เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นำกำลังเจ้าหน้าที่ 100 นาย ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ทหารบก ทหารเรือ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้าตรวจสอบทรัพย์สิน และเส้นทางการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัท ทรานลี่ เทรเวล จำกัด หรือบริษัทไทลี ที่มีนายกชกร รุ่งมงคลนาม และนายวีรชัย คำไผ่ประพันธ์กุล เป็นเจ้าของ และถูกศาลจังหวัดภูเก็ตออกหมายจับ ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวแต่อ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชน และนำไปจดทะเบียนนิติบุคคลประกอบธุรกิจนำเที่ยว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่แบ่งกำลังเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดตรวจสอบกิจการที่เกี่ยวข้องต่อการขนส่งทางเรือ และยานพาหนะนำเที่ยวทางทะเล นำโดย พ.ต.อ.ภรศักดิ์ นวลหนู รอง ผบก.สส.ภ.8 นำหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต เข้าตรวจค้นบริษัท อินทรีมารีน จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยตรวจยึดเรือที่ให้บริการนำเที่ยวไว้ตรวจสอบ 29 ลำ รวมทั้งเอกสารทางบัญชี
จุดที่ 2 พ.ต.ท.ปองภพ ประสพพิชัย สารวัตรหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัท ที.แอล.เบทเตอร์เวย์ จำกัด พื้นที่เกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับการขนส่งทางบก (รถบัสรับส่งนักท่องเที่ยว) โดยตรวจยึดรถรถบัส 53 คันไว้ตรวจสอบ
จุดที่ 3 เจ้าหน้าที่นำหมายศาลจังหวัดภูเก็ต เข้าตรวจสอบที่บริษัท ราชา สปา จำกัด ตั้งอยู่ในหมู่บ้านภูเก็ตวิลล่า 5 ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต นำโดยพ.ต.ท.รัฐเขต มั่นเมือง สารวัตรสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตรวจยึดเอกสารทางบัญชีเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน
พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตเปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรานลี่ เทรเวล จำกัดครั้งนี้ เบื้องต้นตรวจยึดเรือสปีดโบต 29 ลำ รถบัส 53 คัน ไปตรวจสอบ ซึ่งจะไม่กระทบต่อนักท่องเที่ยวที่จองทัวร์กับบริษัทในเครือแต่อย่างใด เนื่องจากทางบริษัท ทรานลี่ มีเรือสำรองจากบริษัทอื่นๆ มาให้บริการอยู่อยู่แล้ว เช่นเดียวกับในส่วนรถบัส ที่ขอใช้รถบัสจากสมาคมท่องเที่ยวอันดามัน มารับรับส่งนักท่องเที่ยวแทนในช่วงที่เจ้าหน้าที่ยึดรถไปตรวจสอบ
สำหรับบริษัท ไท่ลี่ หรือทรานลี่ เทรเวล จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจ.ภูเก็ต ทั้งเรือนำเที่ยว รถบัสรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก สปา ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก มีนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม หรือนายไอ่สาม เสียงสี และนายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล อยู่ระหว่างหลบหนี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ขณะนี้ถูกศาลจังหวัดภูเก็ตออกหมายจับ เนื่องจากเป็นบุคคลต่างด้าวแต่อ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชนแล้วนำไปจดทะเบียนนิติบุคคลประกอบธุรกิจนำเที่ยวถึง 17 บริษัท พร้อมทั้งมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีให้ทุนต่างชาติ โดยดำเนินคดีต่อสองผู้ถือหุ้นใหญ่ ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.บัตรประชาชน และ ป.อาญา-แจ้งความเท็จ ให้เจ้าพนักงานทะเบียนข้อความอันเป็นเท็จ
ทั้งนี้ 17 บริษัทในเครือทรานลี่ฯนั้น ประกอบด้วย บริษัท ทรานลี่ เทรเวล จำกัด บริษัท หยางกวง จำกัด บริษัท แมนตา มารีน จำกัด บริษัท ภูเก็ต ปิง เฟรนด์ จำกัด บริษัท เหมยลี จำกัด บริษัท ภูเก็ต บลู เฮเว่น โดฟ์วิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท เคนย่า แอนด์ แฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไท่ลี่ อิมพอร์ต จำกัด บริษัท ที.แอล เบทเตอร์เวย์ จำกัด บริษัท อินทรีมารีน จำกัด บริษัท บลู เวฟ เวฟ รีสอร์ท จำกัด บริษัท บลูเบย์ รีสอร์ท จำกัด บริษัท เนเซอรัล เบย์ จำกัด บริษัท เวนิส ซีวิว จำกัด บริษัท ราชาสปา จำกัด บริษัท สบันงาสปา จำกัด และบริษัท เซียน ซาบู ซาบู จำกัด
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ปฎิบัติการตรวจยึดทรัพย์สินของบริษัททัวร์จีนที่เข้าข่ายนอมินีของบริษัท ทรานลี่ฯและบริษัทในเครือครั้งล่าสุดสืบเนื่องจาก สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สาขาภาคใต้เขต 2 ภูเก็ตได้ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวของบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบควบคุมการประกอบกิจการของคนต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และ จ.ภูเก็ตเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย หลังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการธุรกิจนอมินีเข้ามาจำนวนมาก และเป็นที่มาของการตรวจสอบเชิงลึกผู้บริหารบริษัทดังกล่าว
โดยพบว่ามีการใช้บัตรประชาชนคนไทยนำมายื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ให้สามารถถือหุ้นได้ 51 % และมีบริษัทในเครือข่ายนี้อีก 17 บริษัท ทั้งหมดเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น เรือ รถรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ดำเนินการร่วม 10 ปี มีนายวีระชัยกับนายกฤชกร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยบุคคลทั้ง 2 คนเป็นต่างด้าว และใช้เอกสารอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อีกทั้ง ยังพบว่าบัตรประชาชนที่นำมาใช้เป็นบัตรปลอม ออกที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย การตรวจยึดเอกสารทางการเงินที่ได้เพื่อหาที่มาการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ พร้อมหาความเชื่อมโยงการเป็นนอมินีหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และวันเดียวกัน นายกฤชกร หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจภูเก็ต และได้ประกันตัว และดำเนินการปิดล้อมจับกุมตรวจสอบบริษัทในเครือ ทรานลี่ มาตลอด จนถึงขณะนี้ยึดรถยนต์มาตรวจสอบแล้ว 117 คัน เรือ 35 ลำ ที่ดินในจ.ภูเก็ต 3 แปลง และยังตรวจพบว่า บริษัท บลูรีสอร์ท จำกัด ก่อสร้างห้องพักเกินจำนวนที่ขออนุญาตจาก 76 ห้อง เป็น 330 ห้อง และดำเนินคดีเพิ่มเติมข้อหาอั้งยี่ และให้ ปปง.เข้าตรวจสอบยึดทรัพย์ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี