หลายๆ ปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน หลายจังหวัดในภาคเหนือ มักจะพบปัญหาหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน สาเหตุสำคัญเกิดจากไฟป่า และการเผาพื้นที่เกษตร และพื้นที่เกษตรที่ว่านี้ส่วนหนึ่ง คือ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่บุกรุกป่า
ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในปี 2559/60 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมี 7.03 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม 3.30 ล้านไร่ พื้นที่ไม่เหมาะสม 0.70 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่บุกรุกป่า 3.67 ล้านไร่
ในจำนวนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด เป็นพื้นที่ที่อยู่ในภาคเหนือมากที่สุด 4.51 ล้านไร่ รองลงมาคือ ภาคอีสาน 1.66 ล้านไร่ และภาคกลาง 0.86 ล้านไร่ จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดคือ เพชรบูรณ์กว่า 8.3 แสนไร่ รองลงมาคือ น่าน 7.3 แสนไร่
จากการจำแนกพื้นที่ปลูกข้าวโพดของกระทรวงมหาดไทย จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่าครึ่งของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้สร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการส่งออกเนื้อสัตว์ของไทย เพราะประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ใช้เป็นข้ออ้างไม่ซื้อเนื้อสัตว์จากไทย เนื่องจากเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าและเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ประเทศผู้ส่งออกมักจะต้องเผชิญอยู่เสมอ
นอกจากนี้การปลูกข้าวโพดยังมีเศษวัสดุเหลือใช้ ต้น เปลือก และซังข้าวโพดจำนวนมากที่มีการจัดการไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรมักจะทิ้งเศษวัสดุเหล่านี้ไว้ในแปลงปลูกเพื่อรอการเผาทิ้งในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ของทุกปีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การเผาไหม้ดังกล่าวก่อให้เกิดควันทำลายชั้นบรรยากาศ สร้างปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อเนื่องอีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งปัญหาการคมนาคมทั้งทางบก และทางอากาศ
จากสถานการณ์ดังกล่าวทั้ง 2 กรณี ในปี 2560 ครม. จึงมีมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกป่าลง โดยการให้เกษตรกรไปหาที่ปลูกใหม่ หรือเปลี่ยนอาชีพไปเพาะปลูกพืชอื่น หรือทำกิจกรรมการเกษตรอย่างอื่น ขณะเดียวกันก็ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมปลูกข้าวโพดในพื้นที่อื่น เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินมาตรการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งแทนการทำนาปรังภายใต้โครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท
การเปลี่ยนจากข้าวไปปลูกพืชไร่ที่ไม่คุ้นเคย แม้จะมีเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็ไม่ใช่งานที่ง่ายนัก โครงการในปีที่แล้วจึงไม่ได้พื้นที่ตามเป้าหมาย แต่เกษตรกรที่ตัดสินใจร่วมโครงการยืนยันว่ามีรายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าการทำนาปรังไร่ละประมาณ 3,000 บาท
มาปีนี้โครงการเดิมกลับมาอีกครั้งในพื้นที่เป้าหมายเดิมคือ 2 ล้านไร่ ต่างกันตรงที่รัฐไม่อุดหนุนเป็นเงินสดให้แล้ว แต่จะหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.01% ให้เกษตรกรกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอัตราไร่ละ 3,000 บาท ทั้งนี้ต้องเป็นพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร
แม้จะมีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรว่า โครงการในปีที่ผ่านมาสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ป่าบุกรุกได้กว่า 5 แสนไร่ ซึ่งอาจจะลดปัญหาหมอกควันลงได้บ้าง ส่วนการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดแทนข้าวนาปรังก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และราคาข้าวได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่บุกรุกป่า และการก่อให้เกิดหมอกควันลงได้มากนัก
มีคำแนะนำในการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้จากข้าวโพดด้วยการนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ผลิตอาหารหมักให้กับโค กระบือ แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล เหล่านี้น่าจะเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ ควรให้ความสนใจในการส่งเสริมพัฒนา หรือทำการวิจัยหานวัตกรรมที่เหมาะสมในการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้จากข้าวโพดเหล่านี้ อย่ามุ่งแต่การเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาหมอกควันและมลพิษที่เกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดยังไม่ได้รับการแก้ไข....
แว่นขยาย