ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 4 ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เดิมมีพื้นที่ 4,113 ไร่ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 2,941 ไร่ รวมเนื้อที่ 7,054 ไร่ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน ป่าหนองหญ้าไทรป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู มีสภาพป่าเป็น 2 ชนิด คือ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีประชากรอาศัยทั้งหมด 1,011 คน 415 ครัวเรือน รายได้หลักของคนในชุมชน คือ การทำเกษตรกรรม เช่น การทำไร่ อ้อย มันสำปะหลัง เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่าย
นายประลอง ดำรงไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ในปี 2539 พบมีการตัดไม้ทำลายป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชุมชนบ้านพุน้ำร้อน เช่น การเผาถ่าน ซึ่งทำกันอย่างกว้างขวาง เป็นอาชีพรองจากการทำไร่ทำให้ผืนป่าถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จนภูเขากลายเป็นเขาหัวโล้น และเป็นช่วงของการทำสัมปทานเหมืองหินแกรนิตของบริษัทเอกชน หากไม่มีการดำเนินการยับยั้งและฟื้นฟูป่า จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการทำกินของชาวบ้านเจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน จึงประชุมปรึกษาหารือระหว่างผู้นำชุมชนและหาวิธีการแก้ไข ซึ่งจะใช้ผู้ที่มีจิตอาสาเป็นหลักในการดูแลร่วมกัน แต่ไม่เป็นระบบ ในปี พ.ศ. 2547 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาศึกษาเอกสารเก่าและแนะนำให้เข้าโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถการดำเนินการประชุมประชาคมชาวบ้านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอจัดตั้งป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน เสนอกรมป่าไม้ตามขั้นตอนและได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้เมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2547
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ต้องผ่านตามเงื่อนไขของพ.ร.บ.ป่าชุมชน และอยู่ในความดูแลของกรรมการป่าชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่1.กรรมการป่าชุมชน คือ คณะกรรมการระดับพื้นที่ จะเป็นกลุ่มที่ชุมชนทำงานอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิจารณาในการใช้พื้นที่และลงมือปฏิบัติ 2.กรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าฯเป็นประธานและมีเลขาฯ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นผู้พิจารณาว่าป่าชุมชนที่อยู่ในจังหวัดของตนเอง จะให้มีการต่ออายุป่าชุมชนหรือการสร้างป่าชุมชนอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดกรณีป่าเสื่อมโทรมผู้ว่าฯก็สามารถเสนอให้ปิดป่าชุมชนนั้น
3.กรรมการป่าชุมชน ด้านนโยบาย มีท่านรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นบุคคลที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ในทุกระดับจะมีตัวแทนของป่าชุมชนร่วมอยู่ด้วย ส่วนพื้นที่จะแบ่งป่าออกเป็น 2 โซน ของพื้นที่ป่า คือป่าโซนอนุรักษ์ ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ และป่าโซนใช้สอย คือพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากไม้ การตัดไม้แล้วปลูกต้นไม้ทดแทน เก็บของป่า เป็นต้น
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ทางกรมป่าไม้ได้เข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งป่าชุมชน การบริหารจัดการป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน ให้มีการดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบของการมีส่วนร่วมจากประชาชน นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆในพื้นที่ ร่วมกันตัดสินใจวางแผนบริหารจัดการดูแลป่า อนุรักษ์ปกป้องพื้นที่ป่า การลาดตระเวนป่าอย่างต่อเนื่อง ทำแนวกันไฟ จัดหากล้าไม้เพื่อปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าในวันสำคัญต่างๆ ร่วมกับนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ สร้างฝายชะลอน้ำ และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าบ้านพุน้ำร้อนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ เช่น แหล่งหินธรรมชาติ น้ำตกเขาวงก์ อ่างเก็บน้ำเขาวงก์ สนับสนุนประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และมัคคุเทศก์น้อย เพื่อนำนักท่องเที่ยวชมพื้นที่ป่าบ้านพุน้ำร้อน โดยวางแผนปรึกษาหารือ และดำเนินการสำรวจพื้นที่ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุพรรณบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ 10 (ราชบุรี) กรมชลประธาน กรมการท่องเที่ยวและองค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ผืนป่า สามารถเพิ่มรายได้จากการนำเที่ยวป่าชุมชนการขายพืชสมุนไพร ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชน มีรายได้เฉลี่ยโดยประมาณ4,690,000 บาทต่อปี
“นับว่าการบริหารป่าชุมชนโดยคนในชุมชน เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดรูปแบบหนึ่ง ในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง จากป่าที่เคยเสื่อมโทรม กลับฟื้นขึ้นมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งในช่วงไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมาจึงอยากให้ชุมชนทั้งหลายที่มีป่าอยู่ใกล้บ้านตนเอง เห็นเป็นตัวอย่างแล้วนำป่านั้นกลับมาดูแล โดยการส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนจากภาครัฐซึ่งกรมป่าไม้ สนับสนุนเต็มที่สิ่งที่ประชาชนจะได้กลับมาก็คือ ป่าที่สมบูรณ์และการเก็บหาของป่า ตามแนวทางของกฎหมายป่าชุมชนที่จะออกมา วันนี้เรามีเป้าหมาย 21,850 แห่งทั่วประเทศ กว่า 10 ล้านไร่ ถ้าเราทำให้ป่าทุกแห่งมีความสมบูรณ์แบบป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อนได้ อย่างน้อยก็จะเป็น 10 ล้านไร่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
นายชุม นันทา ประธานคณะกรรมการป่าชุมชน กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อนคณะกรรมการป่าชุมชนได้จัดทำร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ป่าชุมชนขึ้นแล้วนำผ่านเวทีประชาคม ถามความเห็นของชาวบ้าน เพื่อให้ทุกคนยอมรับ แล้วนำไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด พื้นที่ป่าจึงได้รับการคุ้มครองโดยชุมชนทำให้ทรัพยากรป่าไม้ดิน น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนทำให้ป่าชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดป่าชุมชนระดับภาค ในโครงการ“คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2559”และได้เป็นตัวแทนในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเราได้ผ่านเข้ารอบการประกวดในระดับประเทศต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี