6 มี.ค.61 ที่โรงแรมเซ้าเทิร์นลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ กลุ่มองค์กรธุรกิจ จำนวน 21 องค์กรธุรกิจกระบี่ แถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา krabi go green ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในวาระที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่งตั้งกรรมการเพื่อจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหาทางออกสำหรับความขัดแย้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยกล่าวถึงการประเมินการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่ แท้จริงแล้วมีการประเมินและตกผลึกมาก่อนหน้านี้ด้วยหลักการทางวิชาการ ความเห็นของทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ที่จะนำพากระบี่ไปสู่วิสัยทัศน์ krabi go green
นายธีพจน์ กสิรวัฒน์ ผู้แทน 21 องค์กรธุรกิจ กล่าวว่า การประเมินเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำสั่งให้จัดทำนั้น ภาคีเครือข่ายเอกชน ประชาชน ที่ปรากฎในจดหมายเปิดผนึกนี้ ขอยืนยันว่า จังหวัดกระบี่ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและนำมาปฏิบัติแล้วเป็นเวลาหลายปี และปัจจัยคุกคามสำคัญสำหรับการบรรลุยุทธศาสตร์คือ การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนหน้านี้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ประการ ที่เป็นการตกผลึกร่วมกันที่จะนำพากระบี่ไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน
1.ปี พ.ศ.2556 มีการจัดทำวิสัยทัศน์กระบี่ 2020 ว่าด้วยการพัฒนากระบี่ไปสู่ความยั่งยืนหรือ krabi go green ซึ่งเป็นการจัดทำของทุกภาคส่วนในจังหวัดจนกลายเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่สำคัญและยึดถือปฏิบัติร่วมกันมา
2.การศึกษาของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อประเมินและศึกษายุทธศาสตร์การใช้พลังงานหมุนเวียนของจังหวัดกระบี่ ในปี 2559 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิตบัญญัติ นักวิชาการ มีผลสรุปออกมาร่วมกันว่ากระบี่มีศักยภาพการทำพลังงานหมุนเวียนได้ 1,700 เมกกะวัตต์
3.มีการริเริ่มศึกษาศักยภาพพื้นที่อันดามันของคณะนักวิชาการเพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในงานศึกษาพบความมหัศจรรย์จำนวนมากของระบบนิเวศที่มีอยู่ในฝั่งอันดามันตั้งแต่จังหวัดสตูลจนถึงระนอง แสดงให้เห็นถึงความพิเศษของระบบนิเวศที่ควรค่าแก่การรักษาไว้
ด้าน นายอมฤติ ศิริพรจุฑากุล ตัวแทน 21 องค์กรธุรกิจ กล่าวถึงความเป็นมาของยุทธศาสตร์ กระบี่ go green ว่ามีการร่วมกันจัดทำและได้ปฏิบัติกันมานานแล้วโดยในภาวะที่กระบี่มีภัยคุกคามเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อประเมินเชิงยุทธศาสตร์แล้วพบว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวควบคู่กับพลังงานหมุนเวียนจะนำไปสู่การเติบโต ความยั่งยืน ได้มากกว่า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ตัวเลขทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบ่งชี้ว่ามูลค่าการท่องเที่ยว 3 จังหวัดหลักในพื้นที่อันดามัน คือ กระบี่ ภูเก็ต พังงา มีมูลค่าจำนวน 5 แสนล้านบาท ก่อเกิดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจจำนวนมาก
2.จากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคใต้เกิดการจ้างงานในสาขาการท่องเที่ยวมากถึง 430,170 ตำแหน่งในปี 2557 ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าการท่องเที่ยวสามารถจ้างงานได้จำนวนมากและมีกิจการที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวจำนวนมาก
3.ภาคใต้ฝั่งอันดามันมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญระดับนานาชาติคือพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการยกย่องให้มีความสำคัญระดับนานาชาติหรือแรมซ่าร์ไซด์ในจังหวัด ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง มีพื้นที่รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นนิเวศที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารและนิเวศการท่องเที่ยว
4.สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวโดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยวกับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 1,129 คน จาก 30 ประเทศ พบประเด็นสำคัญว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 90 ตอบว่าจะไม่กลับมาเที่ยวอีกหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่
เนื้อหาของแถลงการโดยสรุปคือกระบี่มีความชัดเจนในเชิงยุทธศาสตร์กระบี่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ฉะนั้น ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องชัดเจนเช่นกัน เพื่อให้ ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้
สำหรับ 21 องค์กรธุรกิจ ประกอบด้วย
1.สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
2.หอการค้าจังหวัดกระบี่
3.สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่
4.สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
5.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนจังหวัดกระบี่
6.สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา
7.สภาคมการโรงแรมเกาะลันตา
8.สมาคมประมงจังหวัดกระบี่
9.สภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่
10.สภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่
11.สมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่
12.สมาคมคนรักษ์เลจังหวัดกระบี่
13.ชมรมท่องเที่ยวอ่าวนาง
14.กลุ่มพิทักษ์พีพีจังหวัดกระบี่
15.ชมรมท่องเที่ยวเกาะพีพีจังหวัดกระบี่
16.ชมรมท่องเที่ยวหาดไร่เลย์จังหวัดกระบี่
17.สโมสรไลออนจังหวัดกระบี่
18.สโมสรโรตารี่จังหวัดกระบี่
19.ชมรมร้านอาหารจังหวัดกระบี่
20.สมาคมค้าส่งค้าปลีกจังหวัดกระบี่
21.ชมรมร้านอาหารฮาลาลจังหวัดกระบี่