19 ก.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีประชาชนที่เข้าไปออกกำลังกายภายในสวนลุมพินีร้องเรียนว่าเกิดความหวาดกลัวตัวเงินตัวทอง หรือเหี้ย ที่มักวิ่งตัดหน้าขณะกำลังวิ่งออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน ทำให้สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินี เตรียมเข้าจับตัวเหี้ย ที่เบื้องต้นมีอยู่ในสวนลุมพินีมากกว่า 400 ตัว ไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในเวลา 09.00 น.วันที่ 20 ก.ย.59 นั้น
ล่าสุด นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากทราบเรื่องนี้ได้สั่งการให้นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ป่า ประสานไปยังสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตัวเหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
‘กทม. จะเข้าไปจับตัวเหี้ยโดยพลการไม่ได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จะต้องแจ้งให้กรมอุทยานฯรับทราบและร่วมดำเนินการด้วย’ นายธัญญา กล่าว
ด้านนางเตือนใจ กล่าวว่า ได้ประสานทำความเข้าใจไปทาง กทม.แล้วว่าความจริงตัวเหี้ยนั้นไม่ใช่สัตว์อันตรายที่จะไปจู่โจมทำร้ายใครก่อน ยกเว้นทำให้มันตกใจ โดยมีรายงานว่าที่สวนลุมพินี พบตัวเหี้ยประมาณ 400 ตัว เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วเพราะมีอาหารที่ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ ไม่มีใครทำร้าย พวกมันก็อยู่กันอย่างมีความสุข แต่การที่มีคนร้องเรียนว่าสัตว์พวกนี้ทำให้เขาหวาดกลัว ทำให้ กทม.ต้องเข้าไปจัดการนั้น ในส่วนของกรมอุทยานฯ เห็นว่าหากจะจับออกไปทั้งหมดคงทำไม่ได้ อาจต้องจับออกไปแค่ส่วนหนึ่ง โดยตัวเหี้ยที่จะจับไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน คงต้องไปอยู่กับตัวเหี้ยที่เคยจับจากที่ต่างๆมาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 100 ตัว สถานที่ที่อยู่เป็นบ่อคอนกรีต เชื่อว่าพวกมันคงมีความสุขไม่เท่ากับอยู่ในสวนลุมพินีอย่างแน่นอน
‘วันที่ 20 ก.ย.59 ที่จะเข้าไปจัดการนั้นอาจจะจับแค่ 40 ตัวเท่านั้น และใช้วิธีตามหาไข่ที่ฝังอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วเอาไปทำลาย เป็นการควบคุมประชากรอย่างหนึ่ง เพราะจะให้จับมาทำหมันคงไม่คุ้ม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตัวละเกือบ 1 พันบาท พื้นที่ เช่น สวนลุมพินี เป็นพื้นที่เดิมที่มีตัวเหี้ยอาศัยมาก่อน แต่เวลาต่อมาคนไปรุกรานสร้างสิ่งก่อสร้างในที่อยู่ของมัน แต่สัตว์พวกนี้ปรับตัวได้ดี จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เบื้องต้น ทาง กทม.เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่เมื่อได้รับการร้องเรียนจากประชาชนก็ต้องหาวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เพิ่มประชากรตัวเหี้ยให้มากไปกว่านี้’ นางเตือนใจ กล่าว
นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯเคยเสนอให้นำตัวเหี้ยออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้สามารถเพาะพันธุ์ เอาหนังไปขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ข้อเสนอดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ปัจจุบันปริมาณตัวเหี้ยในธรรมชาติจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิดกับที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ที่สามารถเพาะเลี้ยงและส่งออกได้ ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศ ส่งออกปีละ 1 แสนตัว ทำให้ปัจจุบันนี้มีปริมาณตัวเหี้ยในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณภาพประกอบจาก slotto.exteen.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี