28 มิ.ย.59 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงภาพรวมการบุกพื้นที่บริเวณเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ว่า จากการที่ให้ทีมงานศึกษาพื้นที่เขาใหญ่เรื่องรายละเอียดการออกเอกสารสิทธิ์ ปรากฏว่าออกมาจากพรบ.นิคม ที่มีกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของสังคมและมนุษย์ (พม.)จะดูแลเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และผู้เลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีที่ทำกิน โดยการจัดสรรให้คนเหล่านี้มีที่ทำกิน และในระยะหนึ่งจะมีการออกหนังสือรับรองการครอบครองสิทธิที่ดินเป็นนส. 3 หลังจากนั้นก็จะสามารถออกโฉนดที่ดินได้ โดยระหว่างนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายมือเป็นบ้านพักหรู หรือรีสอร์ท ดังนั้น จึงตรวจสอบว่าในการออกเอกสารสิทธิ์เหล่านี้เข้าไปรุกล้ำในที่พื้นที่ป่า พื้นที่สปก.หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แต่ละครั้งของเจ้าหน้าที่หลายหน่วย หากตรวจสอบไม่ลึกจะพบว่ามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องและก็จะไม่ตรวจสอบต่อว่ามีการรุกล้ำเข้าไปในเขตอื่นหรือไม่
ตนจึงให้เจ้าหน้าที่ทำแผนที่โดยใช้แผนที่แนบท้ายพรบ.นิคมฯ มาตรวจสอบกับแผนที่เป็นโฉนดที่ดินลงในมาตราส่วนเดียวกันว่ามีตรงไหนบ้าง พบจุดที่น่าสงสัย คือ การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินนอกเขตของนิคมสร้างตนเอง โดยอาศัยพรบ.นิคมฯ มาออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งในส่วนของพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จ.นครราชสีมา พบทั้งหมด 17 จุด พร้อมเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
“เมื่อเราพบการกระทำผิดและได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่เวลาเจ้าหน้าที่รัฐไปให้ข่าวจะไม่ตรงข้อมูลกับของทีมงานตนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งเดิมเราไปตรวจสอบที่ตรงนั้นเป็นสีเทาและดำเนินการไปเรื่อยๆจนทราบว่าเป็นสีดำ แต่พอเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานไปให้ข่าวว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกต้อง ส่วนบริเวณที่ผิดได้เพิกถอนไปแล้วซึ่งมันไม่ตรงกัน โดยเราทำตามหน้าที่กฎหมาย พยานหลักฐานทุกอย่าง ขอให้มั่นใจในการทำงานของกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมพบว่ามีความผิดบริเวณโดยรอบนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เนื่องจากมีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าเขาภูหลวง พื้นที่ป่าโครงการรถไฟมวกเหล็ก พื้นที่ สปก. และ เขตพื้นที่ชุ่มน้ำในนิคมสร้างตัวเองลำตะคอง ซึ่งหากออกนอกพื้นที่ทั้งหมดถือว่าน่าสงสัยแล้วแต่ใครจะมากหรือน้อยต้องตรวจสอบกันต่อไป” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว
ต่อข้อถามกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นั้น พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่าต้องย้อนดูว่ามันมีความผิดเริ่มต้นมาจากเมื่อไหร่และไปสอบถามชาวบ้านซึ่งมีชื่อเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเอง รวมทั้งสอบถามว่ามีการประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมบริเวณนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎระเบียบผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรที่ดินนิคมฯในการทำกิน
“เวลาได้ที่ดินมาแล้วชาวบ้านได้ทำมาหากินเองหรือไม่ หรือให้บริษัทเอกชนเช่าสิทธิหน้าดินทำกิน ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรก ฉะนั้น เมื่อหน่วยงานรัฐเห็นปัญหาไม่ใช่จะเอาความผิดชาวบ้านอย่างเดียวต้องกลับไปแก้ไขด้วย เช่น หากภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศพบว่าในพื้นที่ไม่มีการทำประโยชน์แล้วชาวบ้านไปทำมาหากินอะไร มีการทำมาหากินจริงหรือไม่ ก็ต้องกลับไปช่วยเหลือให้ถูกต้อง" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับความเป็นมาของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2515 ให้จัดตั้งสร้างนิคมตนเองลำตะคอง โดยได้จำแนกป่าปากช่อง -หมูสี เนื้อที่ 444 ตารางกิโลเมตร และป่ารถไฟมวกเหล็ก 2.4 ตารางกิโลเมตร (เนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ ) ให้เป็นนิคมสร้างตนเองลำตะคอง (เอกสาร 1) และแผนที่แนบท้ายประกาศคณะปฎิวัติ กำหนดขอบเขตไว้ชัดเจน (เอกสาร 2)
โดยจังหวัดนครราชสีมา ได้มีประชุมคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2538 ให้มีการขยายแนวเขตนิคมสร้างตนเองเพิ่มจากแนวเขตแผนที่แนบท้ายประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2515 เพิ่มจากเดิม (เอกสาร 5)
ทั้งนี้ แนวเขตที่เพิ่มขึ้น ของคณะกรรมการตรวจสอบสอบแนวเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ได้ขยายพื้นที่เขาไปรวมพื้นที่ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) เนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯได้เข้าดำเนินการแล้วและบางพื้นที่ได้มีการรังวัดเพื่อออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากนิคมสร้างตนเองฯ ได้ออกเอกสาร น.ค. 3 แต่ได้นำไปออกเอกสารโฉนดที่ดิน โดยใช้ชื่อชาวบ้านเป็นนอมินี โดยขั้นตอนการออกโฉนดที่ดินมีการมอบให้บุคคลเพียงคนเดียวไปนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเนื้อที่กว่า 2,400 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวคือ ทอสคาน่า
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า พื้นที่นิคมสร้างฯ ที่ขยายเพิ่มเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะออกนอกเขตพื้นที่แนบท้ายประกาศคณะปฏิวัติ ฯไม่มีกฎหมายรองรับ การออกเอกสารทั้งหมด จึงเป็นการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น นิคมสร้างตนเองฯ ยังได้ออกเอกสาร น.ค.3 ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 ม.ค.2514 ให้รักษาไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ออกเอกสาร น.ค.3 และมีการนำออกโฉนดที่ดินในภายหลัง ซึ่งการดำเนินการมีลักษณะเดียวกันกับทอสคาน่า และพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของนายทุนซึ่งไปก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ทอสคาน่า คีรีมายา กรีนเนอรี่ เขาใหญ่ ฟาร์มโชคชัย มูนแด็นซ์ เทมวัลลีย์ เขาใหญ่ เรสซิเด้นท์ เรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ทแอน คันทรี คลับ และอีกหลายโครงการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี