10 มิ.ย. 62 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานสัมมนา “ความเหลื่อมล้ำในมิติสาธารณสุข” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ถึงการมาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า ไม่ได้มีแต่มุมบวกอย่างความสะดวกในการวินิจฉัยโรคหรือการให้คำแนะนำด้านการซื้อยาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เท่านั้น ยังมีข้อน่ากังวลตามมาด้วย
อาทิ การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความต้องการเทียม (False Demand) เพราะปัจเจกชนแต่ละคนบางทีก็ไม่รู้ว่า ตนเองอยากหรือไม่อยากได้อะไร ดังนั้นการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) จึงเป็นทักษะสำคัญของมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ยังมีประเด็นข้อมูลที่อ้างจากการใช้สถิติเพื่อหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันแล้วสรุปว่า ข้อมูลนั้นเป็นความจริง ทั้งที่อาจจะยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ในเชิง เพราะมีเหตุจึงมีผลเลยก็ได้
นพ.สมศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า ตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่งคือ สมัยที่วงการสาธารณสุขเริ่มตื่นตัวในประเด็นบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากมีข้อค้นพบโดยการเก็บสถิติว่า กลุ่มคนที่สูบบุหรี่มักป่วยเป็นมะเร็งมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่สูบ แบบนี้เรียกว่า ข้อมูลเชิงสถิติกับความสัมพันธ์เชื่อมโยง แต่ขณะนั้นยังไม่มีการพิสูจน์หาที่มาที่ไปว่า บุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้อย่างไร จึงต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดลองให้สัตว์ทดลองได้รับสารเคมีจากบุหรี่ เพื่อให้เห็นกระบวนการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่ แบบนี้จึงเรียกว่า ข้อมูลในเชิง เพราะมีเหตุจึงมีผล
“การตัดสินใจทางการแพทย์ ที่เรียกว่า มีวิจัยอยู่หนุนหลัง จำนวนไม่น้อยมาจากการวิเคราะห์เชิงความสัมพันธ์ ไม่ใช่จากเหตุและผล ประเด็นนี้น่ากลัวมาก ฉะนั้นพูดง่ายๆว่า บางทีหมอเองก็ไม่รู้ว่า กำลังทำงาน โดยข้อมูลที่มีข้อจำกัด แล้วไปบอกคนไข้ว่า 100% อันนี้เป็นผลจากสถิติ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์กำกับ AI จะทำให้เรื่องพวกนี้ซับซ้อนขึ้น เข้าใจยากขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว