ลุ่มน้ำคลองท่าลาด และลุ่มน้ำคลองหลวงเป็นสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำบางปะกง โดยเฉพาะลุ่มน้ำคลองท่าลาดนั้น กรมชลประทานได้เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำ ก่อสร้างระบบชลประทานที่ค่อนข้างสมบูรณ์
ทั้งนี้ ลุ่มน้ำคลองท่าลาด ประกอบด้วยลำน้ำสาขาหลัก 2 สายคือ คลองระบมและคลองสียัด ในส่วนของคลองระบม กรมชลประทานก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำคลองระบม เป็นอ่างฯ ขนาดกลาง ความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ขึ้นที่ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2533 ขณะที่คลองสียัดสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดใหญ่ความจุ 420 ล้านลบ.ม. ขึ้นที่ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2543
ลำน้ำทั้ง 2 สายไหลมารวมกันเป็นคลองท่าลาด ที่อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกรมชลประทานก่อสร้างฝายท่าลาด ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขึ้นที่ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อทำหน้าที่จัดสรรน้ำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 180,000 ไร่ นอกจากนี้ ในส่วนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ยังได้ก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นกว่า 44,000 ไร่ใน เขตอ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย
ผลการจากพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าลาดของกรมชลประทาน ทำให้ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งครอบคลุม อ.พนมสารคาม อ.แปลงยาว อ.บ้านโพธิ์ อ.ราชสาส์น อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา อ.พนัสนิคม และอ.พานทอง จ.ชลบุรี ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกเลย ที่สำคัญบางพื้นที่ยังทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมก็บรรเทาลงเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนยังระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงเพื่อผลักดันน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสนธยา คุ้มชุ่ม ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองสียัด กรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่ก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ชลประทาน เพิ่มอีกกว่า 44,000 ไร่ นั้น ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาสลับสันเนินทำให้เป็นอุปสรรคในการแพร่กระจายน้ำ ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้รับน้ำ กรมชลประทานจึงก่อสร้างคันคูน้ำที่แพร่กระจายน้ำเข้าสู่แปลงนาเกษตรกรได้ทั่วทุกแปลง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรได้เพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว 21,100 ไร่ และเพิ่มให้ได้อีก 23,856 ไร่ รวมพื้นที่ส่งน้ำที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 44,956 ไร่ ภายในปี 2564
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2561/62 นั้น เมื่อสิ้นฤดูฝนที่ผ่านมาอ่างฯคลองสียัดมีปริมาณน้ำเก็บกักถึง 388 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 92% ของความจุ ได้วางแผนจัดสรรน้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2562 จำนวน 250 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น เพื่อการเกษตรในเขตโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสียัดและพื้นที่การเกษตรของฝายท่าลาด 130 ล้านลบ.ม.ผลักดันน้ำเค็มในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา 40 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์จำนวน 18 ล้านลบ.ม. และเพื่อการอุปโภค-บริโภค 20 ล้านลบ.ม.
“ประโยชน์ที่ได้รับจากอ่างฯคลองสียัด นอกจากส่งน้ำเพืื่อการเกษตรกรรม ผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศน์ และอุปโภค-บริโภคแล้ว อ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีพันธุ์ปลาหลากหลายชนิด อาทิ ปลาบึก ปลาบู่ ปลากด ปลาเนื้ออ่อน กุ้งก้ามกราม ฯลฯ เป็นต้น ช่วยสร้างอาชีพชาวประมง สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก” นายสนธยากล่าว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงสู่อ่างฯคลองสียัดแต่ละปีแล้ว จะมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 285 ล้านลบ.ม. ขณะที่อ่างฯคลองสียัด ถูกออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย ดังนั้น เพื่อการใช้ประโยชน์จากอ่างฯคลองสียัดเต็มประสิทธิภาพกรมชลประทานจึงวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ภายใต้โครงการ โครงการศึกษาการปรับปรุงระบบชลประทานในลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงโครงการศึกษาการปรับปรุงระบบชลประทานในลุ่มน้ำท่าลาดคลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกงว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวกรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ 3 แห่ง คือ อ่างฯคลองสียัด อ่างฯคลองระบม และอ่างฯคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความจุรวมกัน 575 ล้านลบ.ม. และสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานรวมกันกว่า 400,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม จากการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้ยังเผชิญปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานจึงพิจารณาก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำ และอาคารชลประทานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และเตรียมการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายรัฐบาลด้วย
สำหรับแนวทางในการศึกษา จะครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ เช่น เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหลวงจาก 98 ล้านลบ.ม. อีก 27 ล้านลบ.ม. หรือก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งใหม่อีก 3 แห่งในลุ่มน้ำคลองท่าลาด ความจุรวมประมาณ 60 ล้านลบ.ม. รองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและช่วยลดปริมาณน้ำหลาก
นอกจากนี้ มีการปรับปรุงลำน้ำให้กว้างขึ้น รองรับอัตราการไหลของน้ำได้มากขึ้น ปรับปรุงคลองส่งน้ำหรือท่อลอด รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสำคัญบางสาย เพื่อช่วยหน่วงน้ำและจัดจราจรทางน้ำบริเวณจุดรวมน้ำที่สำคัญคือแยกคลอง 5 สายที่อ.พานทองให้ดีขึ้น
ส่วนการรองรับความต้องการใช้น้ำของEECในระยะ 20 ปีข้างหน้า นั้น ในส่วนลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวงนั้นมีการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปีละประมาณ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในพื้นที่และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทองก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งจะไม่กระทบต่อการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่ เพราะเป็นการผันน้ำส่วนเกินความต้องการมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี