กรมชลฯยันสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศยังปกติ ไม่ขาดแคลน แต่ขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด
23 ม.ค.61 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(23 ม.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 60,361 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,440 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 9,050 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,073 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 12,377 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณน้ำใช้การได้
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/61 โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันทั้งสิ้น 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม., รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2561
ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/61 ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 - 23 ม.ค. 61 ได้มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 3,138 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนจัดสรรน้ำฯ และเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้ถูกส่งเข้าระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันอกและฝั่งตะวันตก เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้อย่างทั่วถึง
ขณะที่การระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงมีอยู่ในอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที(ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 70 ลบ.ม.ต่อวินาที) เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย และควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ 0.25 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน(23 ม.ค. 61)วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัมต่อลิตร ไม่มีผลต่อน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตประปาได้ตามปกติ ส่วนการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศ ทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่นๆ โดยให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนการใช้น้ำ ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้เป็นไปตามแผนฯที่ได้วางไว้ พร้อมทั้งขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตข้างหน้าอย่างไม่ขาดแคลนด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี