เผลอเดี๋ยวเดียว เพียง 4 เดือน อธิบดีกรมการข้าว เปลี่ยนชื่อจาก กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล เป็น ประสงค์ ประไพตระกูล เสียแล้ว นี่ขนาดการเมืองยังไม่มาเต็มรูปแบบนะนี่ แสดงว่าความรู้ความสามารถ และสถานะของการเป็น “ลูกหม้อ” ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้.......ถ้าผู้มีอำนาจไม่พึงพอใจก็มีสิทธิ์จะไปได้ ทุกเมื่อ......
ตามข่าวระบุว่า การโยกสลับกันระหว่างอธิบดีกรมการข้าว กับผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ในครั้งนี้เพราะ พ.ร.บ.ข้าว เป็นเหตุ ส่วนเหตุจะละเอียดอ่อนมากแค่ไหนนั้น คนนอกคงมิอาจรู้ได้ ได้แต่ว่ากันไปตามข่าว....
ก่อนหน้านี้ก็สดับตรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ. ฉบับนี้มาเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่เหตุผลของการคิดจะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา เมื่อราวกลางปี 2561 กรมการข้าวแจงเหตุผลว่า
“ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง แต่ในปัจจุบันการทำนากำลังประสบปัญหาทั้งระบบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีหนี้สินในอัตราสูง ขาดแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพการทำนา หรือเกษตรกรรมต่อจากบรรพบุรุษ สร้างผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร ระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศในระยะยาวสมควรปรับปรุงและพัฒนา
เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวในไร่นา การแปรรูป การตลาด และการพัฒนาอาชีพทำนา มีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ ตลอดจนให้มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกการควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ โดยมีคณะกรรมการข้าว ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ เพื่อให้ไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน มีการกำกับ ติดตาม ควบคุม และพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต การตลาด และการส่งออกข้าว เพื่อให้เกิดความสมดุล ให้สินค้าข้าวมีปริมาณ และคุณภาพที่เพียงพอต่อการบริโภค สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ตลอดจนมีระบบที่สามารถให้ความคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตรา
พระราชบัญญัตินี้”
ย่อหน้าแรกของเหตุผล ฟังดูเหมือนการทำนาในปัจจุบันนี้ ช่างล้าหลัง เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศในทุกด้าน ถ้าไม่ตรา พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา เศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะย่ำแย่
ย่อหน้าที่ 2 ของเหตุผล ต้องการจะบอกว่า เราควรมีคณะกรรมการข้าว ขึ้นมาควบคุม กำกับ ในทุกขั้นตอนของการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวของประเทศ
ดูจาก หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1 ของ ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับนี้ ก็พอจะคาดเดาได้ว่า เกษตรกรจะมีสิทธิ์มีเสียงเพียงไร เพราะในคณะกรรมการข้าวจะมีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปเป็นกรรมการเพียง 5 คนเท่านั้น ในขณะที่ตัวแทนภาครัฐมี 20 คน ภาคเอกชน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านที่เกี่ยวข้องอีก 3 คน และใช่ว่าตัวแทนเกษตรกรที่เข้าไปจะเป็นตัวแทนชาวนาอย่างแท้จริง เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็พอจะเห็นๆ กันอยู่ว่า ตัวแทนชาวนาที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบางคณะกลับไปเข้าข้างฝ่ายอื่นเสียอีก
เรื่องปากเสียงแทนเกษตรกรก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ คณะกรรมการข้าว สามารถจะบังคับ กะเกณฑ์ชาวนาแทบจะทั้งหมด จนวิถีชีวิตชาวนาแบบที่เคยเป็นอาจจะเหลือน้อย หรือไม่เหลือเอาเสียเลย ตั้งแต่การโซนนิ่ง หรือการกำหนดพื้นที่ปลูก การกำหนดราคาต้นทุนการผลิต กำหนดราคาขาย หรือแม้กระทั่งพันธุ์ข้าวที่จะปลูก....
เรื่องพันธุ์ข้าว ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช เป็นห่วงกังวลว่าจะทำให้นายทุนผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของพันธุ์ผูกขาดการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองจะเดือดร้อนเพราะทำผิดกฎหมายนั้น เป็นเพียงประเด็นหนึ่งในจำนวนหลายประเด็นที่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้ และเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้ชาวนา ที่เป็นชาวนาจริง ๆ เพราะถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ ปัญหาจะเกิดมากกว่า พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยหลายเท่า
แต่นั่นก็ไม่หมายความว่า การโยกย้ายอธิบดีกรมการข้าว จะสามารถแก้ปัญหาที่ห่วงกังวลได้... เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ กว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ได้ต้องผ่านความเห็นชอบกระทรวงเกษตรฯ มาก่อน สนช. ตั้งเป้าว่าจะพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แล้วอธิบดีกรมการข้าวคนใหม่จะทำอะไรได้....
แว่นขยาย