สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผยโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
28 ธ.ค.61 นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสัน หรือโรคที่คนไทยสมัยโบราณรู้จักกันในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่าโดพามีน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง เป็นสาเหตุให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้า และสูญเสียการทรงตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดแต่หากได้รับการดูแลจากแพทย์จะช่วยชะลออาการของโรคได้ โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัย 70 ปีขึ้นไป จะพบได้บ่อยขึ้น โดยผู้ชายมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า ส่วนสาเหตุของโรคส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความชราภาพของสมอง อย่างไรก็ตามอาจพบสาเหตุการเกิดโรคในบางกรณี เช่น ผู้ที่ใช้ยาทางจิต ยาลดความดันโลหิต ซึ่งตัวยาดังกล่าวขัดขวางการทำงานของสารโดพามีน การใช้สารเสพติดเป็นเวลานานๆ ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือถูกกระทบกระเทือน เช่น การต่อยมวย นอกจากนี้ อาจเกิดจากสมองอักเสบ เนื้องอกสมอง สมองขาดออกซิเจน หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดพามีน มีจำนวนน้อยหรือหมดไป และโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคพาร์กินสันโดยทั่วไป จะแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ระยะเวลาของการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อน โดยลักษณะอาการจะค่อย ๆ ปรากฏแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทสั่งการซึ่งเป็นอาการหลักของโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเกิดอาการสั่นที่นิ้วมือ แล้วจึงตามด้วยข้อมือและแขน ในระยะแรกอาการสั่นจะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวก่อน แล้วต่อมาขาและเท้าอีกข้างจะเริ่มมีอาการสั่นตามมา และในที่สุดจะเกิดอาการสั่นทั่วร่างกาย สำหรับการรักษามี 3 วิธี คือ 1. การรักษาด้วยยา จะเป็นการรักษาหลักในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรค 2. การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยทรงตัว และเคลื่อนไหวถูกต้อง 3. การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เช่น มีอาการสั่นรุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยา
โรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ภายใน 3-10 ปี ปัจจุบันมียาที่ใช้รักษา โรคนี้ที่ได้ผลดี จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปกติหรือช่วยชะลอความรุนแรงของโรคให้ลดลง แต่เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคได้ 100 % หากสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางประสาทวิทยา เพื่อรับการรักษาต่อไป#สถาบันประสาทวิทยา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี