วันจันทร์ ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559, 17.49 น.
8 ส.ค.59 เปิดตัวมาได้ไม่นาน สำหรับเกมตามล่า “โปเกมอน” ในประเทศ ไทย ซึ่งได้รับการตอบรับฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่แพ้ในประเทศอื่นๆ หลายคนพร้อมใจออกจากบ้านไปตามสถานที่สาธารณะ เพื่อตามจับ “โปเกมอน” และโพสต์ลงในโลกออนไลน์
เจตนาของผู้ผลิตเกม “โปเกมอน โก” คือ ต้องการให้ผู้เล่นได้ขยับร่างกาย ไม่ติดอยู่กับพื้นที่นานๆ และได้ “เปิดโลกกว้าง” พบเจอสังคมใหม่ๆ แต่เจตนาที่ว่าอาจถูกแปรเปลี่ยนไปแบบผิดๆ หรืออาจเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบรรดา“โปเกมอน เทรนเนอร์” หรือผู้เล่นเกม “โปเกมอน โก” ภาพที่เห็น คือ “โปเกมอน เทรนเนอร์” ที่สายตาแทบไม่ละทิ้งจากหน้าจอมือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในระหว่าง “ล่า...โปเกมอน” ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำไปฝึกฝนให้ได้ค่าประสบการณ์ เพื่อเพิ่ม “เลเวล” ระดับและวิวัฒนาการ ให้แข็งแกร่ง ก่อนจะนำไปต่อสู้กับเทรนเนอร์คนอื่นๆ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความวุ่นวายจาก “เทรนเนอร์” ในหลายๆประเทศพบว่ามีการรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่อันตรายและพื้นที่สงวน จนมีรายงานข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศโดยเฉพาะใน “ย่านเอเชีย” ถึงขั้นประกาศ “แบน” ห้ามเล่นเกมนี้
“อิหร่าน” เป็นประเทศแรก โดยอ้างเหตุผลเรื่องความกังวลด้านความปลอดภัย เนื่องจากเกมโปเกมอน โก ส่งผลให้ประชาชนชาวอิหร่านเดินเข้าออกไปมาตามสถานที่ต่างๆทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาจากการบุกรุก หรือในกรณีที่ผู้เล่นเกมถูกปล้นหรือถูกทำร้ายได้
ขณะที่ทางการ “อินโดนีเซีย” ได้ออก “คำสั่งเด็ดขาด” ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเล่นเกมนี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกังวลเรื่อง “ข้อมูลลับ” ด้านความมั่นคง “รั่วไหล” เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมอาจส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศอื่นๆได้
ส่วน “มาเลเซีย” ที่เข้าถึงการเล่นเกมได้พร้อมกับไทย ได้ประกาศห้าม “ชาวมุสลิม” เล่นเกมโปเกมอนโกเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าเกมโปเกมอนโกอาจทำลายความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซียได้
(254).jpg)
ย้อนกลับมาที่ “ประเทศไทย” ที่เริ่มให้โหลดเกมเล่นได้เมื่อ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ก็พบรายงานผลกระทบจากการเล่นเกมนี้แล้ว ทั้ง “มือถือตกน้ำ” หรือกลุ่ม เด็กๆเกือบถูก “รถชน” เพราะมัวแต่เล่นจับโปเกมอนจนไม่ได้สนใจมองทางเดิน
ร้อนถึงหน่วยงานราชการที่มีความเป็นห่วงต่อกระแส “ฟีเวอร์” ของเกมนี้ โดยในมุมของความกังวลต่อสถานที่สำคัญที่อาจถูกบุกรุกทำลายจากเหล่าเทรนเนอร์นั้น ล่าสุด “กสทช.” ได้เชิญตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเป็นตัวแทนที่เจรจาโดยตรงได้กับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปเกม่อน เข้าหารือในวันที่ 9 สิงหาคม นี้ เพื่อขอความร่วมมือให้กำหนด “โซนนิ่ง” พื้นที่ที่เหมาะสมในการจับตัวการ์ตูนโปเกม่อนในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่จะขอห้ามให้โปเกม่อนปรากฏตัว ได้แก่ พื้นที่ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือรบกวนบุคคลอื่น เช่น โรงพยาบาล เขตพระราชวัง พื้นที่มีมีป้ายระบุว่าเป็น “เขตหวงห้าม” หรือพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ในมุมของความปลอดภัยต่อตัวผู้เล่น มี “คำเตือน” จากจิตแพทย์ และนักวิชาการ...“พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ” รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สำหรับเกมโปเกมอน โก เป็นแค่ “สิ่งใหม่” ที่เข้ามา เมื่อเวลาผ่านไปกระแสก็จะตกและลดลง แต่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนที่เล่นเกมนี้จน “เสพติด” คือ 1.ความปลอดภัย เพราะเป็นเกมที่ต้องเคลื่อนไหวไปตามที่สาธารณะหรือบนท้องถนน ดังนั้นอาจเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ เนื่องจากขาดสมาธิกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และ 2.เวลา ซึ่งอาจทำให้เสียงาน เสียการเรียน รวมไปถึงการกินการนอน ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงควรแบ่งเวลาเล่นให้เหมาะสม ไม่ควรเล่นเกมเกินวันละ 1 ชั่วโมง
สำหรับพ่อแม่หรือคนในครอบครัว สังเกตพฤติกรรมของลูกหลานที่ติดเกมได้ คือ 1.ใช้เวลาเล่นเกมเพิ่มขึ้น 2.ผลการเรียนตกลงมาจากเดิม 3.พูดโกหก และ 4.หงุดหงิดได้ หากพบอาการแบบนี้ควรรีบพูดคุยกับเด็กทันที และควรจัดการเรื่องเวลา โดยการแบ่งเวลาให้เหมาะสม และหากิจกรรมอื่นให้เด็กทำแทนการเล่นเกม
ส่วน “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการด้านสื่อ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว https://www.facebook.com/time.chuastapanasiri/posts/10153986718508732 เกี่ยวกับ “10 ข้อควรรู้สำหรับพ่อแม่ ก่อนตัดสินใจให้ลูกเล่นเกม Pokemon Go” ระบุว่า...
.jpg)
“ผมมีข้อกังวลใจสำหรับเกมโปเกม่อนโก สำหรับพ่อแม่ทั้งหลาย” ดังนี้...
1.เกมนี้ ผู้เล่นควรมีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ดังนั้นพ่อแม่ควรทำความเข้าใจเงื่อนไขของเกม(ข้อแย่คือผู้พัฒนาไม่เขียนเงื่อนไขแปลเป็นภาษาท้องถิ่น กรณีประเทศไทย คำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษที่มีคำศัพท์เทคนิคยืดยาว เชื่อว่าไม่มีผู้ปกครองคนใดอ่านหรือทำความเข้าใจได้หมด ขอตำหนิแรงๆ ไปยังบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาว่าขาดความตระหนักในเรื่องนี้)
2.เกมนี้ เด็กที่จะถูกอนุญาตให้เล่นโดยความยินยอมและรับทราบของผู้ปกครอง หากเด็กเล่น ต้องมีบัญชีจีเมล์(หรือบัญชีเฟซบุ๊กในกรณีบางประเทศ) ดังนั้นการเล่นต้องได้รับความยินยอมจากผุ้ปกครอง ส่วนผู้ใหญ่ ก็ใช้วิจารณญาณส่วนตัวเอาเองครับ ระวังจะเล่นเกมจนเสียเงิน เสียงาน เสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
3.เกมนี้ ทางบริษัทจะนำเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ไปเก็บเป็นประวัติข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเกมต่อไปดังนั้น อาจมีข้อมูลส่วนตัวของท่านถูกดัก ตรวจ จับเอาไปใช้งานในอนาคต(ข้อมูล ชื่อ นามสกุล สถานที่ บัตรเครดิต และเพื่อนๆ ของท่าน จะถูกใช้การเอาไปวิเคราะห์พฤติกรรมและการตัดสินใจบริโภคในเชิงการตลาด)
4.เกมนี้ ผู้เล่นจะต้องเปิดเผยพื้นที่ตำแหน่งของตนเองให้ผู้พัฒนาทราบ และผู้เล่นคนอื่นๆ จะทราบว่ามีใครในละแวกนั้นอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น อาจเป็นช่องทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับโจรออนไลน์ ที่จะรู้ว่าท่านอยู่ที่ไหน หรือไปที่ไหน หรือทำอะไร(ต่อไปจะสามารถแชร์ตำแหน่งการเล่น เปิดเผยกับเพื่อนๆ ในเกมได้)
5.เกมนี้ เล่นร่วมกันกับเพื่อนได้ ดังนั้นระมัดระวังการออกไปเจอคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักนอกบ้าน ซึ่งอาจเป็นอาชญากรหรือขบวนการลักพาตัวเด็ก(ด้วยการใช้ ไอเท็มหรือคำชักชวน ล่อออกมาพบเจอกันเพื่อที่จะช่วยเล่นเกมหรือแลกเปลี่ยนไอเท็ม)
6.เกมนี้ มีการซื้อขายไอเท็ม อุปกรณ์ต่างๆ ในเกม ดังนั้นผู้เล่นหรือพ่อแม่ควรระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน และควบคุมวินัยการเงินในเครื่องบัญชีของเยาวชนที่เล่นเกม ระวังเจอบิลช็อกจากการจ่ายเงินเล่นเกม
7.เกมนี้ ผู้เล่นอาจเข้าไปฝ่าฝืนพื้นที่ส่วนตัว ถนน และสถานที่สาธารณะอันมีรถ ถนน ตลาด ย่านการค้า ร้านขายอาหารแผงลอยต่างๆ ซึ่งมีความพลุกพล่าน ควรเล่นเกมด้วยความเคารพผู้คนในสถานที่ที่เขาไม่ได้เล่นเกม และเคารพกฎเกณฑ์ ข้อระเบียบ และวัฒนธรรม ความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมของบริบทพื้นที่แวดล้อมนั้น
8.เกมนี้ เล่นได้ทั้งวันทั้งคืน การออกไปจับสัตว์โปเกม่อนในยามวิกาล ค่ำคืน หรือที่เปลี่ยว ตามจุดต่างๆ ละแวกบ้านหรือพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่ปลอดภัย และตกเป็นเหยื่ออาชญากร แก๊งปล้น ที่คอยดักจี้ปล้นได้
9.เกมนี้ ไม่ควรเล่นขณะขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ การจอดในพื้นที่ข้างถนน ห้ามจอด) หรือการขับขี่จักรยาน (บางพื้นที่ห้ามนำเอาจักรยาน เข้าไปในพื้นที่) หากเล่นในพื้นที่กรุงเทพ ระวังหลุม ฝาท่อ คูน้ำ พื้นที่ขุดลอกคลอง ที่เต็มไปด้วยอันตราย และพื้นที่ก่อสร้างข้างเคียง อาจบาดเจ็บได้
10.เกมนี้ อาจทำให้ผู้เล่นเสพติดความเสมือนจริงจากหน้าจอมากยิ่งขึ้น กลายเป็นคนเสติดเกม เสพติดมือถือมากขึ้นเพราะมีความสนุก ไม่ควรเล่นจนเสียการเรียน การงาน และสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและคนรอบข้าง ควรมีวิจารณญาณ สติเท่าทันตนเอง และผู้พัฒนาเกม ตลอดจนบริษัทเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากเกมนี้ อีกทั้งต้องเท่าทันรอบคอบ ไม่เชื่อใจคนแปลกหน้า หรือเพื่อนร่วมเล่นเกมที่จะชักจูงเราออกไปเล่นเกมในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย
ผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณให้มาก ก่อนที่ลูกบุตรหลานของท่านจะได้รับอุบัติเหตุ หรือเป็นเหยื่อของอาชญากรที่แฝงตัวมากับเกม หรือตกเป็นทาสของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ
โปรดจำไว้ว่า...ของเล่นที่ดีที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ครับ อย่าให้เทคโนโลยีมาแย่ง มาทำหน้าที่แทนท่าน ด้วยข้ออ้างว่ารักลูกหรือทนคำรบเร้าอยากล่นของลูกไม่ไหว
ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว คือสายใยที่ดีที่สุดในการสร้างบุตรหลานของท่านให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ อย่าทำให้โทรศัพท์มือถือมาทำให้ลูกหลานของท่านกลายเป็นหุ่นยนต์ อย่าให้มือถือท่านเลี้ยงลูกเลยจะดีกว่าครับ
เกมที่ดีที่สุด สำหรับเด็กๆ คือ...Family Go!!!
พาลูกออกไปเที่ยวไปทำกิจกรรมนอกบ้านครับ...
SCOOP@NAEWNA.COM