ภัยแล้งสาหัส! แม่น้ำสายหลักหลายจังหวัดในภาคอีสานแห้งขอดจนเดินข้ามได้ “เลย-โคราช-มหาสารคาม” ฝนไม่ตกมานาน 2 เดือน นาแตกระแหง ข้าวเสียหายกว่า 5 หมื่นไร่ เขื่อนกักน้ำพิมายเหลือก้นอ่าง หนักสุดรอบ 50 ปี สทนช.ถกด่วน 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำมูล คลอดแผนจัดหาแหล่งน้ำสำรองช่วยสุรินทร์ บุรีรัมย์ไม่มีน้ำผลิตประปา
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ทั่วประเทศเข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะภาคอีสาน สาเหตุจากฝนทิ้งช่วงต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ พื้นที่การเกษตรเสียหาย
เลยฝนทิ้งช่วง2เดือนนาข้าวแห้ง
ที่ จ.เลย ภัยแล้งรุนแรงและขยายพื้นที่ เพราะฝนไม่ตกมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่เกษตรกรปักดำไว้ก่อนหน้านี้เริ่มขาดน้ำ แห้งเหี่ยวตาย ชาวนาเร่งสูบน้ำใส่ผืนนา ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่แหล่งน้ำสาธารณะตามลำห้วยต่างๆ เริ่มขาดแคลน
ส่วนอ่างเก็บของกรมชลประทานทั้ง 14 แห่ง ใน จ.เลย รวมความจุอ่างทั้งหมด 115.82 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เหลือน้ำใช้การได้เพียง 42.7 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41.2 โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อ.วังสะพุง แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา และการเกษตร ระดับน้ำใช้การได้ลดเหลือเพียงร้อยละ 5.7 ไม่สามารถปล่อยลงคลองส่งน้ำให้เกษตรกรได้แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ระดับน้ำลงขนาดนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ชาวบ้านสามารถลงไปจับสัตว์น้ำได้ถึงกลางอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนพิมายแล้งหนักสุดรอบ50ปี
เช่นเดียวกับ จ.นครราชสีมา สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนกักเก็บน้ำพิมาย น้ำแห้งขอด มีน้ำเหลือก้นอ่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เกิดสันดอนดิน โขดหินโผล่บริเวณกว้าง ท้ายเขื่อนมีหญ้าขึ้นปกคลุมรกทึบ ชาวบ้านเดินข้ามไปมาได้ แล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย ต้องปิดประตูระบายน้ำทุกบาน เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าบานประตู ไม่มีน้ำส่งให้เกษตรกรเขตชลประทานที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกข้าวนาปีกว่า 20,000 ไร่ ใน 4 ตำบลได้แก่ ท่าหลวง ชีวาน ดงใหญ่ และ ต.กระชอน เดือดร้อนหนัก ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร หลายหมู่บ้านที่รับน้ำดิบจากเขื่อนพิมายต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่เป็นโอกาสดีสำหรับชาวบ้านพากันหางมหอยท้ายเขื่อนนำไปประกอบอาหาร และนำไปขายสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวช่วงวิกฤติแล้ง
ฝนไม่ตก2เดือนข้าวเฉาตาย5หมื่นไร่
ด้าน น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นั่งเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำรวจผืนนา ลงพื้นที่พบชาวนาที่ทำเรื่องร้องขอให้กรมฝนหลวงเข้าไปทำฝนเทียม เนื่องจากฝนไม่ตกติดต่อกันมามากกว่า 2 เดือน ทำให้ต้นข้าวที่หว่านเฉาตายไปแล้วจำนวนหนึ่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 50,000 ไร่
มหาสารคามน้ำชีแห้งสุดรอบ40ปี
ที่สะพานข้ามแม่น้ำชี บ้านท่าสองคอน ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม ระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงมากจนชาวบ้านเดินข้ามไปมาได้ หลายคนพากันมางมหาหอยนำไปรับประทานในครอบครัว หากมีเหลือก็นำไปจำหน่าย โดยนางนิยม นามมุงคุณ ราษฏรบ้านเหล่ากา หมู่ 3 ต.กำพี้ อ.บรบือ จ.มหาสารคามเผยว่า ตนมาจากต.กำพี้ อ.บรบือ พร้อมกับชาวบ้านในหมู่บ้านประมาณ 30 คน พากันมาหางมหอยนานาชนิดในแม่น้ำชีไปรับประทานและนำออกขายเป็นรายได้เสริม โดยนำไปขายกิโลกรัมละ 20 บาท เนื่องจากตอนนี้ที่บ้านก็พบสถานการณ์ภัยแล้ง ข้าวแห้งตาย เพราะฝนทิ้งช่วง 2 เดือน ซึ่งตั้งแต่เกิดมากว่า 40 ปี ตนเองก็ไม่เคยเห็นว่าแม่น้ำชีจะลดระดับน้อยมากขนาดนี้
สทนช.ถก5จว.ลุ่มน้ำมูลห่วงฝนน้อย
วันเดียวกัน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมร่วมกับนายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 และเลขานุการลุ่มน้ำมูล ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เพื่อประเมินสถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อกำหนดมาตรการ แผนปฏิบัติการให้ชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ที่ต้องเตรียมแผนรองรับหาแหล่งน้ำสำรองให้ประชาชน พร้อมบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง แก้ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ เพื่อสรุปรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)
เฝ้าระวัง104แหล่งน้ำน้อยกว่า30%
นายสำเริง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์ฝนน้อย อาจเกิดภัยแล้งรุนแรง โดยกำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ มีปริมาณน้ำภาพรวม 4,344 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 33% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 28% เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 27% เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 24% เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 23% เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี 23% เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร 21% เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา 15% ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ขณะที่ปริมาณฝนสะสม 15 วัน น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณฝนตกน้อยเสี่ยงขาดแคลนน้ำและสถานการณ์แล้งใน 105 อำเภอ 12 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา
จัดหาแหล่งน้ำสำรองช่วยสุรินทร์-บุรีรัมย์
สำหรับแผนเร่งด่วนที่ประชุมมอบให้หน่วยงานเจ้าภาพเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งการปฏิบัติการฝนหลวง การเชื่อมต่อและหาแหล่งน้ำที่มีบริเวณใกล้เคียง การใช้น้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ที่มีความเสี่ยงขาดอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะสุรินทร์และบุรีรัมย์ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา ขณะเดียวกัน สทนช.ยังเร่งแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ซึ่งมีทั้งสิ้น 1,045 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 45,665 ไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี