17 ม.ค.61 เมื่อเวลา 16.00 น. ที่บริเวณหน้าห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างรายวันขั้นต่ำประจำปี 2561 หลังจาก เมื่อวันที่ 10 มกราคม ไม่ได้ข้อยุติในการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้าง เนื่องจากเสียงจากกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ยังเห็นต่าง โดยมีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเป็นประธาน
สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน โดยผู้แทนรัฐบาลประกอบด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ที่ปรึกษาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ประกอบด้วย นายสมพงศ์ นครศรี ประธานสมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ประธานสมาคมนายจ้างพิทักษ์ทรัพย์ผู้ประกอบการค้าไทย นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการค้าขนมไทย และนายสุเทพ ศรีเพียร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ออกแบบและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์
และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ประกอบด้วย นายชยรบ ใหญ่สูงเนิน ประธานสหภาพแรงงานพี่เลี้ยงเด็ก นายประจวบ พิกุล ประธานสหภาพแรงงานฟอกย้อมนำบุญ นายสมบัติ น้อยหว้า ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย นายมานะ จุลรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานกลุ่มเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย และนายสุรเดช ชูมณี ประธานสหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชาขนส่งทรัพย์สิน
การประชุมครั้งนี้คาดว่าไม่เกิน 4 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีประเด็นยืดเยื้อ เป็นการพิจารณาในส่วนของการจัดกลุ่มจังหวัดปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ จากเดิมก่อนหน้าที่ในที่ประชุมเสนอมา 20 กลุ่ม 20ตัวเลข ซึ่งมีจำนวนมากเกินไป และยังพบกว่า 36 จังหวัดไม่ขอขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่เมื่อนำเข้าสูตรกลับพบว่าต้องขึ้นทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดระนอง ดังนั้น วันนี้บอร์ดค่าจ้าง จึงจะต้องนำกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าจะแบ่ง 77 จังหวัดเป็นกี่กลุ่มและแต่ละกลุ่มจะขึ้นกี่บาท โดยจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจ การประกอบกิจการ ค่าครองชีพ รายได้ ไม่ต่างกันจะต้องจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างเปิดเผยว่า ปีนี้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด และมีแนวโน้มแบ่งได้ประมาณ 4-5 กลุ่ม ปรับขึ้นตั้งแต่ 4-12 บาท สูงสุด 12 บาท คือจังหวัด พังงา และภูเก็ต จากเดิมที่เมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่ม 69 จังหวัดปรับขึ้นในอัตรา 5-10 บาท และไม่ปรับขึ้น 1 กลุ่ม จำนวน 8 จังหวัด ส่วนข้อสรุปต้องรอผลการประชุมบอร์ดค่าจ้างอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมนัดนี้มีกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยฝ่ายรัฐบาลนำโดย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นำโดยนายสมพงศ์ นครศรี ประธานสมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นำโดย นายชยรบ ใหญ่สูงเนิน ประธานสหภาพแรงงานพี่เลี้ยงเด็ก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี