ถกเครียดแก้ปมพิพาทพื้นที่อุทยานฯแก่งกระจาน ทับซ้อนที่ทำกินกะเหรี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เพชรบุรี ว่า เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 26 ก.ย.61 ที่ห้องประชุมที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัด(รอง ผวจ.) เพชรบุรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดเพชรบุรี ครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงบริเวณหมู่ 4 บ้านท่าเสลา และหมู่ 5 บ้านพุน้ำร้อน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของราษฎร
โดยมีนายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน , นายนิธิ อาจสมรรถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี , นายบุญเกื้อ เจี้ยมดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 10 สาขาเพชรบุรี , นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอหนองหญ้าปล้อง , นายพีรศักดิ์ กาฬดิษฐ์ นายก อบต.ยางน้ำกลัดใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมชี้แจง โดยมีชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา และบ้านพุน้ำร้อน ที่ได้รับความเดือนร้อนกว่า 100 คน นำโดยนายจีระพันธ์ จัดพล กำนันตำบลยางน้ำกลัดเหนือ และนายสยาม ภูงาม ผู้ใหญ่บ้านท่าเสลา เดินทางถือป้ายข้อความมาชุมนุม เพื่อรอรับฟังมติที่ประชุมอยู่ที่บริเวณหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรี
นายพีรศักดิ์ กล่าวว่า บ้านท่าเสลา และบ้านพุน้ำร้อน เป็นชุมชนดั้งเดิมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2460 ต่อมามีการออกกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติปี 2508 และได้มีหน่วยงานรัฐดำเนินการสำรวจแนวเขต หรือทำแผนที่ และกันพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวน ออกตามวงกันตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง พ.ศ.2508 และได้ทำการออกโฉนดที่ดิน นส.3 ก. ในพื้นที่บ้านท่าเสลา และบ้านพุน้ำร้อน ประมาณ 208 แปลง
ต่อมาได้มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามพระราชกฤษฎีกาปี 2524 กำหนดบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อ.เขาย้อย และ ต.สองพี่น้อง ต.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
กระทั่งต่อมาในปี 2558 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ขยายแนวเขตพื้นที่เดิม ในมาตราส่วน 1:4,000 (ONE MAP) ตั้งแต่หมู่บ้านโปร่งลึก-บางกลอย ถึงหมู่บ้านลิ้นช้าง ต.ยางน้ำกลัดเหนือ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรโดยอ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาปี 2524 ทำให้แนวเขตขยายวงกว้างทับซ้อนพื้นที่ทำกิน และพื้นที่โฉนด น.ส.3 ก. ของราษฎร รวมทั้งพื้นที่สาธารณประโยชน์ของทั้ง 2 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่บ้านพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่
นายพีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อปี 2546 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่บ่อพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) จำนวน 376 ไร่ ขณะนั้นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 จังหวัดเพชรบุรี ได้บอกกับชาวบ้านว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากเขตอุทยานฯ ประมาณ 400-500 เมตร แต่ปัจจุบันกรมอุทยานฯ กลับแจ้งว่าเป็นเขตพื้นที่ของกรมอุทยาน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความสับสนและได้รับผลกระทบจากพื้นที่ทำกิน ถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม
“การวางหมุดแสดงแนวเขตของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยใช้ ONE MAP ผมเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่กฎหมาย การดำเนินการพิสูจน์อุทยานต้องอ้างอิงแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ปี 2524 เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน อีกทั้งจะต้องมีประชาชนในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ร่วมพิสูจน์ในรูปแบบคณะกรรมการ ถ้าพบว่ามีการทับซ้อนกันระหว่างเขตอุทยานฯกับพื้นที่ของชาวบ้าน หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ ก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ระหว่างนี้ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน จนกว่าจะได้ผลการตรวจสอบพื้นที่อย่างชัดเจนก่อน” นายพีรศักดิ์ กล่าว
ส่วนนายมานะ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ของชุมชนทับซ้อนเขตอุทยานฯ จำนวน 40 พื้นที่ มีราษฎรเข้าไปใช้ประโยชน์ประโยชน์ประมาณ 40,000 ไร่ ดำเนินแก้ไขไปแล้ว จำนวน 27,000 ไร่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข จำนวน 13,000 ไร่ กรณีบ้านท่าเสลาและบ้านพุน้ำร้อนมีราษฎรจำนวน 12 ราย ยอมรับการสำรวจที่ดินทำกินที่อยู่ในพื้นที่อุทยาน ที่ผ่านมาตนได้ประชุมชี้แจงกับผู้นำชุมชนให้ทราบถึงข้อมูลบุคคลที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเพื่อหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด
“การประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริเวณบ่อน้ำพุร้อน นายสามารถ ม่วงไหมทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน ขณะนั้น เป็นผู้จัดทำแผนที่และแนวเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ เห็นควรเชิญมาชี้แจงว่าการประการแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ปี 2524 หมายรวมถึงพื้นที่ของบ่อน้ำพุร้อยด้วยหรือไม่” นายมานะ กล่าว
เบื้องต้นมติที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน โดยใช้แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา 2524 กำหนดบริเวณพื้นที่ และให้ภาคประชาชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลการตรวจสอบเสนอต่อ กบร.จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการประชุมนายพีรศักดิ์ ได้ออกไปชี้แจงผลสรุปที่ประชุมให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมได้รับทราบ ซึ่งชาวบ้านต่างพอใจและได้แยกย้ายเดินทางกันกับบ้านโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายแต่อย่างใด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี