นายศุภชัย วรรณะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชุมพร กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เร่งดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดําริ(คลองผันนํ้าคลองชุมพร) เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย การขุดคลองผันน้ำสายใหม่ จากคลองชุมพร-เหนือแยกปฐมพร ยาว 3.270 กิโลเมตร ขยายคลองนาคราช จากเหนือแยกปฐมพร - บ้านบางเป้ง ยาว 5.730 กิโลเมตร ขยายคลองชุมพร จากบ้านบางเป้ง – สะพานทุ่งคา พร้อมคันก้ันน้ำ ยาว 11.8 กิโลเมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และก่อสร้างอาคารระบายน้ำ 50 แห่ง
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ และตรวจราชการพื้นที่ จ.ระนอง-ชุมพร ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมได้เร่งรัดให้ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการตามแผนงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ
สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชุมพรนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินงานโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลองระบายน้ำคลองหัววัง-พนังตักที่ช่วยบรรเทาอุทกภัยให้ลุ่มน้ำท่าตะเภา การดำเนินโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ช่วยไม่ให้น้ำหลากเข้าท่วมอำเภอเมืองชุมพร และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนของคลองผันนํ้าคลองชุมพร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำคลองชุมพร
“ลุ่มน้ำคลองชุมพรมีต้นกำเนิดน้ำในเขต อ.กระบุรี จ.ระนอง ไหลผ่านเขตชุมชนที่สำคัญ คือเขตตำบลวังไผ่ ต.บ้านนา ต.ขุนกระทิง ต.บางหมาก ต.ตากแดด และ ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร ความยาวลำน้ำ 75 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชุมชนเมือง ทางด้านปลายคลองมีระดับต่ำทำให้น้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาด้านในคลองได้หลายกิโลเมตร เมื่อถึงช่วงที่ร่องมรสุมพัดผ่านฝั่งอันดามันหรือฝั่งอ่าวไทย หรือเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 3-5 วัน จะเกิดน้ำหลากจากต้นน้ำเอ่อล้นตลิ่งทันที โดยน้ำจะท่วมตั้งแต่วัดเขาปูน ข้ามถนนสายเอเชีย 41 บริเวณสี่แยกปฐมพร ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรในเขตพื้นที่ๆ กล่าวข้างต้น รวมพื้นที่ประมาณ 37,500 ไร่ และหากเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุน น้ำจะท่วมแช่ขังนาน 3-7 วัน ราษฎรได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นประจำ” นายศุภชัยกล่าว
นอกจากนี้สภาพคลองชุมพรมีลักษณะลาดชันมาก คดเคี้ยวและแคบ สามารถรองรับน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แต่ช่วงน้ำหลากจะมีน้ำไหลลงคลองในปริมาณ 550 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นจึงต้องผันน้ำส่วนที่เหลือ 350 ลบ.ม./วินาที ออกจากคลองเดิมในบริเวณที่มีน้ำหลากไหลล้นตลิ่ง เพื่อให้ระบายออกสู่ทะเลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชุมพร กล่าวต่อว่า การขุดขยายคลองนาคราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลองชุมพร จะทำให้สามารถระบายน้ำได้อัตรา 350 ลบ.ม.ต่อวินาที การขยายคลองชุมพรจากบ้านบางเป้ง – สะพานทุ่งคา จะสามารถระบายน้ำได้อัตรา 550 ลบ.ม./วินาที และการขุดคลองผันน้ำสายใหม่จากคลองชุมพรด้านเหนือสี่แยกปฐมพรไปจนถึงจุดตัดถนนสายเอเชีย 41 ระยะทางประมาณ 3.3 กม. สามารถระบายน้ำได้ 350 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับสร้างประตูระบายน้ำขนาด 6 x 7 เมตร 6 ช่อง จำนวน 4 แห่ง เพื่อใช้ในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้งานทั้งหมดอยู่ระหว่างก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2564 แน่นอน
“การขุดคลองผันน้ำคลองชุมพร ยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายเอเชียที่เกิดจากฝนตกหนัก นับเป็นการช่วยลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำคลองชุมพรได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำในคลอง แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย” นายศุภชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี