จากภาวะฝนตกหนักทั่วทุกภาคของประเทศ ช่วงฤดูฝนทุกปี นอกจากทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สร้างปัญหาให้ชาวบ้านทุกหย่อมหญ้า “ดินโคลนถล่ม” ก็เป็นอีกประเด็นที่สร้างความเดือดร้อนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่มีพื้นที่ภูเขา เทือกเขาสูงมากมาย ประกอบกับ เป็นบริเวณซึ่งมักมีฝนตกชุกหนาแน่น ที่ผ่านมา มักมีข่าวดินสไลด์ปิดเส้นทาง โคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน ปรากฏให้เห็นตามสื่อเป็นประจำ ทั้งที่โชคดีไม่มีการสูญเสียชีวิต แค่บ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง แต่บางครั้งเกิดเหตุเศร้าใจมีคนเจ็บ ตาย
ซึ่งปัญหาดังกล่าวใช่จะป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ซะทีเดียว เพราะมีแนวทาง ข้อมูลวิชาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนที่สันทัดกรณีอยู่มากมาย ถ้านำมาปรับใช้ก็จะลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
หนึ่งในนั้น มีข้อแนะนำน่าสนใจจาก “สภาวิศวกร”ในการรับมือดินถล่ม ภูเขาทรุดพังทลาย อย่างไรให้ปลอดภัย ที่คนทั่วไปนำไปใช้ได้ เริ่มจากพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ตั้งแต่ทำเลปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัย หากเป็นที่ราบเชิงเขา แนวโน้มเป็นไปได้ว่า ภูเขาที่เป็นดิน หิน ทรายนานไปย่อมผุพัง เมื่อเจอน้ำฝนมาก ดินอุ้มน้ำไม่ไหวก็ไหลตกลงมาตามทางราบ พร้อมพัดพาดินโคลน เศษหิน ทราย ท่อนไม้ กิ่งไม้มาด้วย กรณีภูเขาบริเวณนั้นลาดชันสูงกว่า 30 องศาขึ้นไป ยิ่งชัดว่าเป็นจุดเสี่ยง นอกจากนี้ ต้องดูปริมาณน้ำฝนวันต่อวัน โดยติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากเกิน 100 มิลลิเมตรขึ้นไป ก็ควรระวัง
สามปัจจัยป้องกันรับมือ แสดงให้เห็นว่าดินถล่มเป็นภัยธรรมชาติที่ป้องกันและรับมือได้ โดยการเตือนภัยล่วงหน้า จะด้วยเครื่องมือวัดปริมาณฝน ประกาศเตือนกรมอุตุฯ การจัดเวรยามเฝ้าระวังของคนในพื้นที่ เรียกว่า ต้องใช้ทั้งคน เครื่องมือร่วมกัน ถ้าทำได้ทั้งสามปัจจัยก็ช่วยลดความเสี่ยงสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้จากเหตุดินโคลนถล่มได้ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุด ตามหลักของสภาวิศวกรคือ เลี่ยงก็อย่าไปอยู่ใกล้ แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างปลอดภัย โดยยึดสามปัจจัยลดอันตราย
เลขาธิการ สภาวิศวกร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ดินโคลนถล่ม ยังเกิดจากมนุษย์ทำขึ้นเช่นกัน คือ จากการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อไม่มีต้นไม้ยึดโยงดินไว้ จนดินอุ้มน้ำฝนมากก็พังทลายลงมา ดังนั้น ถ้าคนในชุมชนร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกป่าเพิ่มได้ ก็จะลดภัยพิบัติดินถล่มได้อีกทาง
ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่า บ้านเราตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ สามารถขอข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี หรือศูนย์เรียนรู้แผ่นดินถล่ม ซึ่งแผนที่เสี่ยงแผ่นดินถล่ม จะจัดระดับความเสี่ยงมากน้อย โดยแบ่งเป็นสี แดง เหลือง เขียว เมื่อรู้ว่าเรามีความเสี่ยงระดับไหน ก็ต้องพึงระวัง ปฏิบัติการตามปัจจัยลดความเสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือหาทางหนีทีไล่
แนวทางป้องกันลดความเสี่ยงอีกด้าน ที่หน่วยงานรัฐโดยกรมโยธาและผังเมืองพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาคือ การออกกฎหมาย เป็นกฎกระทรวง เรื่องการสร้างอาคารที่พักติดเชิงเขา บังคับให้มีระยะร่น ระยะห่างจากเชิงเขา ภูเขา หรือที่ลาดชันพอสมควร ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้ระยะปลอดภัยในการอาศัยบนพื้นที่เสี่ยง
จากข้อมูลทั้งหมด พอยืนยันได้ว่าเหตุดินโคลนถล่ม ทั้งจากธรรมชาติ หรือฝีมือมนุษย์ ล้วนแล้วแต่ป้องกันก่อนแก้ไขได้ทั้งสิ้น เพียงแต่หน่วยงานรัฐสร้างแนวร่วมกับคนในพื้นที่ ตั้งแต่ให้ความรู้ วางแผนรับมือ กระทั่งช่วยเหลือกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุ เพราะในอนาคต สภาพอากาศที่แปรปรวนหนัก ภัยธรรมชาติ ฝนตกหนักน้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่มจะมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น ไม่เพียงประเทศไทยแต่ทั่วโลกก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน
เมื่อทุกฝ่ายตระหนักรับทราบสถานการณ์เช่นนี้แล้ว อาจต้องระดมความร่วมมือความคิดกันอย่างจริงจัง ต้นเหตุจากธรรมชาติ อาจเกินควบคุม แต่หากเกิดจากฝีมือมนุษย์น่าจะแก้ไขได้ เพียงแค่ลด ละเลิก ตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เพิ่ม ยึดโยงเหนี่ยวดิน ก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาดินโคลนถล่มลงได้บ้าง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี