19 พ.ย.59 นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมเกษตรกรทำกินในที่ดินพระราชทานในเขตปฏิรูป จำนวน 11,165 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งมีที่ดินราชพัสดุ 1 พันกว่าไร่ ส.ป.ก.จัดซื้อเอกชนมาให้เกษตรกรเช่า 20,000 ไร่ และที่ดินบริจาค กว่า 300 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกร 9 ราย ที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จำนวน 91 ไร่ เป็นโฉนดที่ดินหมายเลข 1 ของประเทศไทย มาร่วมต้อนรับด้วย
นายสมปอง กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนักมาต่อเนื่อง ได้เสด็จฯ ไปเห็นเกษตรกหลายพื้นที่ พบว่าการทำกินยากลำบาก ถูกเอารัดเอาเปรียบการเช่าที่ดินเป็นปัญหายาวนาน พระองค์ได้ออกแบบตั้งศูนย์ปฎิรูปที่ดิน 6 แห่ง เป็นต้นแบบ เพื่อบูรณาการใช้ประโยชน์บนที่ดินเหมาะสม เป็นไปตามเจตนารมย์การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งพระองค์ได้ทำมาก่อน พอมาปี 2518 มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ออกมาสานต่อที่พระองค์ทรงมองกาลไกลในการแก้ปัญหาขาดแคลนที่ดินเกษตร จึงทรงพระราชทานที่ดิน จำนวน 43,902 ไร่ ใน 5 จังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา 11,165 ไร่ นครนายก 3,543 ไร่ ปทุมธานี 13,768 ไร่ ฉะเชิงเทรา 14,417 ไร่ และนครปฐม 1,009 ไร่ มาให้ ส.ป.ก.จัดดำเนินการให้เกษตรกรเช่าทำกินให้เกิดความยั่งยืน สุดท้ายพระองค์ทรงให้เกษตรกรใช้ที่ดินพระราชทานชั่วลูกชั่วหลาน อย่างมีความพอเพียง มีความสุข อาจไม่ร่ำรวย สร้างภูมิคุ้มกันได้ เป็นไปตามพระบรมราโชบาย เมื่อเกษตรกรรายย่อยอยู่ได้ ก็มาร่วมตัวกันเป็นกลุ่มตั้งสหกรณ์ ขอให้ยึดหลักสหกรณ์ตามเจตนารมย์ของพระองค์ ทำเพื่อการส่งเสริมสมาชิก อย่าไปยึดติดกับธุรกิจ และไปทำธุรกิจที่สมาชิกไม่รับรู้ นำไปสู่ความล้มสลายของสหกรณ์ ขอให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดประโยชน์สูงสุดในที่ดิน
นายสมปอง ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกร เมื่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ได้เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2518 พระองค์ได้ทรงพระราชทานข้อวิจารณ์และคําแนะนําแนวทางการ ดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหลายประการ ที่เป็นประโยชน์กับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามแนวทางที่ได้ทรงพระราชทานตลอดมา ซึ่งพระองค์ทรงรับสั่งว่า
"ให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิมได้ทํากินในที่นั้นต่อไปชั่วลูกหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยรัฐจัดที่ดิน พัฒนาที่ดิน ให้สอดคล้องกับ สภาพเดิมของท้องถิ่น และรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งสหกรณ์" ซึ่งพระบรมราโชบายดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดถึงพระราชประสงค์ที่จะคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นสมบัติของลูกหลานที่สืบทอดอาชีพเกษตรกรตลอดไป โดยให้มีการจัดการให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อดําเนินประโยชน์ให้แก่สมาชิกได้กว้างขวาง พระราโชบายนี้เป็นเสมือนแสงสว่างนําทางการปฏิรูปที่ดิน โดยดําเนินการปฏิรูปที่ดินในผืนดินพระราชทานทั้ง 5 จังหวัด ส.ป.ก.ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเส้นทางคมนาคม ชลประทาน และที่สําคัญคือ การพัฒนาเกษตรกรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ การเข้าถึงระบบตลาด และการเข้าถึงแหล่งทุน
เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทาน 3,264 ราย ส.ป.ก.ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนําปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ดําเนินตามรอยพระยุคลบาท ได้จัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน จัดตั้งศูนย์จัดการที่ดินพระราชทานขึ้น และที่เรากําลังจะเดินหน้าต่อไป คือการสร้างเครือข่ายเกษตรกร สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สร้างเครือข่ายสหกรณ์ในผืนดินพระราชทานให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้สมกับที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เลขาธิการส.ป.ก. กล่าวว่า พร้อมกับได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทาน สืบสานพระราชปณิธานแผ่นดินพ่อ เพื่อการพัฒนาศักยภาพผืนดินทํากิน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ ให้ความ ช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ และเข้าถึงโอกาสทางเลือกในการเปลี่ยนอาชีพควบคู่กับการสนับสนุนการตลาด และปัจจัยพื้นฐาน จะช่วยทําให้เกษตรกรในเขตที่ดินพระราชทาน มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้คงอยู่กับเกษตรกรตลอดไป ตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อผู้ให้ผืนดินทํากิน
ทันทีที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้บังคับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในพื้นที่ 8 จังหวัด จํานวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ให้กับสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้กันเนื้อที่บางส่วนออก เนื่องจากที่ดินไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรและมีภาระผูกพันกับหน่วยงานราชการอื่น จึงคงเหลือพื้นที่ให้ดําเนินการปฏิรูปที่ดินได้ 43,902 ไร่
ด้าน นายสนอง เทียรบูชา เกษตรกรในเขตที่ดินพระราชทาน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ทำกินในที่ดินของพ่อหลวง ที่ทรงพระราชทานให้กับครอบครัวตน 10 ไร่ เช่าทำกิน 900 บาทต่อปี ปัจจุบันนี้ยังทำนา และร่วมกลุ่มเกษตรกร ปลูกข้าวปลอดสารเคมีไว้กินด้วย ทำให้มีสุขภาพดี และตั้งโรงสีชุมชน สีข้าวใส่ถุงขายให้กับสถานที่ราชการต่างๆ ในจังหวัด มีรายได้กว่า 1 - 2 หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี