีสังกัด ไม่เป็นเกษตรกรรายเดี่ยวต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต เพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี