นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนและระบบผันน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำสำหรับภาคการผลิตตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่อ.หนองปรือ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี และบางส่วนของ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่่วมในบางพื้นที่ช่วงฤดูน้ำหลากอีกด้วย
ทั้งนี้พื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัดดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูง ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ และบางพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย ในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่กรมชลประทานให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริด้วยการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กหลายโครงการ รวมทั้งได้ดำเนินก่อสร้างอ่างลำตะเพิน ขึ้นที่รอยต่อระหว่าง ต.องค์พระอ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี กับ ต.หนองปรือ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดกลางมีความจุ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยมีปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯเฉลี่ยประมาณ 90.05 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 34,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 6,800 ไร่
อย่างไรก็ตาม ปริมาณเก็บกักน้ำที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำไปให้พื้นที่ที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำได้ทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขต อ.เลาขวัญ และอ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กรมชลประทานมีแนวคิดที่จะพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มปริมาณความจุของอ่างฯลำตะเพินที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากขึ้นใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างฯ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ที่มีอยู่ทางตอนบนของอ่างฯ แต่การเพิ่มปริมาณความจุของอ่างฯหากเพิ่มในพื้นที่เดิมด้วยการเสริมทางระบายน้ำล้น (Spillway) ให้สูงขึ้นแม้จะได้ปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ตอนบนที่ยังขาดแคลนน้ำตามแรงโน้มถ่วงโลกได้
ดังนั้น เพื่อให้สามารถส่งน้ำที่กักเก็บเพิ่มขึ้นไปช่วยพื้นที่ท้ายอ่างฯลำตะเพิน ได้อย่างทั่วถึงตามแรงโน้มถ่วงโลกโดยไม่ต้องสูบ กรมชลประทานจึงวางแผนที่จะเพิ่มความจุในลักษณะขั้นบันได ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบนขึ้นบริเวณบ้านละว้าวังควายต.วังยาว และบ้านไผ่สีทอง ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เป็นอ่างฯขนาดกลาง ความจุในระดับกักเก็บ 10.67 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งก่อสร้างท่อผันน้ำ 1 ท่อไปเสริมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่ในเขตอ.เลาขวัญและ อ.ห้วยกระเจา เช่น สระเก็บน้ำบ้านหนองประดู่ สระเก็บน้ำบ้านหนองจั่น อ่างเก็บน้ำห้วยเทียบ จนถึง สระเก็บน้ำหนองนาทะเล เป็นต้น และก่อสร้างท่อผันน้ำอีก 1 ท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยทวีปและอ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง เพื่อเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในเขต อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรีอีกด้วย
สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างอ่างฯลำตะเพินตอนบนดังกล่าว นอกจากจะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังจะมีการพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวจากอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน (เดิม) ที่มีชื่อเสียงในการประมงและการตกปลา เช่น ปลาชะโด ปลากระสูบเป็นต้น ไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่คือ อ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน เป็นรูปแบบรีสอร์ทและโฮมสเตย์ทั้งริมน้ำและกลางน้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ขณะนี้การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบนและระบบผันน้ำดังกล่าวได้ดำเนินเสร็จเรียบร้อยแล่้ว อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษาเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” ดร.สมเกียรติกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี